ธนาคารไทยพาณิชย์แจ้งผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2545

22 Apr 2002

กรุงเทพฯ--22 เม.ย.--ธนาคารไทยพาณิชย์

ธนาคารไทยพาณิชย์ แจ้งผลประกอบการเบื้องต้นสำหรับไตรมาสแรกของปี 2545 ก่อนการสอบทานโดยผู้สอบบัญชี ธนาคารมีผลกำไรก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในไตรมาสแรกของปี 2545 3,426 ล้านบาท สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับ 2,396 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1 และ 2,791 ล้านบาทในไตรมาสที่ 4 ของปี 2544

ในไตรมาสแรกของปี 2545 ธนาคารได้ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 3,099 ล้านบาท โดยเป็นไปตามนโยบายที่ระมัดระวังในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ด้วยการจัดชั้นหนี้อย่างเข้มงวดและการตั้งสำรองส่วนเกินเพิ่มเติม ทำให้ธนาคารมีกำไรสุทธิหลังค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 327 ล้านบาทเทียบกับ 559 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1 และขาดทุน 1,210 ล้านบาทในไตรมาสที่ 4 ของปีก่อน

รายการที่สำคัญมีดังต่อไปนี้

1. รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิ

ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิจากดอกเบี้ยจ่ายในไตรมาสนี้ จำนวน 4,138 ล้านบาท ใกล้เคียงกับ 4,063 ล้านบาทและ 4,136 ล้านบาทในไตรมาสหนึ่งและไตรมาสสี่ของปีก่อนตามลำดับ ทั้งนี้ เป็นผลจากการที่ธนาคารลดดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมและดอกเบี้ยเงินฝากลงในเดือนธันวาคม 2544 และกุมภาพันธ์ 2545 ประกอบกับการบริหารส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยอย่างระมัดระวัง

2. รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย

ธนาคารมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในไตรมาสนี้จำนวน 2,464 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1,520 ล้านบาทและ 2,086 ล้านบาทในไตรมาสหนึ่งและไตรมาสสี่ของปีก่อน มีสาเหตุหลักดังนี้

  • กำไรสุทธิจากเงินลงทุนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 578 ล้านบาทเนื่องจากการขายเงินลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ตามภาวะของตลาดที่เอื้ออำนวย
  • ค่าธรรมเนียมและบริการอื่นๆเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 259 ล้านบาทจากการเติบโตของธุรกิจบัตรเครดิต ธุรกรรมทางอิเล็คทรอนิคส์ (SCB Easybank) และธุรกรรมการจัดการเงินกู้
  • กำไรจากการปริวรรตเพิ่มขึ้น 319 ล้านบาทเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทย่อย/ร่วมลดลงจำนวน 132 ล้านบาทเนื่องจากการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของบริษัทบริหารสินทรัพย์ จตุจักร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยแม้ว่าบริษัทย่อยอื่นๆจะยังคงมีกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่องก็ตาม

3. ค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ย

ธนาคารมีค่าใช้จ่ายดำเนินงานในไตรมาสแรกของปีนี้ จำนวน 3,177 ล้านบาท ลดลงจาก 3,187 ล้านบาทและ 3,423 ล้านบาทในไตรมาสหนึ่งและไตรมาสสี่ของปีก่อนตามลำดับตามนโยบายควบคุมค่าใช้จ่ายของธนาคาร เป็นผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงาน (Cost to Operating Income Ratio) ลดลงจากร้อยละ 58.2 ในปี 2544 เป็นร้อยละ 53.3 ในไตรมาสแรกของปีนี้

4. ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ

ธนาคารตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในไตรมาสนี้จำนวน 3,099 ล้านบาท โดยการจัดชั้นลูกหนี้อย่างเข้มงวดและตั้งสำรองส่วนเกิน เพื่อป้องกันการเสื่อมค่าของสินทรัพย์ที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักความระมัดระวังยิ่งขึ้น ในภาวะที่ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ยังไม่หมดไปอย่างสมบูรณ์

งบดุล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2545

ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง สินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2545 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ยกเลิกการตัดจำหน่ายค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของลูกหนี้จัดชั้นสงสัยจะสูญที่ได้กันสำรองครบแล้ว ทำให้สินเชื่อของธนาคารจำนวน 35,112 ล้านบาทที่ถูกตัดจำหน่ายไปพร้อมกับค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญได้รับการกลับรายการในไตรมาสนี้เสมือนหนึ่งไม่ได้ถูกตัดจำหน่าย ซึ่งมีผลทำให้ยอดสินเชื่อเพิ่มขึ้นจากสาเหตุนี้จำนวน 35,112 ล้านบาทและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญได้เพิ่มขึ้นด้วยในจำนวนเดียวกัน (รายละเอียดยอดสินเชื่อและสำรองหนี้สงสัยจะสูญก่อนและหลังการปรับปรุงตัวเลขตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย รายไตรมาสของปี 2544 และไตรมาสแรกของปี 2545 ตามเอกสารแนบ)

ดังนั้น หลังการปรับปรุงตัวเลขแล้ว ณ วันที่ 31 มีนาคม 2545 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อ 480,141 ล้านบาท สำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 60,129 ล้านบาท มีสินเชื่อสุทธิ (หลังหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) จำนวน 422,432 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2544 จำนวน 12,549 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 2.9สาเหตุหลักเกิดจากการโอนขายหนี้จำนวน 3,510 ล้านบาท (มูลค่าทางบัญชีสุทธิ)ให้กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติมในไตรมาสนี้ และมีดอกเบี้ยค้างรับจำนวน 2,421 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2544 จำนวน 172 ล้านบาท

ธนาคารมียอดเงินฝาก 607,846 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2544 จำนวน 6,856 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.1

ธนาคารมีส่วนของผู้ถือหุ้น 63,371 ล้านบาทมีเงินกองทุนตามกฎหมาย (ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2) รวม 75,819 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 16.3 ของสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งเป็นส่วนของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ประมาณร้อยละ 10.4 ของสินทรัพย์เสี่ยง

สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs)

ธนาคารมียอดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ซึ่งรวมรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงิน ณ สิ้นมีนาคม 2545 จำนวน 87,517 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.8 ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 84,928 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.5 ณ สิ้นปี 2544 เนื่องจากยังคงมี NPLs ใหม่เกิดขึ้นทั้งในส่วนของหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ (Re-entry NPLs) และ NPLs บัญชีใหม่

เอกสารแนบ

ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง สินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2545 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ยกเลิกการตัดจำหน่ายค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของลูกหนี้จัดชั้นสงสัยจะสูญที่ได้กันสำรองครบแล้ว ซึ่งยอดสินเชื่อและสำรองหนี้สงสัยจะสูญก่อนและหลังการปรับปรุงตัวเลขตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย รายไตรมาสของปี 2544 และไตรมาสแรกของปี 2545 มีดังนี้

ก่อนการปรับปรุงตัวเลข

หลังการปรับปรุงตัวเลข

สินเชื่อ

สำรอง

สินเชื่อ

สำรอง

ไตรมาส 1/2544 481,755

24,146

517,119

59,510

ไตรมาส 2/2544 472,162

24,105

508,985

60,928

ไตรมาส 3/2544 467,750

22,408

507,226

61,884

ไตรมาส 4/2544 456,267

23,535

491,379

58,647

ไตรมาส 1/2545 445,029

25,017

480,141

60,129--จบ--

-อน-