กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (11 มี.ค.45) เวลา 11.00 น. ที่ห้องรับรองกรุงเทพมหานคร นพ.ประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าว “พบกันจันทร์ละหน คนกับข่าว” ครั้งที่ 38 เรื่องการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในกทม. การเตรียมพร้อมรับสถานการณ์โรคหน้าร้อน และความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัด โดยมี นพ.กฤษณ์ หิรัญรัศ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย และ นพ.ชาญชัย คุ้มพงษ์ ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย ร่วมแถลงข่าว
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เดือนมีนาคมเป็นช่วงที่เข้าสู่ฤดูร้อน กรุงเทพมหานครอาจได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในเขตรอบนอก ทำให้บางพื้นที่ขาดแคลนน้ำสะอาดในการอุปโภคบริโภคจากแหล่งน้ำบาดาลหรือแหล่งน้ำธรรมชาติอื่นๆ และโรคระบาดที่มักระบาดในหน้าร้อน จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้น เช่น โรคไข้เลือดออก โรคระบบทางเดินอาหาร และโรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น สำหรับกรุงเทพมหานครตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และได้ประสานความร่วมมือกับกองควบคุมโรค ติดต่อกระทรวงสาธารณสุขในการจัดรณรงค์เรื่องสุขอนามัยของประชาชนชาวกทม.
ดึงชุมชนร่วมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในปี 2544 ที่ผ่านมา สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกในกรุงเทพมหานครพบ ผู้ป่วยจำนวน 16,708 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 294.6 ต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้คือ ไม่เกิน 50 ต่อประชากร 1 แสนคน ในปี 2545 สำนักอนามัย กทม. จึงร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุขจัดโครงการรณรงค์และลดปัญหาจากโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อที่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากโรคดังกล่าวมียุงลายเป็นพาหะนำเชื้อไข้เลือดออกแพร่ระบาดในคน การป้องกันจึงต้องกำจัดสาเหตุที่เป็นปัญหาคือกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งอยู่ตามแหล่งภาชนะน้ำขังต่างๆ เช่น ภาชนะเก็บน้ำในห้องน้ำ ห้องส้วม แจกันปลูกพืชน้ำ และเศษวัสดุอื่นๆ ที่ไม่ใช้ประโยชน์แต่กักขังน้ำ โดยจะรายงานจำนวนลูกน้ำยุงลายภายในบ้านและชุมชนทุก 4 เดือน และดำเนินมาตรการเร่งด่วนในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่ราชการ โรงเรียน และโรงพยาบาล ต้องมีอัตราของการเกิดลูกน้ำยุงลายเป็นศูนย์ ขณะเดียวกันก็ร่วมมือกับประชาชนทุกครัวเรือนช่วยป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 10 โดยต้องกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุก 7 วันอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากลูกน้ำยุงลายใช้เวลา 7-10 วัน จะกลายเป็นยุง
นอกจากนี้อาคารร้างทั่วกรุงเทพมหานคร ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่สำคัญ จากการสำรวจพบว่า พื้นที่เขตคลองเตย เขตวัฒนา และเขตห้วยขวาง มีอาคารร้างเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้ประสานความร่วมมือไปยังทุกสำนักงานเขตในการสำรวจอาคารร้างในพื้นที่ เพื่อเข้าไปกำจัดลูกน้ำยุงลาย อย่างไรก็ตามมาตรการการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายจะขยายผลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทุกชุมชน และทุกโรงเรียน โดยประชาชนต้องร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้านและบริเวณบ้านให้เป็นกิจวัตรทุกวัน และหากอาคารร้างหรือบริเวณใดมีลูกน้ำยุงลายจำนวนมาก โปรดแจ้งไปยัง กองควบคุมโรค สำนักอนามัย กทม. เพื่อที่จะเข้าไปดำเนินการจัดการอย่างรีบด่วน ทางโทรศัพท์หมายเลข 0-2246-0301-2 ต่อ 4510, 0-2245-8078
เตือนประชาชนระวังโรคอุจจาระร่วงในหน้าร้อน
ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวว่า เพื่อเป็นการป้องกันและหลีกเลี่ยงโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ขอให้ประชาชนรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่สะอาดถูกสุขลักษณะ ถ้าเป็นน้ำต้มสุกจะดีที่สุด ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารและหลังการใช้ห้องส้วมทุกครั้ง ส่วนจาน ชาม ช้อน ส้อม อุปกรณ์ทำครัวต้องล้างให้สะอาดก่อนใช้ เลือกรับประทานอาหารที่สุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม และผักสดควรล้างหลายๆ ครั้งให้สะอาด ระวังอย่าให้แมลงวันตอมอาหาร ควรใช้ฝาชีครอบหรือนำอาหารใส่ตู้กับข้าวให้มิดชิด อาหารสำเร็จรูปที่ซื้อไว้หรืออาหารที่เหลือค้างก่อนนำมารับประทานต้องอุ่นเสียก่อน รักษาบริเวณบ้านให้สะอาด กำจัด มูลฝอย เศษอาหารและมูลสัตว์ต่างๆ หรือใช้ปูนขาวโรยกลบขยะที่ตกค้าง ระวังอย่าให้น้ำคลองเข้าปากขณะอาบน้ำ ควรถ่ายอุจจาระลงในโถส้วมทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการซักเสื้อผ้าผู้ป่วยที่เปื้อนอุจจาระลงในแม่น้ำลำคลอง และผู้ที่ชอบรับประทานน้ำแข็งเพื่อดับร้อนต้องคำนึงถึงความสะอาดของน้ำที่ใช้และแหล่งผลิตด้วย
สำหรับผู้ที่มีอาการอุจจาระร่วงอย่างรุนแรงควรรับประทานผงน้ำตาลเกลือแร่ โอ อาร์ เอส ที่สำคัญไม่ควรใช้ยาแก้ท้องเสียเพื่อทำให้หยุดถ่าย เพราะเชื้อโรคจะแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย หากรับประทานผงน้ำตาลเกลือแร่แล้วยังถ่ายมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน หรือถ่ายเป็นมูกเลือด หรือถ่ายเป็นน้ำควรรีบพบแพทย์ทันที นอกจากนี้สำนักอนามัยยังได้จัดหน่วยป้องกันและควบคุมอุจจาระร่วง ไปประจำตามสถานีขนส่งและสถานีรถไฟสายสำคัญๆ ในกรุงเทพมหานคร เพื่อให้บริการบำบัดรักษาโรคอุจจาระร่วงแก่ประชาชนด้วย
นำร่องดำเนินมาตรการควบคุมสุนัขจรจัดและสุนัขเลี้ยง ใน 4 เขต
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โรคที่มักระบาดมากในหน้าร้อนอีกโรคหนึ่งคือ โรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งสัตว์ที่เป็นพาหะของโรค ได้แก่ สุนัข โดยเฉพาะสุนัขจรจัด แมว รวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา มีสุนัขจรจัดเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว คือ ในปี 2537 มีสุนัขจรจัด 48,000 ตัว ต่อมาปี 2542 มีสุนัขจรจัดประมาณ 110,584 ตัว นับว่าเป็นสถิติประชากรสุนัขที่น่าเป็นห่วงและต้องควบคุมดูแลอย่างเร่งด่วน เพราะสุนัขจรจัดดังกล่าวอาจเป็นพาหะนำโรคพิษสุนัขบ้า แพร่มาสู่คนได้ และจากรายงานของฝ่ายระบาดวิทยา กองควบคุมโรค สำนักอนามัย พบว่า ในปี 2544 มีผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า ตั้งแต่ 1 ม.ค. – 21 พ.ย. 44 จำนวน 8 ราย
สำหรับสาเหตุการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนประชากรสุนัขจรจัดนั้น เนื่องจากเจ้าของสุนัขทอดทิ้งไม่ดูแลสัตว์เลี้ยงของตน นำไปปล่อยทิ้งตามที่สาธารณะ ชุมชน ศาสนสถานต่างๆ และสุนัขจรจัดเหล่านั้นก็แพร่พันธุ์เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง ทั้งนี้การลดจำนวนสุนัขจรจัดต้องเริ่มที่การสำรวจประชากรสุนัขเพื่อขึ้นทะเบียน และนำไปใช้เป็นข้อมูลสำหรับวางแผนดำเนินการแก้ปัญหาสุนัขจรจัดขั้นต่อไป รวมทั้งการสำรวจดังกล่าวต้องกระทำควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบเรื่องการควบคุมการเลี้ยงสุนัขด้วย ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะเริ่มทยอยดำเนินการ โดยกรุงเทพมหานครมีนโยบายให้สำนักงานเขต 4 เขต ได้แก่ เขตห้วยขวาง เขตดุสิต เขตบางบอน และเขตสวนหลวง เป็นเขตนำร่องในการแก้ปัญหาสุนัขจรจัด
กทม.มีนโยบายฝังไมโครชิพ เพื่อควบคุมจำนวนสุนัข
