กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--ไอทีพีซีเน็ตเดย์
ไอทีพีซีเดินหน้าขยายเครือข่ายโรงเรียนภายใต้โครงการไอทีพีซีเน็ตเดย์ เพิ่มอีก 20 โรงเรียนทั่วประเทศในปีนี้ จากเดิมตั้งติดไปแล้ว 28 โรงเรียนนับจากเริ่มต้นโครงการ
ราชดำเนิน: มรกต คนึงสุขเกษม ประธานชมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ และหัวหน้าโครงการไอทีพีซีเน็ตเดย์ กล่าวว่า เนื่องจากเทคโนโลยี โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต ได้เข้ามามีบทบทในชีวิตประจำวันคนเรามากขึ้นทุกวินาที แม้ว่าหลายคนจะยอมรับว่าเทคโนโลยี และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั้นกลายเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิต แต่ใช่ว่าทุกคนจะมีโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้
ในปัจุบันแม้ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกายังประสบปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ไม่เท่าเทียมกันของคนในเมืองกับคนในชนบท เช่นกันกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันประชากรอินเทอร์เน็ตเกือบทั้งหมดล้วนอยู่ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ๆ ประชากรอินเทอร์เน็ตที่เป็นเด็กเยาวชน อนาคตของชาติ ส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง
อินเทอร์เน็ตนำมาซึ่งประเด็นของ "การมีกับการไม่มี" "การเข้าถึงกับการเข้าไม่ถึง" "การได้ใช้และการไม่ได้ใช้"เทคโนโลยีตลอดจนอุปกรณ์ไฮเทคระหว่างคนในเมืองกับคนในชนบท หรือที่เรียกว่า Digital Divide
และเพื่อหวังที่ลดช่องว่างตรงนี้ลง ทางชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Press Club: ITPC) จึงจัดตั้ง "โครงการไอทีพีซีเน็ตเดย์" (ITPC Netday) ขึ้น เพื่อนำอินเทอร์เน็ตเข้าสู่โรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศ เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสใช้ประโยชน์จากเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทั้งในแง่ของการเสริมสร้างและพัฒนาความสามารถของนักเรียนโดยใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือ การเพิ่มทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยี และอินเทอร์เน็ต ตลอดจนส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้ และเรียนรู้ที่จะค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตนเอง ทั้งจากแหล่งข้อมูลในหนังสือ ในห้องสมุด รวมถึงแหล่งรวมข้อมูลจำนวนมากบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นปีที่ 4 แล้ว โดยที่ผ่านมามีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 28 โรงเรียน
สำหรับปีนี้ ทางโครงการกำหนดที่จะนำระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไปติดตั้งให้ โรงเรียนในพื้นที่กลุ่มเป้าหมายจำนวน 20 โรงเรียนทั่วประเทศ โดยได้รับความร่วมมือจาก กรมสามัญศึกษา และบริษัท กลุ่มองค์กรในอุตสาหกรรมไอทีที่ให้การสนับสนุน โดยมอบอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ต รวมถึงสิ่งของต่างๆ ที่ใช้ในการทำกิจกรรมกับโรงเรียนในโครงการไอทีพีซีเน็ตเดย์ (ตามเอกสารแนบ)
"โครงการไอทีพีซี เน็ตเดย์ เป็นเสมือนศูนย์กลางการรวมตัวของผู้มีจิตศรัทธา ต้องการจะส่งเสริมเยาวชนไทยในโรงเรียนมัธยมศึกษาได้สัมผัสกับอินเทอร์เน็ต โดยชมรมฯ จะกระจายข่าวไปยังบริษัท ห้างร้านที่อยู่ในธุกริจไอที และอินเทอร์เน็ต ตลอดจนประชาชนทั่วไป ให้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนโครงการ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อาทิ ฮับ โมเด็ม ยูพีเอส อินเทอร์เน็ต แอคเคาน์ หรืออื่นๆ รวมทั้งแรงกายแรงใจ ในรูปแบบของอาสาสมัครส่วนบุคคล หรือองค์กรที่เข้ามาร่วมติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ต" มรกตกล่าว
