กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--ธ.ไทยพาณิชย์
ธนาคารไทยพาณิชย์แจ้งผลประกอบการเบื้องต้นสำหรับไตรมาสสามของปี 2545 ก่อนการสอบทานโดยผู้สอบบัญชีอิสระซึ่งแสดงให้เห็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของกำไรจากการดำเนินงาน ธนาคารมีกำไรก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 2,924 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 2,874 ล้านบาทและ 2,173 ล้านบาท ในไตรมาสที่สองของปีนี้และไตรมาสที่สามของปีก่อนตามลำดับ หรือคิดเป็นอัตราส่วนผลตอบแทนก่อนหักสำรองต่อสินทรัพย์ (ROA before provision) ร้อยละ 1.67 โดยหลังจากการหักสำรองตามนโยบายระมัดระวังของธนาคารจำนวน 2,568 ล้านบาท ธนาคารมีกำไรสุทธิ 355 ล้านบาท
เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 683 ล้านบาท (ร้อยละ 17.5) รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 698 ล้านบาท (ร้อยละ 48.2) ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 3,180 ล้านบาท เป็น 3,240 ล้านบาท และในไตรมาสนี้มีการตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าของทรัพย์สินรอการขายจำนวน 570 ล้านบาท
ณ วันที่ 30 กันยายน 2545 ธนาคารมี NPL จำนวน 81,808 ล้านบาท (ร้อยละ 17.6) ลดลงจาก 82,821 ล้านบาท (ร้อยละ 18.2) ณ สิ้นไตรมาสสองของปี 2545
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า "ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ธนาคารได้เร่งดำเนินการตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดีในด้านการเพิ่มรายได้ดอกเบี้ย ทำให้ดอกเบี้ยและเงินปันผลรับสุทธิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนๆ โดย Net Interest Margin ยังคงเพิ่มขึ้นแม้ว่าภาวะการแข่งขันจะค่อนข้างสูง นอกจากนี้ ธนาคารยังสามารถเพิ่มรายได้ประเภทค่าธรรมเนียมจากไตรมาสก่อนถึงร้อยละ 15 และควบคุมค่าใช้จ่ายให้มีสัดส่วนของค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงาน (Operating Cost to Income Ratio) อยู่ในระดับที่ต่ำ อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงตั้งสำรองอยู่ในระดับที่สูงต่อไปเพื่อรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ ฝ่ายจัดการของธนาคารทุกคนมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาต่อไปเพื่อให้ธนาคารไทยพาณิชย์เป็น "ธนาคารที่ทุกคนเลือก" ตามเป้าหมายที่คณะกรรมการธนาคารได้วางไว้"
ดร. วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร กล่าวว่า "ธนาคารมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง ผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นเป็นความร่วมแรงร่วมใจของพนักงานทุกคนที่ได้ทุ่มเทเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ผลกำไรจากการดำเนินงานที่ดีขึ้นไม่ได้ทำให้ธนาคารนิ่งนอนใจ ธนาคารยังคงเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันผ่านโครงการปรับปรุงธนาคารที่ได้ทำมาในระยะเวลา 1 ปีเศษต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลอย่างชัดเจนในระยะเวลา 1-3 ปีข้างหน้านี้"
รายการที่สำคัญสำหรับผลประกอบการในไตรมาสสาม มีดังต่อไปนี้
1. รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิ
ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิจากดอกเบี้ยจ่ายในไตรมาสนี้ จำนวน 4,588 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ 4,345 ล้านบาทและ 3,905 ล้านบาทในไตรมาสสองของปีนี้และไตรมาสสามของปีก่อนตามลำดับ โดยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin) ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 2.40 ในไตรมาสก่อนเป็นร้อยละ 2.58 ในไตรมาสนี้ ทั้งนี้ เป็นผลจากการที่สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากปรับตัวดีขึ้นทั้งจากการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นและการที่เงินฝากลดลง และการบริหารสภาพคล่องที่ทำให้มีรายได้ดอกเบี้ยรับเพิ่มขึ้น
2. รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย
ธนาคารมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในไตรมาสนี้จำนวน 2,147 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 698 ล้านบาทจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีจำนวน 1,449 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักดังนี้
เมื่อเทียบกับไตรมาสสองของปี 2545 ในไตรมาสนี้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน โดยรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจาก 1,849 ล้านบาท เป็น 2,053 ล้านบาท
3. ค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ย
ธนาคารมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในไตรมาสนี้จำนวน 3,240 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับ 3,303 ล้านบาทในไตรมาสที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับ 3,180 ล้านบาทในไตรมาสสามของปีก่อน ธนาคารสามารถลดอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงาน (Operating Cost to Income Ratio) ได้อย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 48.8 ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 53.3 และร้อยละ 57.1 ในไตรมาสที่สองของปีนี้และไตรมาสที่สามของปีที่แล้วตามลำดับ
ในไตรมาสนี้ ธนาคารได้ตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าของสินทรัพย์รอการขายจำนวน 570 ล้านบาท ทำให้ค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวนรวม 3,810 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 3,633 ล้านบาทในไตรมาสก่อน และ 3,180 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว
4. ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ
ธนาคารมีนโยบายระมัดระวังในการจัดการด้านคุณภาพสินทรัพย์ ในไตรมาสนี้ ธนาคารจึงยังคงตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มเติมจำนวน 2,568 ล้านบาท โดยเป็นการตั้งสำรองส่วนเกินเพื่อป้องกันการเสื่อมค่าของสินทรัพย์ที่อาจเกิดขึ้น สำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ณ 30 กันยายน 2545 มีจำนวน 64,331 ล้านบาท
นโยบายการตั้งสำรองอย่างต่อเนื่องทำให้อัตราส่วนสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อ ของธนาคารเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13.0 ณ สิ้นไตรมาสสองเป็นร้อยละ 13.2 ณ สิ้นไตรมาสนี้
งบดุล ณ วันที่ 30 กันยายน 2545
ณ วันที่ 30 กันยายน 2545 หลังการปรับปรุงตัวเลขตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง สินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2545 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อ 486,442 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 483,595 ล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสก่อน ธนาคารมีสินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับสุทธิ (หลังหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) จำนวน 424,484 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2544 จำนวน 10,498 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 2.4 สาเหตุหลักเกิดจากการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มในปีนี้จำนวน 8,179 ล้านบาทและจากการโอนขายหนี้จำนวน 3,560 ล้านบาท (มูลค่าทางบัญชีสุทธิ) ให้กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติมในไตรมาสแรกและไตรมาสสามของปีนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา สินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับสุทธิมีจำนวนสูงขึ้น 1,106 ล้านบาท
ธนาคารมียอดเงินฝาก 578,984 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2544 จำนวน 22,006 ล้านบาท (ร้อยละ 3.7) ขณะที่ลดลงจากไตรมาสก่อน 22,059 ล้านบาท (ร้อยละ 3.7) เนื่องจากได้มีการถอนเงินออกเพื่อซื้อพันธบัตรรัฐบาลออมทรัพย์ทำให้สัดส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 80.5 ณ สิ้นไตรมาสสองเป็นร้อยละ 84.0 ในไตรมาสนี้
ธนาคารมีส่วนของผู้ถือหุ้น 63,632 ล้านบาท มีเงินกองทุนตามกฎหมาย (ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2) รวม 75,944 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.6 ของสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งเป็นส่วนของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ประมาณร้อยละ 10.6 ของสินทรัพย์เสี่ยง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
ทีมนักลงทุนสัมพันธ์
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
โทร. 544-4206-7, 544-4212
*** ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดตั้งขึ้นโดยพระบรมราชานุญาตในปีพ.ศ. 2449 ถือเป็นธนาคารไทยแห่งแรกและเป็นธนาคารที่มีประวัติการให้บริการอันยาวนานและโดดเด่น โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่ประกอบด้วยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และกระทรวงการคลัง ธนาคารได้เสนอสินค้าและบริการที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน ธนาคารดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ที่ต้องการจะเป็น "ธนาคารที่ทุกคนเลือก" ณ 30 กันยายน 2545 ธนาคารมีสินทรัพย์ 699,401 ล้านบาท เงินให้สินเชื่อ 486,442 ล้านบาท และเงินฝาก 578,984 ล้านบาท--จบ--
-ศน-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit