กรุงเทพฯ--27 ส.ค.--เอ็มดีเค คอนซัลแทนส์ (ประเทศไทย)
สายการบินเอมิเรตส์นำเครื่องบินโบอิ้ง 777-300 รุ่น ล่าสุดเข้าร่วมฝูงบิน โดยรับการส่งมอบจากสนามบินเอเวอเร็ท ฟิลด์ ของบริษัทโบอิ้งทางชายฝั่งตะวันตกของอเมริกาใกล้เมืองซีแอตเติล บินตรงถึงสนามบินดูไบด้วย ระยะทางบิน 13,000 กิโลเมตร หรือ 7,000 ไมล์ทะเล ผ่านขั้วโลกเหนือ
เครื่องบินลำดังกล่าวจดทะเบียนภายใต้ชื่อ A6-EMS บินด้วยความเร็วสูงสุด 900 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่ความสูงระดับ 41,000 ฟุต และเป็นรุ่นที่ใหญ่กว่าเครื่องบินไอพ่นคู่ (Twinjet) รุ่นขายดีของโบอิ้ง ปัจจุบันสายการบินเอมิเรตส์มีเครื่องบินรุ่นนี้ประจำการอยู่ 6 ลำและรุ่น 777-200s ที่มีขนาดเล็กกว่า อีก 9 ลำ
อนึ่ง เที่ยวบินรับมอบครั้งนี้ นับเป็นเที่ยวบินแรกของสายการบินเอมิเรตส์ที่ออกบินจากชายฝั่งทะเลตะวันตกของสหรัฐอเมริกาสู่ดูไบ และเป็นครั้งแรกที่เครื่องโบอิ้ง 777-300 บินผ่านขั้วโลกเหนือ
เที่ยวบินข้ามขั้วโลกเหนือดังกล่าว ควบคุมการบินโดยกัปตันอาเหม็ด อัล ชัมซี ผู้จัดการฝ่ายเทคนิคการบินของสายการบินเอมิเรตส์ โดยมีผู้ช่วยนักบินคือ กัปตันฟาลี วาจิฟดาร์ กัปตัน กราเม โมเบรย์และกัปตันปีเตอร์ พอนท์ ซึ่งขนานนาม "สี่ทหารเสือ" โดยเที่ยวบินระยะไกลพิเศษ เช่น เที่ยวบินจากดูไบสู่ลอสแองเจลลิส ที่เอมิเรตส์จะเปิดให้บริการในเร็ว ๆ นี้ ก็จะตัองใช้นักบินในลักษณะดังกล่าวควบคุมเครื่องบิน และในอนาคตไม่นานนี้สายการบินเอมิเรตส์จะเปิดให้บริการเส้นทางนี้ด้วยเครื่องบินแอร์บัสลำตัวยาว รุ่น A340-500s
ผู้ร่วมเดินทางกับเที่ยวบินนี้ ประกอบด้วย บ๊อบ เอเวอเรสต์ ผู้จัดการฝ่ายการจัดระบบ ข้อมูลการบินและการจราจรทางอากาศ เอ็ด ไบกัส วิศวกรฝ่ายปฏิบัติการ และลูกเรือ ได้แก่ ซามี คาลิล, ลอร์เรน แนซและนาร์เรด้า โฮป นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากบริษัทโบอิ้ง บริษัทฮันนี่เวลและกรมการบินพลเรือนแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ร่วมเดินทางเป็นสักขีพยานในเที่ยวบินนี้ด้วย
การเดินทางครั้งนี้มีผู้ร่วมเดินทางเพียง 17 คน เผาผลาญเชื้อเพลิง 34,000 แกลลอนและใช้เวลา 14 ชั่วโมง 10 นาที ออกจากเพน ฟิลด์ ซีแอตเติล ไปทางทิศเหนือผ่านคานาดาและขั้วโลก แล้วจึงลงมาทางกรีนแลนด์ นอร์เวย์ ฟินแลนด์ เอสโตเนีย แลทเวีย เบลารุส ยูเครน ตุรกีและอิหร่าน ก่อนร่อนลงจอดโดยสวัสดิภาพที่สนามบินดูไบ
ยุทธศาสตร์ทูอินวันนี้ไม่เพียงเป็นการส่งมอบเครื่องบินตามปกติ แต่ยังเป็นการซ้อมใหญ่ก่อนเปิดให้บริการจริงสู่ทวีปอเมริกาเหนืออีกด้วย เส้นทางบินผ่านทางมหาสมุทรอาร์คติคเป็น เส้นทางที่ลัดและผ่านน่านฟ้าประเทศเพียงเล็กน้อย ทั้งยังประหยัดเชื้อเพลิงและเวลาบิน โดยเส้นทางบินนี้เอมิเรตส์จะกลายเป็นสายการบินที่ให้บริการทั่วโลก
กัปตันอัล ชัมซี กล่าวว่า "เที่ยวบินทดสอบครั้งนี้ทำให้เราได้ศึกษาข้อมูลตรงในแง่มุมทางด้านเทคนิคของการเดินทางผ่านขั้วโลก เช่น อุณหภูมิที่ทำให้เชื้อเพลิงแข็งตัว และเส้นทางเบี่ยงสู่สนามบิน และเรายังได้ตรวจสอบระบบการสื่อสารและเครื่องมือทางการบินในแถบอาร์คติค การเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อวางแผนการบินระยะไกล ประเด็นทางด้านการแพทย์ทางอากาศ ตลอดจนระบบและกระบวนการทางการบินในเส้นทางใหม่"
สายการบินเอมิเรตส์ก่อตั้งเมื่อปี 2528 และเป็นสายการบินที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และได้รับรางวัลสายการบินนานาชาติมาแล้วกว่า 200 รางวัล ปัจจุบันมีฝูงบินที่ทันสมัยที่สุดทั้งหมด 40 ลำ ให้บริการสู่เมืองต่าง ๆ 58 แห่งใน 41 ประเทศทั่วโลก และภายในปี 2553 เอมิเรตส์จะขยายฝูงบินเป็นสามเท่า รวมเป็น 100 ลำ โดยจะบรรทุกผู้โดยสาร 25 ล้านคนต่อปี
บรรยายภาพ:
ลูกเรือเครื่องบินโบอิ้ง 777-300 รุ่นใหม่ล่าสุด ถ่ายภาพร่วมกันที่สนามบินดูไบ หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจรับมอบเครื่องบินและบินผ่านขั้วโลกเหนือ จากซ้าย ลูกเรือ: นาร์เรด้า โฮป, ปูเซอร์ ซามิ คาลิล กัปตันอาเหม็ด อัล ชัมซี, เอ็ด ไบกัส วิศวกรฝ่ายปฏิบัติการของบริษัทโบอิ้ง, กัปตัน ฟาลี วาจิฟดาร์, ปีเตอร์ พ้อนท์, เกรเม โมเบรย์ และลอร์เรน นาซ พนักงานอาวุโสฝ่ายต้อนรับบนเครื่อง--จบ--
-ศน-