3 พันธมิตรร่วมจัด 'NETDAY 2001'เน้นการเพิ่มคุณค่าบนเครือข่าย

26 Oct 2001

กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--กลุ่มบริษัทซีดีจี

'ทีซีเอส' จับมือพันธมิตรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเนคเทค ระดมทัพนักวิชาการและผู้ผลิตอุปกรณ์ชั้นนำระดับโลกจัดงานประชุมสัมมนาวิชาการ และนิทรรศการด้านระบบเครือข่ายครั้งใหญ่ 'NETDAY 2001' 22-23 พ.ย. นี้ ม.เกษตรชี้ไฮไลต์ NETDAY 2001 อยู่ภายใต้แนวคิดการเพิ่มคุณค่าบนเครือข่ายที่มีอยู่แล้ว ด้านเนคเทคหวังอาศัยเวที NETDAY กล่าวถึงการทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และมาตรการการรองรับมาตรฐานใหม่ๆ ให้ตื่นตัวหันมาพัฒนารองรับ IP เดิมที่กำลังจะหมดในอีกไม่นานนี้

นายวิทยา สุวัฒนาธรรมกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เดอะ คอมมูนิเคชั่น โซลูชั่น จำกัด (ทีซีเอส) ผู้นำในการให้บริการและติดตั้งระบบเครือข่าย หนึ่งในกลุ่มบริษัทซีดีจี เปิดเผยถึงการจัดงานประชุมสัมมนาวิชาการ และนิทรรศการด้านระบบเครือข่ายครั้งยิ่งใหญ่ ภายใต้ชื่องาน 'NETDAY 2001'ว่า ทีซีเอส ร่วมกับ สำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ เนคเทค ยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะตอบสนอง และคืนกำไรสังคมด้วยการมอบความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีระบบเครือข่ายในรูปแบบวิชาการ และชี้ให้เห็นถึงแนวทาง รวมถึงการสร้างวิสัยทัศน์ด้วยการนำระบบเครือข่ายไปปรับใช้ จึงได้จัดงาน NETDAY มาอย่างต่อเนื่องทุกปี โดย NETDAY 2001 ประกอบไปด้วยหัวข้อสัมมนาวิชาการกว่า 30 หัวข้อ ตลอดระยะเวลา 2 วันคือ วันที่ 22-23 พฤศจิกายน 2544 ณ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

"สำหรับในปีนี้ รัฐมนตรีว่าการระทรวงศึกษาธิการ นายสุวิทย์ คุณกิตติ ได้ให้เกียรติมาบรรยายพิเศษ เรื่องนโยบายโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ เพื่อความทั่วถึง และเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นหัวข้อที่จัดว่าเป็นไฮไลต์หนึ่งของงานและถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับการวางเครือข่ายโครงสร้างเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเอื้ออำนวยให้การบริการประชาชนเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว และสอดคล้องกับนโยบายหลักๆ ของรัฐบาล อาทิ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งต่อไปจะมีการวางเครือข่ายในทุกโรงพยาบาล โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับสำนักทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง เราจะได้เห็นถึงการนำไอทีเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาประเทศ" นายสุวิทยากล่าว

ทั้งนี้ งาน 'NETDAY 2001' จะจัดเพื่อเผยแพร่เทคโนโลยีทางด้านเครือข่ายและไอทีที่จัดเป็น State of the art, นำเสนอแนวคิดและวิธีการในเรื่องการประยุกต์เครือข่ายให้เหมาะสมกับสภาพสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย, ชี้ให้เห็นผลกระทบและชี้นำในเรื่องบทบาทและความสำคัญของเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่มีต่อสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิด และเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้สนใจในการประยุกต์ใช้

สำหรับส่วนของงานสัมมนาเชิงวิชาการนั้นประกอบไปด้วยหัวข้อทางด้านเทคโนโลยีระบบเครือข่ายที่ทันสมัย อาทิ 10 Gigabit Network and beyond Wireless Technology, The Thai ThaiCERT โครงการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการรักษาความปลอดภัยคอมพิวเตอร์, เครือข่ายโมไบล์ยุคใหม่, การเพิ่มคุณค่าบนเครือข่าย อาทิ QoS and Reliability, Multimedia Application, eGovernment Concept, eLearning

โดยได้เชิญนักวิชาการชื่อดังมาร่วมเป็นวิทยากร อาทิ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ NECTEC, รศ.ยืน ภู่วรวรรณ ที่ปรึกษาสำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ดร.สมนึก คีรีโต ที่ปรึกษาศูนย์พัฒนาอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงวิทยากรจากบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นซีมอน, โนเวลล์, Cisco, Avaya ฯลฯ

ทางด้านนิทรรศการนั้นประกอบไปด้วยพันธมิตรรายใหญ่ของทีซีเอส ได้แก่ อัลคาเทล, เนอร์เทล, เอ็นเทอราซีล, อัลลายด์ เทเลเซีน, ซิสโก้, Huawei, ม.เกษตร, เนคเทค, ลอจิก, เทคโนโลยี ดีไวเซส, ซีมอน, MGE, UCOM, online, Tycoeletronic (AMR) และทีซีเอส โดยทีซีเอสจะนำเสนอเกี่ยวกับการเพิ่มคุณค่าบนระบบเครือข่าย อาทิ Voice, Video and data convergence

