BOT: ธปท.ชี้แจงเรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณารายงานข้อเท็จจริงกรณี บง.เอกธนกิจ

30 Nov 1999

กรุงเทพ--30 พ.ย.--ธปท.

ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กล่าวโทษอดีตผู้บริหารบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) ตามหนังสือที่ ธปท.ถ.3807/2541 ลงวันที่ 29 กันยายน 2541 และต่อมาพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งฟ้องนายปิ่น จักกะพาก ผู้ต้องหาที่ 1 นายเติมชัย ภิญญาวัฒน์ ผู้ต้องหาที่ 2 นายสำราญ กนกวัฒนาวรรณ ผู้ต้องหาที่ 3 และนอกจากนั้น เห็นว่ามีนิติบุคคลและบุคคลอื่นร่วมกระทำความผิดกับผู้ต้องหาทั้งสามด้วย จึงแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับนิติบุคคลและบุคคลดังต่อไปนี้ในความผิดฐานเป็นตัวการร่วมคือ

1. บริษัทเอกภาค จำกัด โดย นายประโพธ ชุ่มวัฒนะ ผู้แทน และ นายประโพธ ชุ่มวัฒนะ นายวิชัย ศรีไสว กับ นายอภิชาติ จูตระกูล ในฐานะส่วนตัว

2. บริษัทร่วมบริหารธุรกิจ จำกัด โดยนายประโพธ ชุ่มวัฒนะ ผู้แทน และนายประโพธ ชุ่มวัฒนะ กับ นายวิชัย ศรีไสว ในฐานะส่วนตัว

3. ธนาคารอินโดสุเอซ โดยกรรมการผู้มีอำนาจทำการในฐานะผู้แทนนิติบุคคล และในฐานะส่วนตัว และพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้อนุมัติรับซื้อตั๋วแลกเงินจากบริษัท เอกภาค จำกัด และ บริษัท ร่วมบริหารธุรกิจ จำกัด

4. ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) โดยกรรมการผู้มีอำนาจทำการในฐานะผู้แทนนิติบุคคล และในฐานะส่วนตัวและพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้อนุมัติรับซื้อตั๋วแลกเงินจาก บริษัท เอกภาค จำกัดและบริษัท ร่วมบริหารธุรกิจ จำกัด

5. ธนาคารนครธน จำกัด (มหาชน) โดยกรรมการผู้มีอำนาจทำการในฐานะผู้แทนนิติบุคคลและในฐานะส่วนตัวและพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้อนุมัติรับซื้อตั๋วแลกเงินจากบริษัท เอกภาค จำกัด และ บริษัทร่วมบริหารธุรกิจ จำกัด

ต่อมาพนักงานสอบสวนได้แจ้งธนาคารแห่งประเทศไทยว่า หากธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด และประสงค์จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย แจ้งผู้รับมอบอำนาจมาพบและให้การเพิ่มเติมต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้ส่งเอกสารของธนาคารทั้งสามแห่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติรับซื้อตั๋วแลกเงินให้แก่พนักงานสอบสวนแล้วและมอบอำนาจให้นิติกรไปให้การต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2542 ว่า หากการสืบสวนสอบสวนพบว่าบุคคลอื่นใดมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดก็ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

โดยที่พนักงานอัยการไม่ได้ระบุชื่อบุคคลใดในธนาคารอินโดสุเอซ

ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) หรือธนาคารนครธน จำกัด (มหาชน) โดยเฉพาะเจาะจงแต่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจตรวจสอบสามธนาคารดังกล่าว และอาจมีพนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทยมีส่วนเกี่ยวข้องในคดีนี้

ดังนั้นเพื่อความเหมาะสม ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้แจ้งให้ผู้ช่วยผู้ว่าการด้านกฎหมาย ดำเนินการร่วมกับสายกำกับสถาบันการเงินตรวจสอบทั้งสามธนาคารดังกล่าวไปแล้ว เพื่อพิจารณาว่าธนาคารดังกล่าวได้ดำเนินการธุรกิจซื้อลดและขายตั๋วเงินไปนั้นเป็นธุรกรรมปกติของธนาคารพาณิชย์หรือไม่ และมีพนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทยมีส่วนร่วมเกี่ยวข้องเป็นตัวการร่วมกระทำผิดกับผู้ต้องหาทั้งสามหรือไม่ และมีคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับธุรกิจการซื้อลดและขายตั๋วเงินเรื่องนี้ประการใด การทำธุรกิจดังกล่าวของธนาคารพาณิชย์เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกับคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวหรือไม่

เมื่อได้รับรายงานจากสายกำกับสถาบันการเงินเพื่อให้การพิจารณารายงานข้อเท็จจริงดังกล่าวมีความเป็นกลางและมีความเป็นธรรม จึงตั้งบุคคลดังต่อไปนี้เป็นคณะกรรมการพิจารณารายงานข้อเท็จจริงกรณีบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) คือ 1. นายวิษณุ เครืองาม กรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ประธานกรรมการ 2. นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม กรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กรรมการ 3. นางธัญญา ศิริเวทิน รองผู้ว่าการ (บริหาร) กรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย 4. นายรัฐกรณ์ นิ่มวัฒนา ผู้ช่วยผู้ว่าการ ด้านกฎหมาย กรรมการและเลขานุการ

ให้คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ในการสอบข้อเท็จจริงว่า ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ทั้งสามแห่ง และเป็นผู้บริหารของธนาคารแห่งประเทศไทยขณะนี้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจซื้อลดและขายตั๋วเงินกับบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) หรือไม่ และให้รายงานผลการ พิจารณารายงานข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยเร็ว ทั้งนี้ให้พนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความร่วมมือและให้ข้อมูลแก่คณะกรรมการดังกล่าวด้วย--จบ--