กรุงเทพฯ--27 ธ.ค.--ธ.ออมสิน
วันนี้ (26 ธ.ค. 45) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมกำแพงเพชร อาคาร 72 ปี ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ นายชาญชัย มุสิกนิศากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ได้แถลงผลงาน ในรอบปี 2545 ซึ่งในปีนี้ธนาคารออมสินได้ประสบความสำเร็จอย่างสูง ในการเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจในระดับชุมชนและประชาชนในทุกระดับ สนับสนุนการสร้างโอกาส สร้างอาชีพให้กับผู้ประกอบการรายย่อย เป็นแหล่งเงินทุนให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สามารถดำเนินนโยบายตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการธนาคารประชาชน โครงการกองทุนหมู่บ้านฯ ตลอดจนขยายการให้บริการสินเชื่อในรูปแบบต่างๆ เพื่อสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างครอบคลุม
อีกทั้งในด้านเงินฝากได้เปิดให้บริการธุรกิจ "ออมสิน วีซ่า อิเลคตรอน" เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการจับจ่ายใช้สอย พร้อมรับสิทธิพิเศษมากมาย พัฒนาเทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพการบริการ อาทิ เปิดใช้ระบบ Online เพื่ออำนวยความสะดวกบริการฝาก-ถอนเงิน แก่ผู้ใช้บริการเงินฝากตามหลักศาสนาอิสลาม การนำระบบ Online ผ่านเทคโนโลยี GPRS มาใช้กับธนาคารเรือเคลื่อนที่เป็นรายแรกของโลก โดยร่วมกับ เอไอเอส และ เอ ดี ซี ดาต้าเน็ท
ในโอกาสที่ธนาคารออมสินจะก้าวสู่ปีที่ 90 ในปี 2546 ธนาคารจะคงมุ่งเน้นการเป็นสถาบันการเงินที่เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อคนไทย โดยได้กำหนดวิสัยทัศน์ "มุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านบริการทางการเงิน แก่ลูกค้าทุกระดับ เปี่ยมด้วยคุณภาพและบริการที่ประทับใจ เพียบพร้อมด้วยการบริหารจัดการที่ดีและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ภายในปี 2550"
ผลการดำเนินงานของธนาคารออมสินปี 2545 สิ้นสุด ณ เดือนพฤศจิกายน 2545 มีดังนี้
1. ด้านเงินฝาก มียอดเงินฝากคงเหลือจำนวน 515,198 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2544 จำนวน 31,779 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.57 มีส่วนแบ่งตลาดเท่ากับ ร้อยละ 8.60 เป็นอันดับที่ 5 ในระบบธนาคารพาณิชย์
2. ด้านสินเชื่อ (ไม่นับรวมเงินให้กู้แก่กองทุนหมู่บ้าน) ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อได้จำนวน 82,440 ล้านบาท ทำให้ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2545 มียอดคงเหลือ จำนวน 193,062 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2544 จำนวน 33,727 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.17 มีส่วนแบ่งตลาดด้านสินเชื่อ เท่ากับร้อยละ 3.82 เป็นอันดับที่ 10 ในระบบธนาคารพาณิชย์
ด้านสินเชื่อประกอบด้วย
2.1 สินเชื่อเพื่อธุรกิจห้องแถว ตั้งแต่เดือนเมษายน 2545 ธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้วจำนวน 17,106 ราย เป็นเงิน 1,818 ล้านบาท
2.2 สินเชื่อ SMEs ตั้งแต่เดือนมกราคม 2545 ธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว จำนวน 6,413 ราย เป็นเงิน 7,219 ล้านบาท
2.3 สินเชื่ออื่นๆ ได้แก่ สินเชื่อธนาคารประชาชน สินเชื่อเคหะ สินเชื่อสวัสดิการ สินเชื่อเอกชนขนาดใหญ่ สินเชื่อสถานศึกษา และสินเชื่ออื่นๆ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2545 มีการอนุมัติ สินเชื่อแล้ว 73,403 ล้านบาท
3. ด้านเงินลงทุนระยะยาว มียอดคงเหลือจำนวน 281,123 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2544 จำนวน 26,649 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.47
4. หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เท่ากับร้อยละ 4.22
5. เงินกองทุนของธนาคาร มีจำนวน 63,996 ล้านบาท
6. สินทรัพย์รวม เท่ากับ 597,943 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2544 จำนวน 49,234 บาท หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.97
7. สินทรัพย์สภาพคล่อง ธนาคารมีสินทรัพย์สภาพคล่องจำนวน 50,332 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.77 ของเงินฝาก
8. ธนาคารมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน ปี 2545 ในช่วง 11 เดือน สิ้นสุดเดือนพฤศจิกายน 2545 ประมาณ 11,935 ล้านบาท
ธนาคารประชาชน (People Bank)
จากนโยบายของรัฐบาลที่มอบหมายให้ธนาคารออมสินดำเนินการ "โครงการธนาคารประชาชน" โดยให้มีบริการทางการเงินที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนทั่วไปที่ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย และยังขาดโอกาสในการเข้าถึงการใช้บริการทางการเงินที่มีอยู่ในปัจจุบันได้เต็มรูปแบบอย่างต่อเนื่อง และเพียงพอต่อความต้องการใช้เงินทุนในการประกอบอาชีพ ธนาคารประชาชนจึงได้เริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 25 มิถุนายน 2544 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของธนาคารที่มุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อสังคม เพื่อให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึงในทุกภูมิภาคของประเทศผลการดำเนินงานโครงการธนาคารประชาชน ถึง ณ วันที่ 13 ธันวาคม 2545 มีการ รับสมัครสมาชิกแล้วทั้งสิ้น จำนวน 566,288 ราย สมาชิกมีการสร้างวินัยทางการเงิน โดยออมเงินผ่านบัญชีเงินฝาก ปัจจุบันมีจำนวนเงินฝากคงเหลือ เป็นจำนวน 1,676.10 ล้านบาท ซึ่งอนุมัติให้สินเชื่อแล้ว จำนวน 534,919 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 9,847.31 ล้านบาท โดยมีหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไปต่อสินเชื่อคงเหลือ คิดเป็นร้อยละ 4.30
- แนวทางการดำเนินงานโครงการธนาคารประชาชน ปี 2546
1. มุ่งเน้นการขยายฐานลูกค้า
1.1 ลูกค้าสมาชิกที่มีอยู่ในชุมชนภาคชนบทที่ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค (สินค้าการเกษตรแปรรูป) เข้าข่ายในลักษณะหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล
1.2 ลูกค้าสมาชิกที่อยู่ในภาคชุมชนเมือง ให้สินเชื่อผ่านเครือข่ายเจ้าของแฟรนไชส์
2. พัฒนาเทคนิค รูปแบบการให้สินเชื่อ และการติดตามหนี้ค้างชำระกับลูกจ้างธนาคารประชาชนให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น
3. มุ่งสร้างวินัยทางการเงินแก่สมาชิก
3.1 มุ่งสร้างวินัยทางการออมให้แก่สมาชิก โดยเน้นการออกรับฝากเงินนอกสถานที่ โดยสม่ำเสมอ
3.2 อาศัยกระบวนการกลุ่ม (Nucleus) เพื่อเป็นตัวแทนในการรับฝากเงินจากแนวทางการดำเนินงานโครงการธนาคารประชาชนดังกล่าว คาดว่าในการดำเนินงานในปี 2546 จะมีสมาชิกเพิ่มขึ้นประมาณ 100,000 ราย และคาดว่าจะมีเงินกู้เพิ่มขึ้นประมาณ 5,000 ล้านบาท
ความภูมิใจ ในการดำเนินการโครงการธนาคารประชาชน ธนาคารมุ่งหวังให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าสู่ระบบโครงสร้างทางการเงินที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกระดับ และส่งเสริมผู้ประกอบอาชีพรายย่อย ซึ่งถือว่าเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นฐานให้กระจายไปอย่างทั่วถึง มีแหล่งเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพอย่างยุติธรรมและหลุดพ้นจากวงจรการเงินนอกระบบ ส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีการกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืนต่อไป
ความก้าวหน้าการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
ตามที่รัฐบาลมีนโยบายเกี่ยวกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ โดยได้มีการจัดสรรและโอนเงินให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2544 กองทุนละ 1 ล้านบาท โดยมีหมู่บ้านและชุมชนเมืองเป้าหมายทั่วประเทศ จำนวน 75,547 กองทุน ในส่วนของธนาคารออมสิน ผลการดำเนินงาน ณ 20 ธันวาคม 2545 มีดังนี้
1. เป้าหมายหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่รับผิดชอบ 59,807 กองทุน มีการจัดสรรและโอนเงินให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองทั่วประเทศแล้ว 10 งวด จำนวน 58,333 กองทุน หรือ 58,333 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 97.54
2. มีการเบิกจ่ายเงินจากบัญชีเฉพาะที่เปิดบัญชีไว้กับสาขาของธนาคารออมสิน เพื่อจ่ายเงินกู้หมุนเวียนสะสมให้แก่สมาชิกกองทุนแล้ว ประมาณ 72,886 ล้านบาท ในการนี้มีผู้ได้ประโยชน์จาก เงินกองทุนหมู่บ้านแล้วประมาณ 5 ล้านคน
3. มีการรับชำระคืนเงินกู้จากสมาชิกกองทุนแล้ว ประมาณ 23,000 ล้านบาท--จบ--
-ศน-