กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--โปรแอด อิมเมจ
บริษัท ชินนี่ดอทคอม จำกัด เปิดตัว 3 เยาวชนคนเก่ง พร้อมมอบประกาศเกียรติคุณ ทุนการศึกษา และรางวัล ในโครงการ Shinee JAVA Contest 2002 เพื่อพัฒนาเป็นบริการเสริมบนโทรศัพท์มือถือ และเชิญชวนผู้มีความสามารถร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ
นายศักดิ์ชัย เลิศเวชกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเทคโนโลยี บริษัท ชินนี่ดอทคอม จำกัด กล่าวถึงโครงการ Shinee JAVA Contest 2002 ว่า ชินนี่เปิดรับสมัครนักเรียน นักศึกษา ทั่วประเทศ ผู้มีใจรักในโลกการสื่อสารแบบไร้สาย และสนใจการพัฒนาซอฟท์แวร์ต่าง ๆ เข้าร่วมประกวดการพัฒนาแอพพลิเคชั่นจาวาบนโทรศัพท์มือถือ ตั้งแต่ 15 สิงหาคม - 30 พฤศจิกายน 2545 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการสนับสนุนเยาวชนไทยให้รู้จักซอฟท์แวร์ใหม่ ๆ และพัฒนาให้เกิดประโยชน์สำหรับตนเองและส่วนรวม เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทย เป็นนักพัฒนาซอฟท์แวร์ที่มีศักยภาพต่อไปในอนาคต และเพื่อเป็นการสนับสนุนให้เยาวชนไทยใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ โดยแบ่งแอพพลิเคชั่นในการประกวดออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือประเภทเกม และประเภทใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้จริง (Utility) โดยมีหลักเกณฑ์การตัดสินดังนี้ Good design การออกแบบสามารถสร้างแรงดึงดูด ทำให้อยากใช้งาน และมีความสนุกกับการใช้งาน Superior Quality คุณภาพ มีความเสถียร ทำงานได้รวดเร็ว มีความสมจริง Usability ง่ายต่อการใช้งาน มีฟังก์ชันที่หลากหลายและตรงต่อความต้องการ Ease of Deployment ความยืดหยุ่นในการติดตั้ง การใช้งาน หรือนำไปใช้กับอุปกรณ์ต่าง ๆได้
สำหรับโครงการ Shinee JAVA Contest 2002 ในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากนักเรียน นักศึกษา จากหลายสถาบันทั่วประเทศ และผลการตัดสินปรากฎว่าผู้ที่รับรางวัลที่ 1 ได้แก่ นายศิระวุฒิ จันทร์ชูศรี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับประกาศนียบัตร ทุนการศึกษา 10,000 บาท พร้อมของรางวัลมูลค่า 7,500 บาท รางวัลที่ 2 ได้แก่ นายณัฐวุฒิ นาไวย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ เอกคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้รับประกาศนียบัตร ทุนการศึกษา 7,000 บาท พร้อมของรางวัลมูลค่า 7,000 บาท รางวัลที่ 3 ได้แก่ นายนภนัย อิ่มสมัย นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้รับประกาศนียบัตร ทุนการศึกษา 5,000 บาท พร้อมของรางวัลมูลค่า 7,000 บาท
นายศิระวุฒิ จันทร์ชูศรี เจ้าของผลงานที่ชื่อว่า The Battle of Planets หรือ เกมประลองยุทธ์ ซึ่งได้รับรางวัลที่ 1 กล่าวถึงผลงานว่า เป็นเกมแนว Role Playing Game (RPG) เน้นการติดต่อสื่อสารกับตัวละคร มีการฝึกฝนความสามารถให้ตัวละครทั้งนักดาบ พลธนู หรือนักเวทมนต์ ตัวละครแต่ละตัวมีความสามารถ และกลวิธีในการต่อสู้ที่แตกต่าง ๆ กัน ทำให้เกิดความหลากหลายในการเล่น ผู้เล่นสามารถบันทึกข้อมูลของตัวละครไว้ได้ตลอดเวลา และเมื่อฝึกฝนความสามารถของตัวละครแต่ละตัวจนเป็นที่พอใจแล้ว ผู้เล่นสามารถท้าประลองกับผู้เล่นรายอื่น ผ่านทางเน็ตเวิร์กได้ ซึ่งในการประลองกันนั้นผู้เล่นจะได้พบกับตัวละครของผู้เล่นคนอื่นที่ฝึกฝนมาต่างกัน และฝ่ายใดชนะตัวละครของฝ่ายนั้นจะสามารถเพิ่มคุณสมบัติ
นายณัฐวุฒิ นาไวย์ กล่าวถึงผลงาน World War II ที่ได้รับรางวัลที่ 2 ว่า เป็นเกมประเภทกระดานแบบออนไลน์ คือสามารถเล่นกับผู้เล่นรายอื่นได้ แบบ Inter active โดยจะมีผู้เล่นอยู่ 2 ฝ่าย แต่ละฝ่ายมีหมาก 16 ตัว โดยหมากแต่ละตัวจะมีความสามารถแตกต่างกัน จะวางหมากแต่ละตัวตรงไหนก็ได้ แต่ละฝ่ายผลัดกันเดินคนละครั้ง ครั้งละช่อง จะเดินไปทางใดก็ได้ แต่เมื่อเดินมาประชิดกัน หมากที่แพ้ก็ออกจากกระดานไป หากหมากเหมือนกันก็ต้องออกทั้งคู่ ฝ่ายใดเข้าประชิดธงของอีกฝ่ายได้ก่อนก็จะเป็นฝ่ายชนะ
นายนภนัย อิ่มสมัย เจ้าของผลงาน M-Dic Advance ผู้ได้รับรางวัลที่ 3 กล่าวว่า ผลงานชิ้นนี้ เป็นผลงานประเภท Utility ซึ่งเป็นดิกชั่นนารีบนโทรศัพท์มือถือ สามารถแปลศัพท์ภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย และแปลภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษได้ แม้ว่าโทรศัพท์มือถือเครื่องนั้นจะไม่มีโปรแกรมภาษาไทย โดยมีทั้งคำศัพท์ธรรมดา และศัพท์สำหรับนักคอมพิวเตอร์ ประมาณ 20,000 กว่าคำ การค้นหาคำศัพท์สามารถค้นหาโดยคีย์ตัวอักษรทุกตัว หรือ คีย์เฉพาะคำขึ้นต้น หรือลงท้ายก็ได้ เมื่อต้องการใช้งาน เพียงใช้โทรศัพท์มือถือเชื่อมต่อระบบ Network เพื่อติดต่อกับฐานข้อมูลคำศัพท์ โดยจะเสียค่าบริการแค่ขนาดข้อมูลที่ต้องการค้นเท่านั้น
นายศักดิ์ชัย กล่าวถึงแอพพลิเคชั่นที่ได้รับรางวัลว่า แต่ละแอพพลิเคชั่นมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน มีความหลากหลายในการนำเสนอไอเดีย ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนไทยยุคไอทีได้เป็นอย่างดี อาทิ เกมประลองยุทธ์ ว่า เป็นเกมที่ออกแบบมาดี ประหยัดค่าแอร์ไทม์ ตัดปัญหาเรื่องคอนเน็คชั่น เพราะเป็นการโหลดจาก Server ครั้งเดียว ที่สำคัญถือเป็นการแสดงความคิดสร้างสรรค์ที่ดี มีความแปลกใหม่สำหรับนักพัฒนาชาวไทย กราฟฟิกสวยงาม เล่นง่ายด้วยปุ่มจอยสติค
ส่วนเกม World War II นั้น นับว่าเป็นเกมที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง มีวิธีการเล่น และกติกาที่แน่นอน เป็นเกมที่มีการฝึกทักษะ ความคิด มีการวางแผนในการเดินหมากแต่ละตัว แต่ละก้าว มีความสดเพราะสามารถแข่งขันกันในลักษณะ Inter active ได้
ผลงาน M-Dic Advance นั้น จุดเด่นอยู่ที่ โปรแกรมมีขนาดเล็ก ติดตั้งง่าย โดยดึงข้อมูลจาก Server สามารถปรับปรุงเพิ่มเติมคำศัพท์ได้ที่ Server แบ่งหมวดหมู่ไว้ง่ายต่อการค้นหา และสามารถหาคำศัพท์ได้ทั้ง อังกฤษ-ไทย และไทย-อังกฤษ
นายศักดิ์ชัย กล่าวต่อไปว่า ผลงานที่ได้รับรางวัลในวันนี้ ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงร่วมกับชินนี่ เพื่อให้เป็นแอพพลิเคชั่นมาตรฐานที่สามารถใช้กับโทรศัพท์มือถือได้ต่อไป ขณะนี้แอพพลิเคชั่นจาวาเปิดให้ทดลองใช้แล้ว กว่า 100 แอพพลิเคชั่น ซึ่งรวมทั้งแอพพลิเคชั่นที่ผ่านการคัดเลือกจากการแข่งขัน Shinee JAVA Contest 2002 ครั้งนี้ด้วย โดยสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.Jmobile.shinee.com และสามารถดาวน์โหลดจากโทรศัพท์มือถือที่มีเทคโนโลยีจาวารองรับโดยเข้าไปที่ http://midlet.shinee.com/Appload หรือ กด 5 จากโทรศัพท์มือถือ Siemens M50 ก็จะเข้าไปที่ JAVA SITE ของชินนี่ได้ ขณะนี้ชินนี่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นวาจามาทดลองใช้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งภายใน JAVA SITE ของชินนี่ได้รวบรวมแอพพลิเคชั่นของชินนี่เอง ของ Content partner จากในและต่างประเทศ รวมถึง Freeware ซึ่งผ่านการทดสอบจากชินนี่แล้ว
พร้อมกันนี้ นายศักดิ์ชัย ขอเชิญชวนนักพัฒนาโปรแกรมที่มีความสามารถ นำผลงานแอพพลิเคชั่นมาฝากไว้ที่ชินนี่เพื่อสร้างรายได้ในเชิงธุรกิจต่อไป โดยกำหนดคุณภาพของ Java Wireless Application ไว้ดังนี้ Appeal คือ เทคนิคในการนำเสนอ เช่น กราฟฟิก, เสียง Quality คือ ความพึงพอใจ หรือประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้งาน รวมทั้งระยะเวลาในการเรียนรู้วิธีการใช้โปรแกรม Usability คือ ความง่าย และความสะดวกในการใช้งาน Review คือ การทดสอบใช้งานจริง
หากนักพัฒนาโปรแกรมท่านใดสนใจร่วมเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกับชินนี่ สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท ชินนี่ดอทคอม จำกัด ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ โทรศัพท์ 02 990 6880 ต่อ 311, 501 แฟ็กซ์ 02 990 6817 อีเมล์
[email protected] จบ--
-ตม-