กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--หอการค้าไทย
อนุสนธิจากการเข้าประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology: ICT) ของ ดร.ปรัชญา เปี่ยมสมบูรณ์ ประธานคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศ หอการค้าไทย เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2545 ณ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งผลจากการประชุมครั้งนี้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้ขอให้เอกชนจัดทำข้อคิดเห็น พร้อมทั้งความต้องการต่างๆ ที่ภาคเอกชนเห็นว่าภาครัฐต้องเร่งปฏิบัติ เพื่อพัฒนา ICT ในประเทศไทย โดยจัดส่งข้อคิดเห็นภายในวันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ ศกนี้
ในการนี้ ดร.ปรัชญา เปี่ยมสมบูรณ์ ประธานกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารโทรคมนาคม หอการค้าไทย พิจารณาเห็นควรจัดประชุมกรรมการฯ และเรียนเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเสนอต่อภาครัฐ โดยกำหนดจัดประชุมในวันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2545 ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคาร 2 ชั้น 2 หอการค้าไทย เวลา 10.30 น. พร้อมร่วมรับประทานอาหารกลางวันในวันเวลาและสถานที่ดังกล่าว
นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการประชุมเชิงปฏิบัติการ "ยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย"
4 กุมภาพันธ์ 2545 : เมื่อเช้าวันนี้ ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องยุทธศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสาร (Information and Communication Technology: ICT) โดยมี พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 100 คน ซึ่งประกอบด้วยผู้กำหนดนโยบาย ผู้แทนหน่วยงานที่รับผิดชอบในการผลักดันนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติ ผู้แทนจากภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ประชุมได้สรุปกรอบยุทธศาสตร์ที่สำคัญรวม 3 ประการ คือ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ การใช้ ICT ในภาครัฐ และการพัฒนาบุคลากรด้าน ICT
กล่าวโดยสรุป นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงเป้าประสงค์ในภาพรวมของการพัฒนา ICT ว่า ต้องการเห็น ICT เป็นอุปกรณ์สำคัญในการบริหารจัดการทั้งภาครัฐและเอกชน ในการศึกษาระดับบน และส่งผลลงสู่ชนบทโดยรวมของ ประเทศ ทั้งนี้ต้องการเลือกให้เกิดเศรษฐกิจของความเร็ว (economy of speed) มากกว่าเศรษฐกิจของขนาด (economy of scale) พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า ประเด็นต่างๆ ในการสัมมนาในวันนี้ จะนำไปสู่โครงการและภารกิจของกระทรวงใหม่ คือ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งแม้ว่าหากดูเพียงขนาดอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นกระทรวง แต่หากดูความสำคัญแล้วมีความจำเป็น ในระยะยาวต้องการเห็นประเทศไทยมี e-Citizen ประชาชนทุกคนมี Smart Card ประจำตัว ซึ่งจะทำให้เรารู้โครงสร้างประชากร (profile) ของเราตลอดเวลา ในการดำเนินการเพื่อให้ความฝันเหล่านี้เป็นจริง รัฐบาลพร้อมที่จะให้การสนับสนุนเต็มที่
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบถึงความก้าวหน้า และเห็นชอบในวิสัยทัศน์ พันธกิจและวัตถุประสงค์หลักของแผนยุทธศาสตร์ฯ ที่ได้นำเสนอ ในส่วนของเรื่องที่เป็นยุทธศาสตร์หลัก 3 เรื่อง มีข้อสรุปที่เป็นมติ ดังนี้
1. การพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์
ที่ประชุมได้มีการอภิปรายใน 7 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
- การสร้างตลาดภายในประเทศ โดยใช้ตลาดภาครัฐเป็นตัวนำ
- การสร้างพันธมิตรเพื่อเปิดตลาดต่างประเทศ
- การจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ขนาดกลางและเล็กของไทยสามารถแข่งขันได้
- การพัฒนาบุคลากรซอฟต์แวร์ไทยให้มีทักษะสอดรับกับความต้องการของอุตสาหกรรม
