กรุงเทพ--29 มี.ค.--เนสท์เล่
ทารกและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบทั่วโลกมีอัตราการตายและพิการสูง ทารกที่เกิดมามีน้ำหนักต่ำกว่า 2,500 กรัม มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ พิการ และอาจตายได้ในที่สุด ยูนิเซฟและประเทศต่างๆ ทั่วโลกวิเคราะห์พบว่าสาเหตุหลักมาจากทุพโภชนาการและโรคติดเชื้อ และกำลังจะเป็นปัญหาใหญ่ของโลก ควรเร่งหาแนวทางแก้ไข พบคำตอบได้ในการประชุมเรื่องโภชนาการ ภูมิคุ้มกันโรค และโรคติดเชื้อในทารกและเด็ก 29 มีนาคม - 1 เมษายน 2542 นี้ ที่โรงแรมแชงกรีล่า กรุงเทพฯ
ศ. นพ. ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ขณะนี้อัตราการตายของทารกและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ มีแนวโน้มสูงขึ้นเนื่องจากทุพโภชนาการและเป็นโรคติดเชื้อ จนเป็นปัญหาสำคัญที่องค์การยูนิเซฟและประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังวางแผนแก้ไขและป้องกันปัญหาทุกระดับตั้งแต่บุคคล ครอบครัว ชุมชน และในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งนี้เพราะความตายและความพิการที่เกิดจากสาเหตุดังกล่าวสามารถที่จะป้องกันได้ในเด็ก โดยกำหนดเป้าหมายที่จะลดอัตราการตายของทารกและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบให้ได้หนึ่งในสามภายในปี 2000
ทุพโภชนาการในทารกและเด็กมีสาเหตุมาจากการได้รับอาหารไม่เพียงพอทั้งปริมาณและคุณภาพ รวมไปถึงอาหารที่มีการปนเปื้อนจากเชื้อจุลินทรีย์และอื่นๆ ผลจากทุพโภชนาการไม่ว่าจะเป็นในระดับเริ่มต้น ปานกลาง หรือรุนแรง จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดโรคติดเชื้อได้ ยิ่งถ้าอยู่อาศัยในภาวะแวดล้อมที่สุขอนามัยไม่ดีแล้ว การเจ็บป่วยจะเกิดขึ้นได้ง่ายหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมในระยะแรกแล้วการเจ็บป่วยก็จะเป็นมากขึ้น ทุพโภชนาการก็จะเป็นรุนแรงขึ้น จนในที่สุดโรคติดเชื้อและทุพโภชนาการจะนำไปสู่การตายหรือทำให้พิการได้
องค์การอนามัยโรคได้ประมาณการว่าในแต่ละปีจะมีทารกที่เกิดมามีน้ำหนักต่ำกว่า 2,500 กรัม (Low birth weight) ถึง 25 ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 95 เกิดขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนา ทารกที่เกิดมามีน้ำหนักต่ำจะมีอัตราการตายสูงมาก และมีภาวะแทรกซ้อนรวมถึงโรคติดเชื้อได้ง่าย และยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเติบโตหรือการขาดโปรตีนในวัยเรียนและวัยต่อๆ มา
"เด็กที่รอดตายจำนวนมากมีการเติบโตชะงักงันไม่เป็นไปตามศักยภาพทั้งน้ำหนักและความสูง โรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นทำให้มีการเบื่ออาหาร กินอาหารได้น้อยลง การย่อยและดูดซึมอาหารลดลง มีการเปลี่ยนแปลงการครองธาตุในร่างกาย มีการสูญเสียสารอาหาร และต้องการสารอาหารมากขึ้น"
