กรุงเทพ--22 ก.ค.--ตลท.
ผลการวิจัยจากวิกฤติการณ์ทางการเงินปี 2540 ที่ใช้ข้อมูลจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ และข้อมูลจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในการศึกษา พบสัญญาณเตือนภัย และแบบจำลองที่จะใช้ทำนายโอกาสที่ระบบเศรษฐกิจ จะพบกับวิกฤติด้านธนาคารหรือด้านอัตราแลกเปลี่ยน (ระดับมหภาค) และโอกาสที่บริษัทจะพบวิกฤติทางการเงิน (ระดับจุลภาค) ได้ล่วงหน้า 1 ปี โดยจากการวิเคราะห์บริษัทจดทะเบียนพบว่าร้อยละ 11.56 มีความเสี่ยงสูงที่จะประสบวิกฤติทางการเงิน หากไม่เร่งปรับปรุงการบริหารงาน
ดร.สุรัตน์ พลาลิขิต รองผู้จัดการ ผู้ทำการแทนผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยในการแถลงข่าวร่วมกับสมาคมบริษัทจดทะเบียนเกี่ยวกับผลการวิจัยเรื่อง "แบบจำลองและสัญญาณเตือนภัยภาวะวิกฤติระดับมหภาคและจุลภาค" อันเป็นบทวิจัยที่สมาคมบริษัทจดทะเบียนเป็นผู้สนับสนุนการวิจัยว่าการวิจัยดังกล่าวเป็นงานที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อทั้งภาครัฐที่เป็นผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจ และต่อภาคเอกชนในเชิงของการขยาย และปรับปรุงการดำเนินธุรกิจ และการบริหารเงินทุน นอกจากนี้ ผู้บริโภคและผู้ลงทุนทั่วไป ยังได้รับประโยชน์จากผลการวิจัยนี้ ในการวางแผนการออม การลงทุนและการบริโภคของตนได้ ในระดับจุลภาคการวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลโดยเฉพาะตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการที่จะใช้แบบจำลองดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบสถานะทางธุรกิจและการเงินของบริษัทจดทะเบียน นอกจากนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อบริษัทจดทะเบียน และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ในการประเมินว่าบริษัทมีความเสี่ยงต่อวิกฤติการณ์ทางการเงินหรือไม่ และควรที่จะต้องมีการปรับปรุงการบริหารงานอย่างไรให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น "การเสริมสร้างความเข้มแข็งและความโปร่งใสในการบริหารงานให้กับบริษัทจดทะเบียนเป็นนโยบายสำคัญของตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว ดังนั้นบทวิจัยนี้ จึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับทั้งบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และกับบริษัทที่เตรียมตัวที่จะเข้ามาจดทะเบียน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจทั่วไป หรือธุรกิจ SME ที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ใหม่ หรือ MAI ในการที่จะนำข้อมูลดังกล่าวไปพิจารณาประกอบการประเมินสถานการณ์ของธุรกิจของตน และแก้ไขสถานการณ์ของบริษัทได้อย่างทันท่วงทีหรือมิให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจของตนและระบบเศรษฐกิจในภายหลังซึ่งการศึกษาวิจัยที่เป็นประโยชน์เช่นนี้ ตลาดหลักทรัพย์ยินดีที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ นอกเหนือจากการสนับสนุนทุนวิจัยด้านตลาดทุนประจำปีมาอย่างต่อเนื่อง" ดร.สุรัตน์กล่าว
นายประกิต ประทีปะเสน นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียน กล่าวว่า วิกฤติการณ์ทางการเงินในปี 2540 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ บริษัทจำนวนมากทั้งที่จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ต้องประสบปัญหาอย่างรุนแรงทั้งด้านธุรกิจและการเงิน "หากประเทศไทยมีระบบสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าว่าจะเกิดวิกฤติดังกล่าวขึ้น และช่วยกันแก้ไขป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติดังกล่าวขึ้น ก็จะช่วยให้ประเทศของเราไม่ต้องสูญเสียมากมายเช่นที่ผ่านมา ดังนั้น สมาคมบริษัทจดทะเบียน จึงได้ให้การสนับสนุนโครงการวิจัยเรื่อง แบบจำลองและสัญญาณเตือนภัยภาวะวิกฤตระดับมหภาคและจุลภาคขึ้นมา โดยมี ดร.สันติ ถิรพัฒน์ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.เอกชัย นิตยาเกษตรวัฒน์ และดร.ประดิษฐ์ วิธิศุภกร อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นคณะผู้ดำเนินโครงการวิจัยและมี รศ.ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาการวิจัย" ผลการศึกษาทำให้ได้แบบจำลองการคาดการณ์วิกฤติการณ์ที่มีความสามารถในการทำนายวิกฤติการณ์ระดับมหภาค (โอกาสที่ระบบเศรษฐกิจจะพบกับวิกฤติด้านธนาคาร และ/หรือ วิกฤติอัตราแลกเปลี่ยน) และแบบจำลองที่สามารถทำนายวิกฤติการณ์ระดับจุลภาค (โอกาสที่บริษัทแต่ละบริษัทจะพบวิกฤติทางการเงิน) ได้ล่วงหน้าประมาณ 1 ปี ซึ่งจากการนำแบบจำลองที่ได้จากการศึกษามาวิเคราะห์บริษัทจดทะเบียนที่ไม่ใช่สถาบันการเงินจำนวน 346 บริษัทพบว่ามีบริษัทจดทะเบียน 40 บริษัทหรือร้อยละ 11.56 ของบริษัทจดทะเบียน ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน มีความเสี่ยงสูงที่จะประสบปัญหาวิกฤติทางการเงิน หากไม่สามารถปรับปรุงการดำเนินงานและสถานะทางการเงินให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
"ผลการวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมาก หากทั้งผู้บริหารประเทศ ประชาชนที่มีหน้าที่เลือกผู้บริหารและนโยบายในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ นักธุรกิจและนักลงทุน ได้นำสิ่งที่เรียนรู้จากวิกฤติการณ์ที่เคยเกิดขึ้นไปใช้ เพื่อสร้างสัญญาณเตือนภัยและภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ รวมทั้งภูมิคุ้มกันทางธุรกิจ เพื่อให้ผู้บริหารประเทศและนักธุรกิจรุ่นต่อ ๆ ไป ของประเทศไทย มีการตัดสินใจวางนโยบายและบริหารงานโดยพิจารณาทั้งในด้านของเป้าหมายการเติบโต และด้านของความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศไทย มีความรุ่งโรจน์ ยั่งยืนและเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง" นายประกิตกล่าว
สำหรับผู้สนใจผลการวิจัยดังกล่าว สามารถศึกษาข้อมูลและรายละเอียดได้ที่ห้องสมุดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถนนรัชดาภิเษก หรือ ติดต่อสมาคมบริษัทจดทะเบียนโดยตรงที่โทร.229-3143--จบ--