โรลส์รอยซ์คาดมูลค่าธุรกิจเครื่องยนต์เจ็ทโตกว่า 2.3 ล้านล้านบาทภายใน 20 ปี

22 Jan 2002

กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--เอ็มดีเค คอนซัลแทนส์ (ประเทศไทย)

โรลส์รอยซ์ เจ้าตลาดเครื่องยนต์อากาศยานชั้นนำของโลก รายงานการคาดการณ์สภาพตลาดเครื่องบินขององค์กร (Corporate Aircraft Market Forecast) ในช่วงปี 2544-2563 ชี้ตลาดการบินจะต้องการเครื่องยนต์เพิ่มอีกเกือบ 31,000 เครื่อง รวมมูลค่ากว่า 2.3 ล้านล้านบาท (52 พันล้านดอลล่าร์) เพื่อป้อนฝูงบินเจ็ทขององค์กรรุ่นใหม่ๆ จำนวน 14,330 ลำ ภายในสองทศวรรษหน้า

มร. สตีฟ มิลเล่อร์ ผู้บริหารโรลส์รอยซ์ประจำประเทศไทย พม่า ลาวและกัมพูชา กล่าวว่า "ผลการวิเคราะห์ตลาดอย่างถี่ถ้วนแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเติบโตของตลาดเครื่องบินเจ็ทธุรกิจในระยะยาว โดยปัจจัยหลายประการที่เคยช่วยกระตุ้นตลาดให้แข็งแกร่งจะยังคงมีบทบาทต่อไป ดังจะเห็นได้จากการลงทุนกับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของผู้ผลิตเครื่องบินเจ็ทธุรกิจรายใหญ่ทุกราย"

ปัจจัยกระตุ้นการเติบโตของตลาดเครื่องบินเจ็ทธุรกิจในอนาคตที่สำคัญสามประการ ได้แก่

1) การฟื้นตัวสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ความมั่งคั่ง และการบินพาณิชย์ในกลุ่มองค์กรที่ได้รับการยอมรับมากขึ้นในฐานะเครื่องมือธุรกิจที่สำคัญจะสนับสนุนการขยายตัวและการเติบโตของตลาดการบินทั่วไป

2) การเติบโตอย่างยั่งยืนของโปรแกรมการเช่ากรรมสิทธิ์ร่วมระหว่างองค์กร (fractional ownership program) จะทำให้ตลาดการบินธุรกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการในตลาดทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

3) ปริมาณความต้องการเครื่องยนต์ชดเชยจะเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนเนื่องจากฝูงบินเก่าจำนวนมากจะหมดอายุการใช้งานในช่วง 20 ปีข้างหน้า

ตลาดเครื่องบินเจ็ทธุรกิจทั่วไปยังคงแข็งแกร่งอยู่เช่นเดิม โดยคาดว่าผู้ซื้อจะได้รับมอบเครื่องบินในกลุ่มนี้คิดเป็นเกือบ 2 ใน 3 หรือ 65% ของฝูงบินทั้งหมดในอนาคต และส่วนที่เหลือ 35% จะเป็นฝูงบินของโปรแกรมการเช่ากรรมสิทธิ์ร่วมระหว่างองค์กร

ปัจจุบันโปรแกรมการเช่ากรรมสิทธิ์ร่วมประกอบด้วยเจ้าของรายย่อยมากกว่าสี่พันราย คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เพียงเล็กน้อยของตลาดที่มีศักยภาพทั้งหมด โดยขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการเดินทางและอำนาจในการซื้อ จนถึงปัจจุบันโปรแกรมการเช่ากรรมสิทธิ์ร่วมได้สั่งซื้อฝูงบินใหม่ไปแล้วเกือบ 1,500 ลำ และมีการส่งมอบไปแล้วประมาณ 500 ลำ ทั้งนี้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ความต้องการถือกรรมสิทธิ์และใช้งานเครื่องบินร่วมกันพุ่งสูงเกินกว่าจำนวนเครื่องบินที่มีให้บริการเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ โครงสร้างของโปรแกรมการเช่ากรรมสิทธิ์และใช้งานเครื่องบินร่วมกันทำให้จำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนเครื่องบินภายในช่วง 5-10 ปี นับจากการซื้อขายในตอนแรก ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการสั่งซื้อเครื่องบินทดแทนใหม่และเพิ่มจำนวนเครื่องบินใช้แล้วที่มีคุณภาพดีในตลาดเครื่องบินมือสอง โดยการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเครื่องบินมือสองระหว่างตลาดเครื่องบินกรรมสิทธิ์ร่วมและตลาดเครื่องบินองค์กรทั่วไปได้ถูกนำมาพิจารณาในการทำรายงานการคาดการณ์ตลาดเครื่องบินเจ็ทธุรกิจของโรลส์รอยซ์ในครั้งนี้ด้วย โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างตลาดทั้งสองแห่ง และคาดว่าตลาดเครื่องบินมือสองจะพร้อมรองรับลูกค้าทั้งสองกลุ่มนี้ได้ เนื่องจากฝูงบินที่แลกเปลี่ยนมาจากโปรแกรมกรรมสิทธิ์ร่วมจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1% ของฝูงบินเจ็ทองค์กรทั้งหมดที่นำออกให้บริการในปีใดก็ตามในช่วง 20 ปีข้างหน้า

ตลาดในสหรัฐอเมริกาจะยังคงเป็นผู้ส่งมอบเครื่องบินเจ็ทองค์กรส่วนใหญ่แม้ว่าส่วนแบ่งการตลาดจะลดลงเล็กน้อย ในขณะที่ตลาดแห่งอื่นยังคงเติบโตและเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้เครื่องบินเจ็ทธุรกิจทั่วไปเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าตลาดเครื่องบินกรรมสิทธิ์ร่วมจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งนอกสหรัฐอเมริกา ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมาเป็นตลาดที่ครองส่วนแบ่งการตลาดเครื่องบินเจ็ทได้ประมาณ 75% แต่คาดว่าจะลดลงเป็น 68% ของยอดรวมการส่งมอบเครื่องยนต์เจ็ทในช่วง 20 ปีข้างหน้า

ปัจจุบันเครื่องบินเจ็ทขององค์กร จำนวน 10,600 ลำทั่วโลก มีเครื่องยนต์ที่ติดตั้งแล้วและเครื่องยนต์สำรองเป็นขุมพลังขับเคลื่อนประมาณ 23,000 เครื่อง และในอนาคตมีแนวโน้มว่าเครื่องบินที่ส่งมอบจะใช้เครื่องยนต์ที่มีน้ำหนักเบาขึ้น (โดยวัดจากน้ำหนักสูงสุดของเครื่องบินเวลาออกตัว) โดยกลุ่มเครื่องยนต์พื้นฐาน และกลุ่มเครื่องยนต์ขนาดเบาและขนาดเบากึ่งปานกลาง คิดเป็น 75% ของฝูงบินเจ็ททั้งหมดในปัจจุบัน

การเปิดตัวเครื่องบินรุ่นใหม่ๆ ในตลาดระดับบนและปัจจัยอื่นๆ อีกหลายประการ ได้นำไปสู่การขยายตัวของกลุ่มเครื่องบินขนาดกลางและขนาดใหญ่ (ซึ่งรวมถึงเครื่องบินโบอิ้ง บีบีเจ และแอร์บัส เอ319ซีเจ) และคาดว่าการส่งมอบเครื่องบินขนาดกลางและขนาดใหญ่ขึ้นจะคิดเป็นเกือบ 45% ของการส่งมอบทั้งหมดใน

