ไทยพาณิชย์ ประกาศผลประกอบการและฐานะการเงินสำหรับงวดครึ่งแรกของปี 2544 ก่อนการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีอิสระ

20 Jul 2001

กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--ไทยพาณิชย์

สรุปผลประกอบการที่สำคัญในงวดครึ่งแรกของปี 2544 ก่อนการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีอิสระ

ธนาคารไทยพาณิชย์ แจ้งผลประกอบการเบื้องต้นก่อนการตรวจสอบสำหรับงวดบัญชีครึ่งแรกของปี 2544 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 1,104 ล้านบาทเทียบกับกำไรสุทธิ 2,033 ล้านบาทในงวดเดียวกันของปี 2543 โดยเป็นกำไรสุทธิในไตรมาส 1/2544 จำนวน 559 ล้านบาท และไตรมาส 2/2544 จำนวน 545 ล้านบาท (ไตรมาส 1/2543 จำนวน 1,319 ล้านบาทและไตรมาส 2/2543 จำนวน 714 ล้านบาท) ในงวดนี้ ธนาคารตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 3,536 ล้านบาท เป็นการตั้งเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 จำนวน 1,698 ล้านบาท โดยเป็นการตั้งสำรองทั่วไปเพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและแนวโน้มการเสื่อมคุณภาพของลูกหนี้ที่เป็นปัญหาที่ยังควรต้องระมัดระวังอยู่ หากพิจารณาผลกำไรก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญแล้ว ในงวดครึ่งแรกของปี 2544 ธนาคารมีกำไรก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 4,640 ล้านบาท เทียบกับ 6,491 ล้านบาทในงวดเดียวกันของปี 2543 ทั้งนี้กำไรในงวดครึ่งแรกของปี 2543 ได้รวมผลของกำไรพิเศษจากการเปลี่ยนมาตรฐานการบัญชีจำนวน 1,405 ล้านบาท

รายการที่สำคัญมีดังต่อไปนี้

1. รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิ ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิจากดอกเบี้ยจ่าย ก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ในงวดครึ่งปีนี้จำนวน 8,038 ล้านบาท (เฉพาะไตรมาส 2/2544 จำนวน 3,974 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจาก 7,328 ล้านบาทในงวดครึ่งแรกของปี 2543 (3,853 ล้านบาทในไตรมาส 2/2543) เนื่องจากส่วนต่างดอกเบี้ยดีขึ้นเล็กน้อย

2. รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ธนาคารมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจที่มิใช่ดอกเบี้ยซึ่งประกอบด้วยค่าธรรมเนียมต่างๆ กำไรจากการปริวรรต และรายได้อื่นจำนวน 2,834 ล้านบาท (งวดเดียวกันของปี 2543 จำนวน 2,770 ล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นจำนวน 64 ล้านบาท โดยเป็นผลจากรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นจำนวน 140 ล้านบาท ตามปริมาณธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ขณะที่กำไรจากการปริวรรตลดลงจำนวน 153 ล้านบาทตามผลของปริมาณธุรกรรมเงินกู้และเงินโอนต่างประเทศของลูกค้าที่ลดลง กำไรจากการขายและตีราคาหลักทรัพย์ลดลงจาก 1,318 ล้านบาทในงวดครึ่งแรกของปี 2543 เป็นขาดทุน 177 ล้านบาท เนื่องจากในปีก่อนมีกำไรจากการขายหลักทรัพย์รายการใหญ่ ประกอบกับในปีนี้มีขาดทุนจำนวนหนึ่งจากการตีราคาตราสารหนี้อันเนื่องมาจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยในตลาดตราสารหนี้ในเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้ส่วนแบ่งกำไรในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมลดลงจาก 1,693 ล้านบาทในงวดครึ่งแรกของปี 2543 เป็น 421 ล้านบาท

3. ค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ย ธนาคารมีค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยในงวดครึ่งแรกของปีนี้จำนวน 6,476 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 142 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการที่ค่าใช้จ่ายอาคารสถานที่และอุปกรณ์ลดลงและจากการควบคุมค่าใช้จ่ายของธนาคาร

4. ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ธนาคารตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในงวดครึ่งแรกของปี 2544 จำนวน 3,536 ล้านบาท แยกเป็นไตรมาส 1 จำนวน 1,838 ล้านบาท และไตรมาส 2 จำนวน 1,698 ล้านบาท เพื่อให้เป็นไปตามหลักความระมัดระวังยิ่งขึ้นในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ยังควรต้องได้รับการดูแลอย่างระมัดระวัง ทำให้สำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ณ 30 มิถุนายน 2544 มีจำนวนทั้งสิ้น 24,105 ล้านบาท

งบดุล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2544

ธนาคารมีสินเชื่อก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 472,162 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2543 จำนวน 13,689 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 2.8 และมีดอกเบี้ยค้างรับจำนวน 2,402 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากสิ้นปี 2543 จำนวน 453 ล้านบาทธนาคารมียอดเงินฝาก 601,681 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2543 จำนวน 8,574 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.4 ธนาคารมีส่วนของผู้ถือหุ้น 61,734 ล้านบาท มีเงินกองทุนตามกฎหมาย (ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2) รวม 76,310 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 15.6 ของสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งเป็นส่วนของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ประมาณร้อยละ 9.9 ของสินทรัพย์เสี่ยง

สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs)

ธนาคารมียอดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ซึ่งรวมรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงิน ณ สิ้นมิถุนายน 2544 จำนวน 99,553 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.9 ของสินเชื่อรวม ใกล้เคียงกับเมื่อสิ้นไตรมาสที่แล้ว แต่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับ 94,261 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.3 ณ สิ้นปี 2543 เนื่องจากยังคงมี NPLs ใหม่เกิดขึ้นทั้งในส่วนของหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ (Re-entry NPLs) และหนี้มีปัญหารายใหม่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 19 กรกฎาคม 2544--จบ--

-สส-