บ.ไทยเอ็นวีดีอาร์ รุ่ง เผย 1 ปีมีหลักทรัพย์ถือครองเพิ่มกว่าร้อยละ 93

30 Jul 2002

กรุงเทพฯ--30 ก.ค.--ตลาดหลักทรัพย์

นางกองแก้ว เปี่ยมด้วยธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด เปิดเผยว่า นับจากการเปิดให้มีการซื้อขาย เอ็นวีดีอาร์ (Non-voting Depository Receipt: NVDR) หลักทรัพยที่เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนชาวต่างประเทศที่ไม่สามารถซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนที่มีข้อจำกัดเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นของชาวต่างประเทศ เข้ามาลงทุนได้ โดยยังคงรับสิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนและรับเงินปันผล แต่ไม่มีสิทธิในการออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น) เป็นเวลากว่า 1 ปีนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2544 ถึงปัจจุบัน พบว่าความสนใจในการลงทุนในเอ็นวีดีอาร์มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยหากวิเคราะห์จากข้อมูลการถือครองหุ้น พบว่าทั้งจำนวนหลักทรัพย์และจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ ถือครองอยู่ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด

"จำนวนหลักทรัพย์ที่บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ ถือครองหรือลงทุนอยู่ได้เพิ่มขึ้นจาก 195 หลักทรัพย์ในเดือนมิถุนายน 2544 เพิ่มเป็น 378 หลักทรัพย์ ในเดือนมิถุนายน 2545 หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 93.85 โดยมูลค่าหลักทรัพย์ที่ถือครองอยู่ก็ได้เพิ่มขึ้นจาก 1,449.65 ล้านบาทในเดือนมิถุนายน 2544 เป็น 65,934.43 ล้านบาทในเดือนมิถุนายน 2545 ในขณะที่จำนวนบริษัทจดทะเบียนที่บริษัทฯ ถือครองอยู่ ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 193 บริษัท ในเดือนมิถุนายน 2544 เป็น 370 บริษัทในเดือนมิถุนายน 2545

เมื่อคิดเป็นสัดส่วนบริษัทจดทะเบียนที่บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ ลงทุน เทียบกับบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ใหม่ที่บริษัทฯลงทุนได้ จะพบว่ามีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างสูง โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 50.66 ในเดือนมิถุนายน 2544 เป็นถือร้อยละ 95.12 ในเดือนมิถุนายน 2545 นี้

นอกจากนี้ ความสนใจในการซื้อขายเอ็นวีดีอาร์ยังเห็นได้ชัดเจนเมื่อดูมูลค่าการซื้อขายเอ็นวีดีอาร์ที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับนับจากเดือนมิถุนายน 2544 ซึ่งมีเพียง 937 ล้านบาท สูงสุดถึง 16,630 ล้านบาทในเดือนพฤษภาคม 2545 และเมื่อสิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2545 มูลค่าการซื้อขายมีจำนวนถึง 16,594 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 1,671 จากมิถุนายน 2544" นางกองแก้วกล่าวว่า

สำหรับหลักทรัพย์ที่บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ ถือครองอยู่มากที่สุด 10 อันดับแรกในช่วง 1 ปี ระหว่างเดือนมิถุนายน 2544 ถือเดือนมิถุนายน 2545 พบว่ากระจายอยู่ใน 15 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 1.กลุ่มเคมีภัณฑ์และพลาสติก 2.กลุ่มขนส่ง 3.กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต 4.กลุ่มการพิมพ์และสิ่งพิมพ์ 5.กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม 6.กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ 7.กลุ่มพลังงาน 8.กลุ่มสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 9.กลุ่มโรงแรมและบริการท่องเที่ยว 10.กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ 11.กลุ่มวัสดุก่อสร้างและเครื่องตกแต่ง 12.กลุ่มธนาคารพาณิชย์ 13.กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 14.กลุ่มธุรกิจการเกษตร 15.กลุ่มกระดาษและเยื่อกระดาษ

"สำหรับแนวโน้มสัดส่วนการถือครองหลักทรัพย์เอ็นวีดีอาร์ ต่อปริมาณหลักทรัพย์อ้างอิงของแต่ละหลักทรัพย์ก็พบว่ามีปริมาณที่เพิ่มขึ้นจากช่วงระหว่างร้อยละ 1 ถึงร้อยละ 3 ในเดือนมิถุนายน 2544 เป็นระหว่างร้อยละ 11 ถึงร้อยละ 33 ในเดือนมิถุนายน 2545 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า จึงเห็นได้ว่าเอ็นวีดีอาร์เป็นหลักทรัพย์ที่ได้รับความสนในใจในแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะยังคงได้รับความนิยมต่อไปอีก โดยขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบเพื่อให้ผู้ลงทุนในเอ็นวีดีอาร์ สามารถเปลี่ยนเอ็นวีดีอาร์เป็นหุ้นสามัญได้ หากหลักทรัพย์ใดมีอัตราส่วนคงเหลือของการถือครองหุ้นของชาวต่างประเทศ" นางกองแก้วกล่าว

นอกจากนี้ บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ ได้แก้ไขการใช้สิทธิออกเสียงในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์อ้างอิง กรณีพิจารณาเพิกถอนหลักทรัพย์อ้างอิงจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน จากเดิมจะลงคะแนนเสียงตามเสียข้างมากของผู้ถือเอ็นวีดีอาร์ เป็น ลงตามความประสงค์ของผู้ถือ เอ็นวีดีอาร์

ในเดือน มิถุนายน 2545 หลักทรัพย์ที่บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ มีสัดส่วนการถือครองหรือการลงทุนมากที่สุด ได้แก่บมจ.แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ (GOLD) ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ บมจ.ซิงเกอร์ ประเทศไทย (SINGER) ในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า บมจ. พรีเชียสชิปปิ้ง (PSL) ในกลุ่มขนส่ง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และบงธนชาติ (NFS) ในกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ส่วนประชาสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร

ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร 0-2229-2036/กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร. 0-2229-2037/จิวัสสา ติปยานนท์ โทร. 0-2229-2039--จบ--

-ปส-