กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--กทม.
คณะกรรมการการรักษาความสะอาดฯ สภากทม. แนะกทม.สร้างกลไกเพิ่มประสิทธิภาพงานด้านรักษาความสะอาดอย่างยั่งยืน โดยตั้งคณะกรรมการประเมินผลงาน 50 เขต มีระบบชี้วัดผลงานก่อนให้ความดีความชอบ พร้อมสนับสนุนฝ่ายบริหารให้เร่งหาแนวทางกำจัดขยะวิธีใหม่ๆ รองรับสถานการณ์อีก 3-4ปีข้างหน้า และเดินหน้ารณรงค์แยกขยะอย่างต่อเนื่อง
เมื่อวานนี้ (13 มกราคม 2546) เวลา 10.00 น. คณะกรรมการการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม สภากรุงเทพมหานคร นำโดย นายพิพัฒน์ ลาภปรารถนา ประธานคณะกรรมการฯ ออกตรวจเยี่ยมสำนักรักษาความสะอาด กทม.เพื่อรับทราบนโยบาย ตลอดจนปัญหาอุปสรรค และวิสัยทัศน์ในการดำเนินงานของสำนักรักษาความสะอาด โดยมีนายทวีศักดิ์ เดชเดโช ผู้อำนวยการสำนักรักษาความสะอาด พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักรักษาความสะอาดร่วมให้การต้อนรับ
ประธานคณะกรรมการการรักษาความสะอาดฯ เปิดเผยว่า การตรวจเยี่ยมสำนักรักษาความสะอาดในครั้งนี้ทำให้คณะกรรมการฯ ได้รับทราบถึงปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานด้านการรักษาความสะอาดของ กทม. โดยเฉพาะการจัดเก็บขยะในพื้นที่เขตซึ่งยังขาดการติดตามประเมินผล ทำให้ไม่มีการดำเนินการตามนโยบายอย่างต่อเนื่อง เช่น การดูแลรักษาความสะอาดในพื้นที่ การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บขยะ และการคัดแยกขยะ มักจะมีการทำจริงจังเฉพาะในช่วงการรณรงค์เท่านั้น ซึ่งในเรื่องนี้คณะกรรมการฯจะเสนอต่อสภากทม.เพื่อลงมติเสนอให้ฝ่ายบริหารกทม. ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อติดตามประเมินผลการทำงานของแต่ละหน่วยงาน ทั้งในส่วนของสำนักรักษาความสะอาด และสำนักงานเขต 50 เขต โดยสนับสนุนให้มีการสร้างระบบชี้วัดคุณภาพและผลงานด้านการรักษาสะอาดของทั้ง 50 เขต และใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาความดีความชอบของข้าราชการผู้ปฏิบัติงานด้วย สำหรับการแก้ไขปัญหาขยะคาดว่าจะมีปริมาณสูงขึ้นจากปัจจุบันที่กทม.ต้องจัดการวันละ 9,400 ตันนั้น ประธานคณะกรรมการรักษาความสะอาดฯกล่าวว่า กทม.จะต้องเตรียมการณ์รองรับอนาคต เนื่องจากวิธีการกำจัดขยะโดยการฝังกลบในปัจจุบันซึ่งใช้สถานที่ฝังกลบที่ราชาเทวะและกำแพงแสน จะสามารถรองรับได้อีก 3-4 ปี ขณะที่ปริมาณขยะในแต่ละวันก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นฝ่ายบริหารกทม.จะต้องหาแนวทางอื่นๆ เป็นทางเลือกในการกำจัดขยะให้มากขึ้นด้วย เช่น การสร้างเตาเผาขยะ การสกัดทำปุ๋ยชีวภาพ การกำจัดแบบวิธีผสมผสาน ส่วนปัญหาอุปสรรคด้านงบประมาณที่จะดำเนินการ นั้น หากมีเหตุผลชัดเจน และชี้แจงให้เห็นว่ากทม.สามารถดำเนินการได้จริง ทางสภากทม.ก็พร้อมจะให้การสนับสนุน ประการสำคัญคือผู้บริหารกทม.จะต้องผลักดันเรื่องนี้ต่อรัฐบาลให้เห็นความสำคัญต่อปัญหาการจัดการขยะซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติ ลำพังกทม.เพียงหน่วยงานเดียวไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะแก้ไขได้
อย่างไรก็ดี ส่วนที่กทม.สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง คือ การรณรงค์ด้านการคัดแยกขยะ การทิ้งขยะอย่างถูกวิธี การให้ความรู้แก่ประชาชนด้านการแปรรูปขยะต่างๆ รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพสร้างรายได้จากขยะ ตลอดจนการรณรงค์ปลูกฝังการจัดการขยะให้แก่ประชาชนตั้งแต่ยังเป็นเด็กในโรงเรียน เพราะเป็นวิธีการที่จะให้ประโยชน์ในระยะยาว อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณขยะอย่างได้ผล ทั้งนี้ ตามที่ทางสำนักรักษาความสะอาดได้ดำเนินการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เรื่องดังกล่าวมาเป็นเวลา 5 ปี เริ่มมีประชาขนให้ความร่วมมือแล้วปริมาณ 20% จึงเห็นว่าจำเป็นต้องดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการความเข้าใจและ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้งขยะเพิ่มขึ้น--จบ--
-นห-