กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--ททท.สนง.ภาคกลาง เขต 7
นางวิยะดา ศรีรางกูล ผู้อำนวยการสำนักงาน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภาคกลาง เขต 7 กล่าวว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคกลาง เขต 7 ขอเชิญเที่ยวงานตรุษจีนนครสวรรค์ มหัศจรรย์แผ่นดินมังกร ระหว่างวันที่ 25 มกราคม - 5 กุมภาพันธ์ 2546 ณ บริเวณตลาดปากน้ำโพ และอุทยานสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ สักการะเจ้าพ่อ เจ้าแม่ปากน้ำโพ ชมขบวนแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพที่ยิ่งใหญ่ตระการตากว่าครั้งใด ๆ ชมบรรยากาศเมืองมังกร การแสดงสิงโตนครสวรรค์ เอ็งกอพะบู้ ล่อโก้ว องค์สมมติเจ้าแม่กวนอิม และการแสดงมังกรทองนครสวรรค์ที่ตื่นตาตื่นใจ ร่วมด้วยการแสดงโชว์จากประเทศจีนคณะเหอหนาน การแสดงหงส์เคียงคู่มังกรสวรรค์ ชมความมหัศจรรย์โคมไฟตำนานจีน และการแสดงอื่น ๆ อีกมากมายจากประเทศจีนที่มีร่วมเฉลิมฉลอง ชมฟรี 12 วัน 12 คืน
กำหนดการจัดงาน "ตรุษจีนนครสวรรค์ มหัศจรรย์แผ่นดินมังกร" 25 มกราคม - 5 กุมภาพันธ์ 2546
วันที่ 25 มกราคม 2546
- เริ่มเทศกาลตรุษจีนปากน้ำโพ
วันที่ 25 มกราคม - 5 กุมภาพันธ์ 2546 (ชมฟรี 12 วัน 12 คืน)
เวลา 19.00 - 21.00 น. ณ อุทยานสวรรค์
- ชมการแสดงจากคณะนักแสดง "เหอหนาน" กว่าร้อยชีวิต ที่ยิ่งใหญ่ตระการตา
เวลา 21.30 - 22.30 น. ณ ริมเขื่อนต้นแม่น้ำเจ้าพระยา
- ชมมังกรทองเรืองรองอัคนี มังกรไฟแห่งความรุ่งเรืองจากจีน ที่มาร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนกับชาวไทยเชื้อสายจีน
- ชมความมหัศจรรย์โคมไฟตำนานจีน ที่จะมาสร้างปรากฎการณ์อันยิ่งใหญ่บนจุดกำเนิดต้นแม่น้ำเจ้าพระยา
- เลือกซื้อสินค้าราคาพิเศษ จากทั่วทุกมณฑลในประเทศจีน พร้อมสินค้าอันเลื่องชื่อจากชาวปากน้ำโพ
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2546
- การประมูลสิ่งมงคล (ชิวอิก) เวลา 19.00 น. ณ ศาลเจ้าชั่วคราว ข้างธนาคารกรุงไทย
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2546
- การประมูลสิ่งมงคล (ชิวยี่) เวลา 19.00 น. ณ ศาลเจ้าชั่วคราว ข้างซอยสุจิตรา
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2546
- ชมขบวนแห่ประกอบ แสง เสียง รอบตลาดปากน้ำโพ (ชิวซา) เวลา 18.00 น. - 22.00 น.
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2546
- ชมขบวนแห่รอบตลาดปากน้ำโพ (ชิวสี่) เวลา 07.00 น. - 17.00 น.