ขณะนี้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบขาดโปรตีน พลังงานที่แสดงออกในรูปน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ถึง 168 ล้านคนทั่วโลก หรือร้อยละ 27 ของเด็กวัยนี้ โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 70 เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะในเอเชียใต้จะมีเด็กวัยนี้ที่น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ถึง 85 ล้านคน หรือร้อยละ 50 ของปัญหา ถ้าใช้ความสูงเป็นเกณฑ์จะมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบเตี้ยแกรนถึง 206 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดที่เอเชียใต้ อาฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปัญหาโภชนาการที่สำคัญในทารกและเด็กคือ การขาดโปรตีนและพลังงาน การขาดจุลโภชนาการ เช่น ธาตุเหล็ก ไอโอดีน วิตามินเอ สังกะสี เป็นต้น สำหรับโรคติดเชื้อที่สำคัญในวัยเด็กได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัด โรคเอดส์ มาลาเรีย และวัณโรค เป็นต้น
การขาดธาตุเหล็กทำให้เกิดโรคโลหิตจาง การขาดไอโอดีนทำให้เกิดปัญญาอ่อน และคอพอก การขาดวิตามินเอที่รุนแรงจะทำให้ตาบอด ส่วนการขาดสารอาหารอื่นๆ เช่น สังกะสีจะทำให้การเติบโตโดยเฉพาะความสูงและภูมิต้านทานโรคต่ำลง การขาดกรดโฟลิคในแม่ขณะตั้งครรภ์ทำให้เกิดความผิดปกติของระบบประสาท
ผลเสียและภาวะที่เกิดจากทุพโภชนาการและโรคติดเชื้อในทารกและเด็กมีมากมาย ถ้ารุนแรงก็ทำให้ถึงแก่ความตาย หรือก่อให้เกิดความพิการ เช่น ตาบอด ตัวเตี้ยแคระแกรน ปัญญาอ่อน เป็นต้น ถ้าเป็นไม่มากก็จะมีผลทำให้การเรียนรู้และประสิทธิภาพในทางกายภาพลดลง เช่น เด็กที่มีโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กก็จะมีการพัฒนาการและการเรียนรู้ต่ำกว่าปกติถึง 10 จุด หรือ เด็กที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการขาดไอโอดีนก็จะมีไอคิวต่ำกว่าเด็กในพื้นที่ปกติถึง 11.5 จุด เป็นต้น ได้ประมาณการกันว่าที่อินโดนีเซียประเทศเดียวจะมีการสูญเสียไอคิวไปถึง 140 ล้านจุด เนื่องจากการขาดไอโอดีน
สำหรับประเทศไทยนั้นได้วางแผนและป้องกันปัญหาทุพโภชนาการและโรคติดเชื้อในทารกและเด็กมาโดยตลอด โครงการที่ประสบความสำเร็จก็คือ การเติมไอโอดีนลงในไข่และเกลือนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยก็ยังต้องพัฒนางานวิชาการเพื่อนำไปสู่การรักษา ป้องกัน และควบคุมปัญหาทุพโภชนาการและโรคติดเชื้อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
เรื่องราวของทุพโภชนาการและโรคติดเชื้อในเด็กซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ของโลก จะเป็นหัวข้อหนึ่งในการประชุมปฏิบัติการทางโภชนาการเนสท์เล่ ครั้งที่ 45 ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 29 มีนาคม - 1 เมษายน 2542 นี้ ที่โรงแรงแชงกรีล่า กรุงเทพฯ
ในการประชุมดังกล่าวนี้ จะมีแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการจากสหรัฐอเมริกา แคนาดา และสหราชอาณาจักร มาร่วมเป็นวิทยากรเผยแพร่ความรู้ต่างๆ อาทิ เรื่องระบบภูมิคุ้มกันและวิธีการประเมินผลกระทบของภาวะโภชนาการที่มีต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เด็กขาดสารอาหาร ผลกระทบของการติดเชื้อต่อภาวะโภชนาการ โรคอะนอเร็กเซียและไซไตไคน์ การตอบสนองอย่างเฉียบพลันต่อโรคติดเชื้อ ทารกที่น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ภาวะการกินผิดปกติ การแพ้อาหารและโรคติดเชื้อที่มีต่อภูมิคุ้มกันและการติดเชื้อ ฯลฯ เป็นต้น--จบ--