"ปีที่แล้วประสบความสำเร็จมาก มีคนร่วมงานสัมมนาและนิทรรศการประมาณ 500 คน โดยในปีนี้เราคาดว่า จะมีผู้ร่วมงานนิทรรศการมากกว่าเดิม เฉพาะในส่วนสัมมนานั้นแม้ว่า หัวข้อจะเป็นที่น่าสนใจและเข้มข้นยิ่งกว่าเดิม แต่ก็ไม่สามารถรองรับจำนวนผู้เข้าร่วมสัมมนาได้เกิน 600 คน ดังนั้นผู้สนใจได้โปรดติดต่อสำรองที่นั่งล่วงหน้าโดยด่วน" นายวิทยากล่าว

ม.เกษตรชี้ไฮไลต์ NETDAY 2001

เน้นแนวคิดการเพิ่มคุณค่าบนเครือข่าย

รศ.ยืน ภู่วรวรรณ ที่ปรึกษา สำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เน้นแนวคิด NETDAY 2001 เป็นการนำเอาเทคโนโลยีเครือข่ายที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในปีนี้ และมีแนวโน้มจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องทางด้านต่างๆ โดยเฉพาะเน้นการเพิ่มคุณค่าบนเครือข่ายที่มีอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น การเพิ่มขีดความสามารถเครือข่ายด้วย Wireless LAN การสร้างระบบความปลอดภัย การจัดการเครือข่าย การประยุกต์ใช้ในเรื่องของ e-learning eEducation เทคโนโลยีที่ทันสมัยและแนวโน้มในอนาคต

แนวคิดของงานจึงเป็นเรื่องของการนำเสนอทางด้านวิชาการ ด้วยการสัมมนา การแสดงของจริง และระอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยการจัดแสดงบูทจากบริษัทต่างๆ และการสร้างตัวอย่างการใช้งานต่างๆ

"จุดเด่นของงานคือ การเลือกสรรหัวข้อและเนื้อหาที่มีความเหมาะสมและเป็นที่สนใจของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่าย การวางเนื้อหาที่เน้นกาานำไปปรับใช้หรือสร้างวิสัยทัศน์ในเรื่องเครือข่าย ตลอดจนการสร้างเสริมประสบการณ์และการเรียนรู้ และ update เรื่องราวเกี่ยวกับเทคโนโลยีเครือข่าย" รศ.ยื่นกล่าว

รศ.ยืนกล่าวต่อว่า งาน NetDay จัดว่ามีความสำคัญต่อวงการเน็ตเวิร์กไทย เนื่องจากการพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีเครือข่ายมีความก้าวหน้า และเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก มีบทบาทสำคัญต่อการปรับใช้ และการสร้างคุณค่า การจัดงานครั้งนี้จึงเน้นในเรื่อง การสร้างประโยชน์จากเครือข่าย และชี้แนวทางในการปรับปรุงและดำเนินการ เพื่อเปิดวิสัยทัศน์ทางด้านเครือข่าย และเห็นแนวโน้มที่สำคัญด้านต่างๆ

NECTEC หวังปลุกตลาดการทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

และมาตรฐานการการรองรับมาตรฐานใหม่ๆ

ดร.โกเมน พิบูลยาโรจน์ หัวหน้างานเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เปิดเผยถึงความคาดหวังที่จะอาศัยเวที NetDay กระตุ้นให้ตลาดเทคโนโลยีระบบเครือข่าย IPV6 มีความตื่นตัวในการเตรียมพร้อม การเผยแพร่ การวิจัย และ พัฒนาอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้นว่า เนื่องจากจำนวน IP address ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน (IP รุ่นที่ 4) มีแนวโน้มจะถูกใช้หมดไปในเวลาไม่กี่ปีข้างหน้า ประกอบกับจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความจำเป็นต้องวิจัยและพัฒนาในการขยายจำนวน IP address ให้รองรับจำนวนความต้องการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตรวมถึงความสามารถในการทำงานร่วมกับระบบที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นโดยอาศัยเทคโนโลยี IP โปรโตคอลรุ่นที่ 6 นี้

ดร.โกเมน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากเหตุการณ์การแพร่กระจายของไวรัสคอมพิวเตอร์ที่เกิดขึ้นในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา อันได้แก่ ไวรัส Sircam, ไวรัส Code red และ ไวรัส Nimda ฯลฯ ได้กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวทางด้านการรักษาความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ และเครือข่าย (Computer Security) ทำให้คาดได้ว่าในปี 2001 เทคโนโลยีทางด้านการรักษาความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ (Computer Security) น่าจะเป็น key word ในปี 2001

"สำหรับใน ค.ศ.2002 เป็นที่คาดกันว่ากฎหมายลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) จะผ่านการรับรองจากสภานิติบัญญัติ และมีการประกาศใช้จึงคาดหมายว่าเทคโนโลยี PKI (Public Key Infrastructure) และเทคโนโลยีลงลายมือชื่อ Digital, การรับรองลายมือชื่อ Digital ก็จะเป็น key word อีกตัวหนึ่งซึ่งจะกระตุ้นให้การภาคธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะการทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) มีการขยายตัวเพิ่มมากยิ่งขึ้น" ดร.โกเมนกล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ :

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มบริษัทซีดีจี

คุณชุติมา สีดา

คุณสุชาดา ลอยหา

โทร. 678-0200 ต่อ 2997-9

e-maili : [email protected] จบ--

-อน-