สอบถามรายละเอียดได้ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคกลางเขต 7 โทร 0-3642-2768-9
ทุกวันในเวลาราชการ
ตำนานแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ
ความศักดิ์สิทธิ์ สู่ความศรัทธา
นครสวรรค์ เมืองต้นแม่น้ำเจ้าพระยา มีชื่ออีกชื่อที่คนทั่วไปรู้จักคือ "ปากน้ำโพ" เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ระหว่างภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาตอนบน ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน นครสวรรค์นับว่าเป็นประตูสู่ภาคเหนือ ส่วนปากน้ำโพจัดเป็นศูนย์กลางทางการค้า เป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด
ชาวจีนหลายเชื้อสายที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากทำมาหากิน จะอาศัยอยู่ตามริมแม่น้ำน่าน เรียกว่า "แควใหญ่" และบริเวณ "ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา" คือตลาดปากน้ำโพ ซึ่งอยู่ทางฝั่งทิศตะวันตก บรรพบุรุษของชาวจีนนับถือเทพเจ้า เมื่อมาตั้งรกรากที่ใดได้นำเอาเทพเจ้าที่ตนนับถือติดตัวมาด้วย ชาวจีนในตลาดปากน้ำโพก็เช่นกัน พากันนับถือ เจ้าพ่อเทพารักษ์-เจ้าพ่อกวนอู-เจ้าแม่ทับทิม-เจ้าแม่สวรรค์ เมื่อมาอยู่ได้จัดตั้งศาลเพียงตาสำหรับเป็นที่ประทับของเจ้าพ่อ-เจ้าแม่เพื่อกราบไหว้บูชา โดยตั้งขึ้น 2 ศาล คือ ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทิศตะวันออกของตลาดปากน้ำโพ และศาลเจ้าแม่หน้าผา ริมฝั่งแม่น้ำปิงที่บ้านหน้าผาขึ้นไปทางเหนือของตลาดปากน้ำโพ
เมื่ออดีตกว่า 80 ปี ตลาดปากน้ำโพได้เกิดโรคอหิวาตกโรคระบาดครั้งใหญ่ ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก บรรดาชาวจีนในปากน้ำโพได้ปรึกษากันนำเทพเจ้าทุกองค์มาแห่รอบตลาด เพื่อเป็นการขับไล่โรคร้าย และได้มีการเชิญเจ้าเข้าทรงมาทำพิธีรักษาโรคโดยเขียนฮู้ ได้นำเอา "กระดาษฮู้" (กระดาษยันต์) ไปเผาไฟแล้วเอาเถ้ากระดาษมาชงน้ำดื่ม ทำให้หายจากโรคระบาด เป็นที่เลื่องลือกันไปทั่ว
ตั้งแต่นั้นมาชาวจีนในปากน้ำโพ จึงได้นำองค์เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ทุกองค์ออกแห่รอบตลาดปากน้ำโพ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนของทุกปี จนกลายเป็นประเพณีสืบทอดกนมากว่า 80 ปี เพื่อเป็นสิริมงคล และความเจริญก้าวหน้าในด้านการค้า เคารพกราบไหว้เปรียบเสมือนเทพเจ้าได้มาอวยชัยให้พรยังร้านค้าอันเป็นแหล่งทำกิน กำหนดการแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพของทุกปีจะตรงกับวันชิวสี่ ของเดือนอ้าย ซึ่งเป็นวัน ซิ้นเหลาะเทียน เป็นวันที่เจ้าที่กลับจากเฝ้า "เง็กเซียนฮ่องเต้" หลังจากไปรายงานความเป็นอยู่การปฎิบัติของเจ้าของบ้านตั้งแต่ วันซิ้นเจี๊ยเทียน ดั้งนั้นทุกคนจึงได้จัดงานเฉลิมฉลอง เพื่อต้อนรับในการกลับลงมาจากสวรรค์