อนาคต ในขณะที่เครื่องบินขนาดย่อมลงมาจะมีส่วนแบ่งมากกว่า 55% เพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ ใบสั่งซื้อเครื่องบินเจ็ทสำหรับองค์กรที่ยังคงค้างอยู่ในปัจจุบันต้องใช้เวลาผลิตอีกประมาณสามปี ถึงแม้ว่าใบสั่งซื้อของโปรแกรมการเช่ากรรมสิทธิ์ร่วมบางส่วนจะขยายเวลาการส่งมอบออกไปอีก

อนึ่ง รายงานการคาดการณ์สภาพตลาดเครื่องบินองค์กรของโรลส์รอยซ์ใช้กรรมวิธีที่ผ่านการวิจัยมาแล้วอย่างถี่ถ้วนและได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ โดยผลการคาดการณ์ไม่ได้นำมาจากผลการสำรวจทั่วไปแต่เกิดจากการใช้แม่แบบการสังเกตการณ์ตลาดเครื่องบินทั่วไปและตลาดเครื่องบินกรรมสิทธิ์ร่วมของโรลส์รอยซ์โดยเฉพาะที่พิจารณารวมไปถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรมการบินในปัจจุบันและอนาคต และผลกระทบต่อการส่งมอบ การหมดอายุใช้งาน และการพัฒนาฝูงบิน

เปิดชมตารางข้อมูลและตัวเลขของรายงานการคาดการณ์ตลาดเครื่องบินองค์กรได้ที่เว็บไซต์ www.rolls-royce.com/businessjetsforecast

ข้อมูลสำหรับกองบรรณาธิการ

โรลส์รอยซ์ พีแอลซี เป็นผู้นำในตลาดการบินพลเรือน การบินทหาร การเดินเรือและการพลังงาน โดยมีเทคโนโลยีก๊าซเทอร์ไบน์เป็นแกนหลักในการออกแบบและสร้างสรรค์เครื่องยนต์อากาศยานที่มีความหลากหลายมากที่สุดในโลก ปัจจุบันโรลส์รอยซ์เป็นผู้ติดตั้งเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเครื่องบินปีกนิ่ง (fixed wing) และปีกหมุน (rotary wing) จำนวน 55,000 เครื่องใน 150 ประเทศ โดยแบ่งเป็นลูกค้าสายการบินกว่า 500 แห่ง ลูกค้าองค์กรและผู้ประกอบการสาธารณูปโภคกว่า 2,400 แห่ง และกองทัพกว่า 160 แห่ง

โรลส์รอยซ์เป็นผู้นำระบบขับเคลื่อนทางน้ำที่มีผลิตภัณฑ์หลายประเภทและสมรรถนะการรวมระบบเต็มรูปแบบให้บริการแก่ลูกค้าในกลุ่มเดินเรือกว่า 2,000 ราย และกองทัพเรือของประเทศต่างๆ กว่า 30 แห่ง ขณะนี้บริษัทฯ กำลังลงทุนในผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และเพิ่มประสิทธิภาพในตลาดพลังงาน ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมนำมันและก๊าซและการผลิตไฟฟ้า อีกทั้งยังได้พัฒนาโครงการผลิตพลังงานเป็นของตนเอง โดยผ่านบริษัท

โรลส์รอยซ์ เพาเวอร์ เวนเจอร์ส จำกัด และมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาเครื่องยนต์ใหญ่ๆ อีกหลายโครงการ เช่น เครื่องยนต์อากาศยานและอุตสาหกรรมในตระกูลเทรนท์ เครื่องยนต์ยูโรไฟท์เตอร์ ไทฟูน (Eurofighter Typhoon) และเครื่องยนต์รบ จอยท์ สไตรค์ ไฟท์เตอร์ (Joint Strike Fighter) เครื่องยนต์เรือ ดับเบิ้ลยูอาร์ 21 (WR21) และระบบเครื่องยนต์เจ็ทขับเคลื่อนทางน้ำที่ทันสมัยล้ำหน้า--จบ--

-อน-