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อว่า กรุงเทพมหานครมีนโยบายจะดำเนินการฝังไมโครชิพให้กับสุนัขเลี้ยงตามบ้านและสุนัขจรจัดทั่วกทม. ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เจ้าของสุนัขปล่อยทิ้งสุนัขบ้านออกมาเป็นสุนัขจรจัด รวมทั้งเป็นการควบคุมจำนวนสุนัขจรจัดที่มีในปัจจุบัน โดยไมโครชิพจะเป็นตัวบอกข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ทราบว่าสุนัขจรจัดได้ผ่านการทำหมัน และฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าประจำปีแล้วหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การเก็บข้อมูลสุนัขด้วยไมโครชิพ คาดว่าต้องใช้งบประมาณประมาณตัวละ 100 บาท ซึ่งกทม.ยังคงประสบปัญหาการจัดหางบประมาณจำนวนดังกล่าว ดังนั้นสำหรับสุนัขบ้านอาจต้องขอความร่วมมือจากประชาชน เจ้าของสุนัขให้ช่วยรับภาระค่าใช้จ่ายในการฝังไมโครชิพให้กับสัตว์เลี้ยงด้วย
สำหรับมาตรการการควบคุมและป้องกันสุนัขจรจัดนั้น กรุงเทพมหานครได้ออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงสัตว์และปล่อยสัตว์ (พ.ศ….) ซึ่งควบคุมสัตว์ 6 ประเภท ได้แก่ สุนัข แมว โค กระบือ สัตว์ป่าคุ้มครอง รวมทั้งช้าง เพื่อเป็นมาตรการควบคุมผู้เลี้ยงสัตว์เหล่านี้ให้ไปขึ้นทะเบียนและดูแลสัตว์เลี้ยงของตนไม่ให้เกิดอันตรายหรือก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น ซึ่งข้อบัญญัติดังกล่าวผ่านสภากทม.แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพิจารณาลงนามเพื่อประกาศใช้ต่อไป รวมทั้งมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อพิจารณากฎระเบียบควบคุมการเลี้ยงสัตว์ตามข้อบัญญัติดังกล่าว เช่น กำหนดจำนวนสัตว์เลี้ยงที่เหมาะสมกับพื้นที่ที่เลี้ยงสัตว์ กำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง และให้เจ้าของดูแลรับผิดชอบสัตว์เลี้ยงจนหมดอายุขัย แต่ห้ามเพิ่มจำนวน ขณะเดียวกันก็กำหนดพื้นที่ห้ามเลี้ยงสัตว์หรือปล่อยสัตว์ด้วย เช่น ร้านอาหาร โรงแรม สถานที่เลี้ยงเด็ก รวมถึงบทลงโทษด้วย เป็นต้น
ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้สำนักอนามัยมีมาตรการแก้ปัญหาสุนัขจรจัด โดยกองสัตวแพทย์ สาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ได้ออกให้บริการหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่หมุนเวียนไปตามเขตต่างๆ เป็นประจำทุกสัปดาห์ ซึ่งให้บริการทำหมันสุนัขและแมว ฉีดยาคุมกำเนิด และฉีดยาป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยไม่คิดมูลค่า เพื่อเป็นการร่วมมือกันลดจำนวนประชากรสุนัขจรจัด จึงขอเชิญประชาชนช่วยกันสอดส่องดูแล หากพบสุนัขจรจัดในชุมชนที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนหรือสุนัขที่คล้ายสุนัขบ้า โปรดแจ้งที่ 0-2245-3311 ในวันและเวลาราชการ--จบ--
-นห-
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ จัดงาน CP SPLASH IN SPACE เนรมิตหน้าอาคารซีพี ทาวเวอร์ ฉลองสงกรานต์บนถนนสีลม ในธีมอวกาศ ผลักดันวัฒนธรรมไทยสู่ Soft Power สร้างสุดยอดอีเว้นต์ระดับโลก พร้อมรณรงค์ 'สงกรานต์ไร้ขยะ' ตั้งจุดรับทิ้งขันและถังพลาสติก เพื่อมอบแก่มูลนิธิกระจกเงา โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางพรพัน วัฒนสินธุ์ ผู้อำนวยการเขตบางรัก นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร และนายวรวิทย์ เจนธนากุล กรรมการบริหาร ซีพีเอฟ ร่วมเปิดงาน นายชัชชาติ
นางฐิติชยา อนันต์วงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานการเจ้าหน้าที่ (สกจ.) สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการของคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงของข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญกระทำผิดวินัยในการดำเนินโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์...