ที่มาของมังกรทองสัตว์ในเทพนิยายของจีน
..ก่อนพุทธกาล.. ในยุคก่อนก่อตั้งประเทศจีน ณ ดินแดนแถบนี้จะมีการแบ่งเป็นเผ่าต่าง ๆ และทำการปกครองตนเองโดยมีวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ต่างกัน เช่น สัญลักษณ์ประจำเผ่าที่เป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น นก ปลา วัว หมี กวาง อื่น ๆ เป็นต้น จวบจนมีนักรบผู้เก่ากาจท่านหนึ่งชื่อ "กงชุนหยวน" ไปรบชนะเผ่าต่าง ๆ และได้รวบรวมดินแดนถิ่นนี้ ให้เป็นปึกแผ่น การก่อตั้งประเทศจีนขึ้นเป็นครั้งแรกได้ยกย่องให้ "กงซุนหยวน" เป็นบรมปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จีนขึ้น นามว่า "อึงตี่" แปลว่า "จักรพรรดิ์เหลือง" การปกครองของเผ่าต่าง ๆ ทั้งหลายให้เกิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแห่งอาณาจักรใหม่แห่งนี้ อึงตี่ องค์จักรพรรดิ์จึงดำริให้มีการทำสัญลักษณ์รวมเผ่าต่าง ๆ ขึ้น คือ เล้ง หรือ มังกร ซึ่งแต่ละส่วนของสัญลักษณ์เดิมที่นำมารวมกันก็คือ "เขา" เหมือนกวาง "หัว" เหมือนวัว "ตัว" เหมือนงู "เกล็ด" เหมือนปลา และ"เท้า" เหมือนเหยี่ยว ยามเมื่อพญามังกรเคลื่อนตัวไปแห่งหนใดก็จะเกิดอำนาจทั่วหัวระแหง
ประวัติการแห่มังกรทองของเมืองปากน้ำโพ
ขบวนแห่มังกรทอง ปัจจุบันเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของงานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ เริ่มขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ.2506 ซึ่งประธานกรรมการจัดงานในปีนั้นก็คือนายหม่งแจ๋ แซ่เล้า โดยมีนายเป้งไฮ้ แซ่ตั้ง และนายติ้งลิ้ม แซ่เอ็ง เป็นผู้เสนอให้มีการแสดงเชิดมังกร เพื่อที่จะเรียกความสนใจจากประชาชนให้มาเที่ยวงานมากขึ้น และเสริมขบวนแห่เจ้าให้ยิ่งใหญ่กว่าเดิม โดยมีอาจารย์เหล่งจุ้ย แซ่โค้ว ที่เคยเล่นมาจากประเทศจีนเป็นผู้ฝึกสอนในเบื้องต้น ต่อมาจึงให้นายแกะควบคุมการฝึกสอนต่อ และประยุกต์การแสดงให้ดีขึ้น แต่ภายหลังได้ให้นายสุรชัย วิสุทธากุล หรือ "ค่าย" เป็นผู้ฝึกสอนต่อมาจนถึงปัจจุบันชาวจีนถือว่ามังกรทองเป็นสิ่งสิริมงคลนำโชคลาภ และความผาสุขมาสู่ปวงชน มังกรทองนครสวรรค์เป็นมังกรที่มีลักษณะแตกต่างจากมังกรที่แล่นเชิดอยู่ในจีน หรือญี่ปุ่น เพราะสร้างขึ้นจากโครงสร้างไม้สาน และหุ้มด้วยพลาสติกเขียนลาย ลีลาการเชิดได้รับการถ่ายทอด และได้พลิกแพลงลีลาการเชิดและการแสดงต่าง ๆ โดยเน้นหนักในท่าแสดงที่โลดแล่นด้วยลีลาสง่างามด้วยการเชิดที่เฉียบขาด หวาดเสียว และตื่นเต้น เป็นที่เลื่องลือทั่วภูมิภาคเอเชีย ว่ามีการแสดงที่ประทับใจที่สุด โดยเฉพาะเวลากลางคืน จะมีไฟประดับแพรวพราวไปทั้งลำตัว ด้วยลำตัวที่ยาว 52 เมตร ผู้เชิด 180 คน จำนวนผู้แสดงและผู้ฝึกสอน 200 คน--จบ--
-ศน-