- การจัดสรรบริการเครือข่ายสื่อสารที่แข่งขันได้
- การทำให้ Software Park ของไทย เป็นบริการที่เดียวแบบครบวงจร
- การจัดตั้ง Software Industry Promotion Agency
นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสรุปภารกิจของภาครัฐ จากที่ได้มีการอภิปรายในที่ประชุม ว่ารัฐบาลจะดำเนินการดังนี้
- เปิดตลาดภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจที่จะมีการพัฒนาซอฟต์แวร์ ให้กับบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย (จะเป็นบริษัทไทยหรือบริษัทไทยร่วมทุนกับต่างประเทศก็ได้)
- พยายามดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาโดยการปรับปรุงกฎระเบียบที่ไม่เอื้ออำนวย
- ในเรื่องการเงิน จะใช้กลไกของ บอย. (ซึ่งจะแปรสภาพเป็น SME Bank ในอนาคต), กลไกธนาคารของรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา ธนาคารประชาชน, และกองทุนร่วมทุน (venture capital) ที่มีอยู่ เพื่อให้เกิดผู้ประกอบการใหม่
- ใช้งบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนหนึ่งในการพัฒนาบุคลากร รวมถึงให้โอกาสเด็กรุ่นใหม่ๆ ให้มีงาน มีรายได้เสริม
ที่ประชุมได้มอบหมายเนคเทค สวทช. เรียนรู้และรวบรวมความต้องการของภาคเอกชน และทำข้อเสนอต่อรัฐบาล ว่าต้องทำอะไรบ้าง นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งคณะกรรมการระดับนโยบายที่มาผลักดันวาระเร่งด่วนต่างๆ อาทิ การจัดตั้งองค์กร Software Industry Promotion Agency (SIPA) เพื่อรับผิดชอบเรื่องการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในภาพรวม, การพัฒนาบุคลากร, การใช้ตลาดภาครัฐเพื่อเปิดโอกาสให้แก่ภาคอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย, การตั้งกองทุนรวม (Software Equity Fund) เพื่อดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศ ฯลฯ โดยให้นายสุวิทย์ คุณกิตติ ในฐานะแกนนำคณะกรรมการ e-Government หารือร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ (เนคเทค) และกระทรวงคมนาคม เพื่อทำข้อเสนอดังกล่าว
2. การพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
ที่ประชุมได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับมาตรการที่สำคัญดังนี้
- จัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคมหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
- รัฐสนับสนุนแผนพัฒนาอาจารย์ด้าน ICT เพื่อเพิ่มจำนวนอาจารย์ที่มีความรู้และประสบการณ์เป็น 3 เท่า ภายใน 10 ปี
- จัดตั้งศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านไอทีทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรม
- จัดตั้งกองทุนอุดหนุนการวิจัยและพัฒนาด้านไอทีเพื่อการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรม
- จัดตั้งสถาบันฝึกอบรม Professional Training ด้านไอที ทั้งแบบไม่เน้นปริญญา และแบบปริญญา
โดยที่ประชุมได้มีมติ และ/หรือข้อสังเกตสรุปได้ดังนี้
1. แนวคิดการพัฒนาคน ควรทำสองแนวทางที่ต้องผสมผสานกัน ได้แก่
1.1 พัฒนาเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย
1.2 พัฒนาให้รู้วิชาชีพ เพื่อมุ่งให้ทำงานได้ดี
ทั้งนี้ ควรต้องมีการแลกเปลี่ยนบุคลากรในสถาบันการศึกษา กับบุคลากรในภาคเอกชน
2. เห็นด้วยกับการกำหนดแผนฝึกคนและอุตสาหกรรมให้รับกัน เพื่อมิให้คนไทยที่ฝึกแล้ว ถูกดึงตัวไปต่างประเทศ ขอให้เสนอแผนที่รัฐจะสนับสนุนได้เร็วและแรง
3. ให้พิจารณาจ้างชาวต่างประเทศผู้มีวิชาการ ความรู้ เข้ามาทำงานในการฝึกอบรมคนให้ได้ดีอย่างไรก็ดี ให้ดูความพอดี ทั้งในการเปิดให้ต่างชาติเข้ามา และดูแลให้เหมาะสม ให้แน่ใจว่าเกิดผลดี
4. พิจารณาแนวทางเพื่อให้หนังสือ ตำรา ราคาถูกลง และหาวิธีจัดทำอุตสาหกรรมการพิมพ์ตำรา
5. พิจารณาแนวทางเพื่อจัดตั้งห้องสมุดในลักษณะที่เป็น Living Library ให้เยาวชนไปใช้บริการโดยอาจหาหนังสือ/ตำราที่วางตลาดแล้วได้ระยะหนึ่ง ซึ่งจะมีราคาถูกกว่าหนังสือออกใหม่
6. ให้เนคเทคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน ร่วมพิจารณาและเสนอแนะวิธีการ ให้เสนอแผนการผลิตคน (Professional Training Instutute) โดยหลักการคือให้เอกชน ดำเนินการเพราะมีความคล่องตัว สามารถปรับตัวได้เร็วกว่าทั้งในเรื่องในการบริหาร/หลักสูตร
ทั้งนี้ ข้อ 3 ถือเป็นแกนหลักในการพัฒนาบุคลากรระยะเร่งด่วนของแผนแม่บทใน 5 ปีแรก และทำแผนนี้ให้ผูกพันกับโครงการ SIPA ในส่วนที่เอกชนจะมาลงทุนพัฒนาซอฟต์แวร์ต่อไป
3. การปฏิรูปราชการและ ICT กับการบริหารงานของภาครัฐเพื่อก้าวหน้าสู่ e-Government
ที่ประชุมได้อภิปรายในรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการที่นำเสนอเพื่อดำเนินการ ที่เกี่ยวข้องกับ 3 ประเด็นหลักที่พบว่าเป็นปัญหาในการใช้ ICT ของภาครัฐ ได้แก่เรื่องข้อมูล (รวมถึงข้อมูลภูมิศาสตร์หรือ GIS) เรื่องกำลังการบริหารจัดการ อาทิ
- การจัดให้มีศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ (Government Date Exchange: GDX) ทำหน้าที่บริหารจัดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ดูแลเรื่องมาตรฐานรหัสข้อมูลและจัดทำระบบทะเบียนที่อยู่ข้อมูล
- แก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบที่ล้าสมัย เพื่อให้รองรับการทำงานในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
- ปรับปรุงรูปแบบการพิจารณา/อนุมัติโครงการที่เกี่ยวกับ ICT ของภาครัฐ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และลดการลงทุนซ้ำซ้อน
โดยที่ประชุมมีมติ และ/หรือข้อสังเกตดังนี้
- การทำระบบ Information System ของราชการต้องไปตามวิวัฒนาการของการปฏิรูประบบราชการ คือ การกระจายอำนาจของส่วนกลางสู่ส่วนภูมิภาค หรือส่วนปฏิบัติการ ต่อไป demand for services ในอนาคตจะมากขึ้น ต้อง train ข้าราชการให้เป็น knowledge workers
- เรื่อง GIS เป็นเรื่องสำคัญ เพราะช่วยในเรื่องการกำหนดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศขอให้เป็นภารกิจหนึ่งของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศที่จะตั้งขึ้นใหม่ด้วย
- เชื่อว่าถ้าทำ e-Government สำเร็จก็จะก้าวไปสู่การเป็น e-Citizen ได้ง่ายขึ้น
- โครงการทำบัตรประชาชนแบบ smart card อาจเริ่มจากของข้าราชการก่อน โดยเริ่มทำจากเล็กไปหาใหญ่ เช่น กพ. ทำของข้าราชการพลเรือน หลังจากนั้นจึงค่อยขยายออกไปสู่ scale ที่ใหญ่ขึ้นเป็นของประชาชนทั่วประเทศ
- การจัดการเรื่องลิขสิทธิ์ของซอฟต์แวร์ที่จะใช้ในภาครัฐ โดยการจัดซื้อแบบรวม จะได้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมาย ในราคาที่ประหยัดกว่า การแยกซื้อ
- ให้สมาคมของภาคเอกชนไปคุยกันเองว่า สิ่งที่ดีที่สุดต่ออุตสาหกรรมที่ภาคเอกชนต้องการเห็นคืออะไร และในการไปถึงจุดนั้น ต้อง การให้รัฐทำอะไร ส่งให้เนคเทค สวทช. เพื่อจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลต่อไป
- เห็นควรจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินการเรื่องการบริหารจัดการข้อมูลเชิงพื้นที่ หรือข้อมูลภูมิศาสตร์เพื่อให้เกิดการใช้งานร่วมกันได้ ไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อนสิ้นเปลืองงบประมาณ รวมถึงการมีหน่วยงานรับผิดชอบเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากร ICT ของภาครัฐ
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ
โทร. 0-2622-1860 ต่อ 202--จบ--
-สท-
#ANAMAINEWS วันนี้ (10 เมษายน 2568) แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานในการประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม กรณีแผ่นดินไหว พร้อมด้วย นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ เข้าร่วมอภิปรายในประเด็นต่างๆ ได้แก่ รศ.ดร.บุณยฤทธิ์ ปัญญาภิญโญผล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ด้านความเสี่ยงด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ผศ.ดร.ประพัทธ์ พงษ์เกียรติกุล