ซึ่งโรงเรียนที่จะเข้าร่วมโครงการจะมีคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในสภาพพร้อมติดตั้งอยู่แล้วไม่ต่ำกว่า 5 เครื่อง สภาพพร้อมใช้ และบุคลากรในโรงเรียนกระตือรือร้นที่จะขยายประสิทธิภาพการใช้งานสู่ระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อเพิ่มโอกาสให้แก่นักเรียน ครูอาจารย์ และชุมชน โดยรูปแบบของการทำกิจกรรม จะทำในลักษณะการให้ความรู้เยาวชนในโครงการเกี่ยวกับการใช้งานอินเทอร์เน็ต และความรู้พื้นฐานในการใช้งานคอมพิวเตอร์
สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานของโครงการการไอทีพีซีเน็ตเดย์โดยเริ่มจากประสานไปยังกรมสามัญศึกษาให้ช่วยแจ้งไปยังสำนักงานสามัญศึกษาจังหวัด (สศจ.) ทั้ง 20 จังหวัดทั่วประเทศในการพิจารณาคัดเลือกโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาขนาดกลางลงมาถึงขนาดเล็กที่พอมีศักยภาพในระดับหนึ่ง คือมีคอมพิวเตอร์ที่ใช้สำหรับการเรียนการสอนจำนวนไม่น้อยกว่า 5 เครื่อง มีวิชาที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์บรรจุอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนปัจจุบันและจะต้องมีโทรศัพท์สำรองจำนวน 1 คู่สาย สำหรับใช้ต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ต
"หลังจากได้รายชื่อโรงเรียนของแต่ละจังหวัดมาแล้ว ทางโครงการก็จะส่งอาสาสมัครจำนวนหนึ่งไปสำรวจเพื่อดูความพร้อมของทางโรงเรียนและตรวจเช็คสภาพเครื่องคอมพิวเตอร์ว่าจะสามารถติดตั้งระบบแลนและอินเทอร์เน็ตได้หรือไม่ ตลอดจนพิจารณาวิสัยทัศน์ของผู้บริหารรวมอาจารย์ผู้รับผิดชอบ และให้ทางโรงเรียนเขียนโครงการขึ้นมา 1 โครงการว่าจะนำคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นต่อครู นักเรียน และชุมชนเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาคัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการไอทีพีซีเน็ตเดย์ ปี 2544"
เมื่อโรงเรียนในแต่ละจังหวัดส่งตัวโครงการดังกล่าวมายังโครงการไอทีพีซีเน็ตเดย์แล้วทางคณะทำงานไอทีพีซีเน็ตเดย์ รวมถึงอาสาสมัครที่เดินทางไปสำรวจโรงเรียนของแต่ละจังหวัดจะมาพิจารณาคัดเลือกโรงเรียนที่จะเข้าร่วมโครงการฯร่วมกัน ซึ่งในระยะเวลาดังกล่าวทางโครงการก็จะไปขอความสนับสนุนไปยังองค์กร บริษัทต่างๆ ในแวดวงธุรกิจด้านไอทีในการให้การสนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องมือ สิ่งของต่างๆ ที่ใช้ในการติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ตให้กับโรงเรียน รวมทั้งการหาอาสาสมัครทั้งด้านเทคนิค กิจกรรม และทีมอบรมเข้าร่วมโครงการทั้งจากส่วนกลางคือกรุงเทพและปริมณฑล และในต่างจังหวัด
หลังจากมีการพิจารณาโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการครบทั้ง 20 จังหวัด และรวบรวมอุปกรณ์ได้จำนวนหนึ่งแล้วก็จะประสานงานไปยังโรงเรียนเพื่อแจ้งกำหนดการเดินทางไปติดตั้งในแต่ละโรงเรียน สำหรับการออกติดตั้งและทำกิจกรรมกับโรงเรียนในแต่ละจังหวัดนั้นจะทำช่วงวันเสาร์ -อาทิตย์ ทั้งนี้เนื่องจากอาสาสมัครของโครงการไอทีพีซีเน็ตเดย์ส่วนใหญ่จะมีงานประจำอยู่แล้ว จึงต้องสละเวลา และแรงกาย ไปช่วยในการติดตั้งและทำกิจกรรมกับโรงเรียนได้ในช่วงเสาร์-อาทิตย์เท่านั้นสำหรับการดำเนินงานของโครงการไอทีพีซีเน็ตเดย์ในปีนี้ดำเนินการติดตั้งและทำกิจกรรมกับโรงเรียนไปแล้วทั้งสิ้น 4 โรงเรียนจาก 20 โรงเรียนทั่วประเทศ
ท่านที่สนใจจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับความรู้ ความสามารถด้านอินเทอร์เน็ตของเยาวชนไทยเชิญสมัครเป็นอาสาสมัครโครงการไอทีพีเน็ตเดย์เพื่อเดินทางไปติดตั้งและทำกิจกรรมกับโรงเรียน หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ของโครงการฯ www.netdaythai.org
หมายเหตุ: รายชื่อผู้สนับสนุนโครงการไอทีพีซีเน็ตเดย์ปี2544 อยู่ในเอกสารแนบ "บริษัทที่ให้การสนับสนุนโครงการไอทีพีซีเน็ตเดย์ ประจำปี 2544"
รายละเอียดเพิ่มเติม
สามารถติดต่อได้ที่
สุวิทย์ ตราสุวรรณ์
ผู้ประสานงานโครงการไอทีพีซีเน็ตเดย์
โทรศัพท์ 0-2281-5278
โทรสาร 0-2280-0337(ยังมีต่อ)
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit