กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดด้วยกล้อง เผยแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดีโดยการผ่าตัดด้วยกล้อง ถือเป็นวิทยาการทางการแพทย์สมัยใหม่ที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ เพราะเป็นผลดีต่อผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากแผลจะมีขนาดเล็กเพียง 0.5 - 1 ซม. จึงช่วยลดความเจ็บปวด ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น เมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานดั้งเดิม ในขณะนี้ศัลยแพทย์ไทยในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลจังหวัดทั่วประเทศสามารถรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดีโดยการผ่าตัดด้วยกล้องได้แล้ว
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไพศาล พงศ์ชัยฤกษ์ มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานชมรมศัลยกรรมด้วยกล้องแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าในปัจจุบันโรคนิ่วในถุงน้ำดีเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในประชากรทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทย ซึ่งผู้ที่มีก้อนนิ่วอยู่ในถุงน้ำดีส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 50 มักไม่ปรากฏอาการใดๆ และเป็นการพบโดยความบังเอิญเมื่อเข้ารับการตรวจร่างกายประจำปีด้วยการอัลตร้าซาวด์ ส่วนกลุ่มของผู้ที่มีอาการมักพบว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับการย่อยอาหารเรื้อรัง อันได้แก่ ท้องอืดและแน่นท้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรับประทานอาหารมัน รวมทั้งมีอาการปวดเสียดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวาหรือลิ้นปี่ และอาจปวดจนร้าวไปถึงสะบักขวาหรือหลัง ในกรณีที่เกิดการอักเสบของถุงน้ำดีอย่างเฉียบพลันอาจทำให้ผู้ป่วยมีไข้เฉียบพลันและปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวาด้วย
เมื่อตรวจพบว่ามีก้อนนิ่วในถุงน้ำดี แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดถุงน้ำดีออก เนื่องจากนิ่วในถุงน้ำดีไม่สามารถรักษาได้โดยการใช้เครื่องสลายนิ่ว ส่วนการรักษาโดยใช้ยาละลายนิ่วนั้น เป็นวิธีที่ต้องใช้เวลานานและอาจเกิดนิ่วได้อีกเมื่อหยุดยา นอกจากนี้ ลักษณะเฉพาะของก้อนนิ่วที่พบในคนไทย ส่วนมากมักจัดอยู่ในประเภทที่ไม่ละลายโดยใช้ยา ซึ่งการผ่าตัดนำถุงน้ำดีออกนั้น ในอดีตจะใช้เฉพาะวิธีมาตรฐานดั้งเดิมคือการผ่าตัดเปิดหน้าท้องบริเวณชายโครงขวา ซึ่งผู้ป่วยจะมีแผลผ่าตัดยาวประมาณ 10 ซม. ใช้เวลารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 7-10 วัน และต้องการพักฟื้นหลังการผ่าตัดประมาณ 1 เดือน
แต่ในปัจจุบันผู้ป่วยมีทางเลือกในการขอรับการผ่าตัดด้วยกล้องซึ่งเป็นวิทยาการทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ และกำลังเป็นที่นิยมแทนที่การผ่าตัดวิธีมาตรฐานดั้งเดิม แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า ทั้งนี้เพราะการผ่าตัดด้วยกล้องจะมีแผลผ่าตัดที่เล็กลง (จำนวน 4 แผล ขนาด 0.5 -1 ซม.) จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดแผลและเสี่ยงต่อการติดเชื้อหลังการผ่าตัดน้อยกว่า ใช้เวลารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเพียง 1-2 วัน และต้องการพักฟื้นหลังผ่าตัดเพียง 1 สัปดาห์ เมื่อแผลหายสนิทจะปรากฏเพียงรอยเล็กๆ บนหน้าท้องเท่านั้น
"ช่วงเวลาที่ผ่านมาศัลยแพทย์ในประเทศไทยได้เข้ารับการอบรมเกี่ยวกับเทคนิคการผ่าตัดด้วยกล้องมากยิ่งขึ้น และทางชมรมได้มีการจัดส่งศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้คำแนะนำขณะฝึกปฏิบัติเป็นรายบุคคลตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขได้จัดศัลยแพทย์จากโรงพยาบาลในส่วนกลางออกไปสาธิตและช่วยสอนให้แก่แพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วทุกภาคมาแล้วหลายครั้ง จึงทำให้ขณะนี้การผ่าตัดด้วยกล้องเป็นวิทยาการทางการแพทย์ที่มีศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพิ่มขึ้น และมีการนำมาใช้เพื่อรักษาโรคต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดี เนื่องจากพบว่ามีข้อดีต่อผู้ป่วยหลายประการคือ มีแผลผ่าตัดขนาดเล็กลง ช่วยลดอาการปวดแผล ลดการติดเชื้อ และทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้เร็วขึ้นเมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเดิม"
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไพศาล ยังได้กล่าวในตอนท้ายว่า ในขณะนี้ผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดีสามารถเข้ารับการรักษาโรคโดยการผ่าตัดด้วยกล้องได้จากโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลจังหวัดทุกแห่ง ส่วนในระดับอำเภอนั้น หากโรงพยาบาลแห่งใดต้องการความสนับสนุนด้านเทคนิคการผ่าตัดด้วยกล้อง ทางชมรมศัลยกรรมด้วยกล้องแห่งประเทศไทยยินดีจะจัดส่งศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่เพื่อให้คำแนะนำและฝึกปฏิบัติรายบุคคล
ทั้งนี้ ผู้สนใจข้อมูลข่าวสารหรือต้องการปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการผ่าตัดด้วยกล้อง สามารถเขียนจดหมาย หรือไปรษณียบัตรส่งมาได้ที่ศูนย์ข้อมูลการผ่าตัดด้วยกล้อง ตู้ ป.ณ. 3 ปณฝ. ประตูน้ำ กรุงเทพฯ 10409 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
สื่อมวลชนที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
สาธิดา / ดุษฎี / ศรีเบญจา
อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
โทร. 0 - 2252 9871 - 7--จบ--
-อน-