กรุงเทพฯ--3 ม.ค.--ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย)
มร.เดวิด สไนเดอร์ กรรมการบริหารฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ (สหรัฐอเมริกา) ซึ่งดูแลธุรกิจของ ฟอร์ดและมาสด้า ในภูมิภาค เอเซีย แปซิฟิค ให้การต้อนรับ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้าพบปะ เพื่อร่วมหารือในข้อตกลงความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมอาเซียน (AICO) ระหว่างประเทศไทยกับฟิลิปปินส์ เกี่ยวกับการผลิตรถบรรทุกและรถยนต์นั่งของฟอร์ด ความร่วมมือนี้จะส่งผลให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำในภูมิภาค และสร้างความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจยานยนต์ เนื่องจากจำนวนการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ในปริมาณมาก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนภายในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา หรือประมาณ 5.4 หมื่นล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า
การพบปะกันระหว่าง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร กับผู้บริหาร ฟอร์ด มอเตอร์ (สหรัฐอเมริกา) จัดขึ้นในโอกาสงานเลี้ยงรับรอง ของสมาคมธุรกิจสหรัฐ – อาเซียน เพื่อเป็นเกียรติในการเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ และพบปะสนทนากับประธานาธิบดี จอร์จ บุช
ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมในกลุ่มประเทศอาเซียน (AICO) ที่ฟอร์ด ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2544 ช่วยให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมในภูมิภาคนี้อย่างรวดเร็ว ช่วยเพิ่มปริมาณการผลิต และยังเป็นตัวกระตุ้นความร่วมมือ ในเรื่องของการลดภาษีการแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนยานยนต์ และรถยนต์สำเร็จรูป ให้เหลือเพียงร้อยละ 0-5 ส่งผลให้ฟอร์ดสามารถวางแผนจัดการการผลิตรถของโรงงานทั้งในไทย และฟิลิปปินส์ ได้อย่างเต็มประสิทธิ-ภาพสูงสุด
ปัจจุบัน โรงงานของทั้ง 2 ประเทศ ต่างก็ผลิตรถรุ่นเดียวกันทั้งเก๋งและกระบะ เมื่อฟอร์ดได้เข้าสู่ ข้อตกลงความร่วมมือ AICO จะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรได้อย่าง คุ้มค่ามากที่สุด ทั้งทรัพยากรบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญการผลิตเฉพาะด้าน และการใช้ทรัพยากรจากผู้ผลิตชิ้นส่วน ซึ่งการผลิตในปริมาณมากขึ้น ช่วยทำให้ต้นทุนการผลิตลดต่ำลงตามไปด้วย
ภายใต้ข้อตกลง AICO ฟอร์ดมีแผนการย้ายฐานการผลิตรถกระบะขนาด 1 ตัน ฟอร์ด เรนเจอร์ จากประเทศฟิลิปปินส์ มายังประเทศไทย และย้ายฐานการผลิตรถยนต์นั่ง ฟอร์ด เลเซอร์ จากประเทศไทย ไปยังประเทศฟิลิปปินส์ โดยจะเริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นไป
โรงงานออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นฐานการผลิตรถฟอร์ด และมาสด้า จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับประเทศไทย ในฐานะศูนย์กลางการผลิตรถกระบะส่งออกไปทั่วทั้งภูมิภาค รวมถึงแผนการในอนาคต ด้วยการเพิ่มศักยภาพการผลิตรถกระบะหลากหลายรูปแบบมากขึ้นเพื่อส่งออกไปทั่วโลก
นับตั้งแต่ปีหน้า การแลกเปลี่ยนสินค้าที่มีมูลค่าใกล้เคียงกัน ภายใต้ข้อตกลง AICO ของฟอร์ด จะช่วยให้ประเทศไทยส่งออกรถกระบะไปยังฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นกว่า 2,000 คัน รวมถึงการที่ฟิลิปปินส์ ต้องสั่งนำเข้าชิ้นส่วนสำหรับประกอบรถเก๋งจากประเทศไทย ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มปริมาณการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ได้มากขึ้น
“การบรรลุข้อตกลงความร่วมมือ AICO ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ เป็นเรื่องที่สร้างความยินดีให้กับฟอร์ดเป็นอันมาก” มร.สไนเดอร์ กล่าว “เราขอแสดงความชื่นชมต่อรัฐบาลไทย ภายใต้การบริหารของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่แสดงวิสัยทัศน์ และมองการณ์ไกลเพื่ออนาคตของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย”
“การที่ฟอร์ดได้เข้าสู่ข้อตกลงความร่วมมือ AICO ด้วยการเริ่มแลกเปลี่ยนรถยนต์สำเร็จรูประหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ จะเป็นการปูพื้นฐานเข้าสู่การเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน AFTA ที่จะเริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2546 ในช่วงเวลาหนึ่งปีนับจากนี้ ถือเป็นการทดลองและเตรียมพร้อมทั้งในเรื่องของการแลกเปลี่ยนสินค้า และกำหนดปริมาณการผลิตที่เหมาะสมกับแต่ละประเทศ การที่รัฐบาลไทยลงนามข้อตกลงในครั้งนี้ เป็นการชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไทย มีความพร้อมที่จะเป็นผู้นำของภูมิภาคอาเซียน ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศในกลุ่มสมาชิก ได้เห็นถึงประโยชน์จากการเปิดเขตการค้าเสรี ที่จะส่งผลดีไปถึง อุตสาหกรรมยานยนต์ของภูมิภาคนี้ การตัดสินใจอย่างมั่นใจของรัฐบาลไทย ยังส่งผลดีไปถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ให้หันกลับมามองภูมิภาคอาเซียนอีกครั้ง หลังจากที่นักลงทุนเริ่มที่จะให้ความสนใจประเทศจีนเพิ่มมากขึ้น นับตั้งแต่จีนได้รับการตอบรับเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก WTO ” มร.สไนเดอร์ กล่าวเสริม
“ฟอร์ด ประเทศไทย มิได้มีบทบาทสำคัญแต่เพียงแค่ในภูมิภาคอาเซียนเท่านั้น แต่ยังเป็นกำลังสำคัญของฟอร์ดในระดับโลกอีกด้วย” มร.สไนเดอร์ กล่าวด้วยความมั่นใจว่า หากไม่นับรวมโรงงานในประเทศสหรัฐ ประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตรถกระบะที่ใหญ่ที่สุดในโลกของฟอร์ด มีศักยภาพในการทำตลาดสูงมาก ฟอร์ดลงทุนในการสร้างโรงงานที่ถือว่ามีความทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในจังหวัดระยองมีมูลค่าถึง 500 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยนับหมื่นล้านบาท ส่งออกรถกระบะไปทั่วโลกกว่า 130 ประเทศ รวมถึงสำนักงานใหญ่ ของ ฟอร์ด อาเซียน โอเปอเรชั่นส์ ก็ตั้งอยู่ในประเทศไทย เป็นศูนย์กลางของทีมงานจากภูมิภาคอาเซียน ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มาทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความ แข็งแกร่งให้กับฟอร์ด
ฟอร์ด นับเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมยานยนต์ ในการเข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนการเปิดการค้าเสรีอย่างเต็มรูปแบบ อันจะส่งผลดีโดยรวมต่อภาคการผลิต ช่วยให้เกิดการผลิตในปริมาณที่มาก คุ้มค่ากับต้นทุนการผลิต สูงสุด และผลต่อเนื่องที่สำคัญก็คือลูกค้าจะได้รับแต่สินค้าที่มีความคุ้มค่าสูงสุด--จบ--
-สส-