กรุงเทพ--16 มี.ค.--กบส.
คณะกรรมการบริหารสินเชื่อเกษตรแห่งชาติ (กบส.) เผยผลงานแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่เกษตรกร แจงตัวเลขถี่ยิบมีทั้งหนี้นอกระบบ และหนี้ในระบบที่เกิดจากโครงการตามนโยบายรัฐ
นายพิทยาพล นาถธราดล เลขานุการคณะกรรมการบริหารสินเชื่อเกษตรแห่งชาติ (กบส.) เปิดเผยว่าในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรนั้น ได้เริ่มดำเนินการอย่างมีระบบมาตั้งแต่ปี 2536 โดยรัฐบาลซึ่งมีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสินเชื่อเกษตรแห่งชาติ หรือกบส. ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 83/2536 ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2536 โดยได้ดำเนินงานแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรจนถึงปี 2538 คณะกรรมการชุดดังกล่าวถึงพ้นวาระไปตามอายุของรัฐบาล รัฐบาลต่อมาก็แต่งตั้งกบส.อีก แต่ก็หมดวาระไปตามอายุของรัฐบาลเช่นเดียวกัน จนถึงรัฐบาลนายชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง จึงได้มีมติเห็นชอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการบริหารสินเชื่อเกษตรแห่งชาติ พ.ศ. 2541 ให้ กบส. เป็นองค์กรถาวรในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง
นายพิทยาพล เปิดเผยต่อไปว่า ผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหานี้สินของเกษตรกร ตั้งแต่มีการจัดตั้ง กบส. ขึ้นมาในปี 2536 จนถึงปัจจุบัน อาจสรุปได้ดังต่อไปนี้ ระหว่างเดือนมีนาคม 2536-มิถุนายน 2538 ได้จำหน่ายหนี้สูญไป 31 โครงการ เกษตรกร 181,302 ราย จำนวนเงิน 154.16 ล้านบาท มีการปรับปรุงหนี้ 70 โครงการ เกษตรกร 42,673 ราย จำนวนเงิน 2,687.24 ล้านบาท และได้ปลดเปลื้องหนี้สิน ซึ่งเป็นหนี้นอกระบบให้แก่เกษตร 12,674 ราย จำนวนเงิน 1,593.86
สำหรับในช่วงเวลาระหว่างเดือนกันยายน 2538 - ธันวาคม 2539 ได้จำหน่ายหนี้สูญไป 41 โครงการ เกษตรกร 120,000 ราย จำนวนเงิน 445.92 ล้านบาท และได้ปลดเปลื้องหนี้สินซึ่งเป็นหนี้นอกะบบให้แก่เกษตรกร 2,486 ราย จำนวนเงิน 365.39 ล้านบาท รวมเกษตรกรที่ได้รับการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สิน 122,486 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 811.31 ล้านบาท
ส่วนในช่วงเวลาระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2539-ตุลาคม 2540 ไม่มีการจำหน่ายหนี้สูญไม่มีการปรับปรุงหนี้ให้แก่เกษตรกร มีเพียงปลดเปลื้องหนี้สินนอกระบบให้แก่เกษตรกร 324 ราย จำนวนเงิน 79.23 ล้านบาท
นายพิทยาพลกล่าวต่อไปว่า ในช่วงรัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้มีการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรโดยอาศัยกลไกของกบส. ดังนี้ ในด้านการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2542 มีเกษตรกรแจ้งขอความช่วยเหลือ 54,702 ราย จำนวนเงิน 5,094.97 ล้านบาท ได้ดำเนินการแก้ไขโดยผ่านกระบวนการสอบข้อเท็จจริง 37,365 ราย จำนวนเงิน 3,381.20 ล้านบาท และผ่านขั้นตอนการประนอมหนี้แล้ว 7,858 ราย จำนวนเงิน 776.14 ล้านบาท
สำหรับหนี้เงินกู้ในโครงการของรัฐ นายพิทยาพลเปิดเผยว่า มีเกษตรกรแจ้งขอความช่วยเหลือ 10,933 ราย เป็นเงิน 454.66 ล้านบาท ในจำนวนนี้ได้ดำเนินการแก้ไข โดยเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว 9,832 ราย จำนวนเงิน 402.04 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 89.93 แต่เนื่องจากโครงการตามนโยบายรัฐ 4 โครงการ คือ โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ (อีสานเขียว) โครงการส่งเสริมการเลี้ยงไหม โครงการไผ่ตงออกดอก และโครงการส่งเสริมการปลูกมะม่วงหิมพานต์ จะต้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและประเมินศักยภาพ โครงการของเกษตรกรทุกราย ไม่เฉพาะแต่เกษตรกรที่ร้องเรียนเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาพอสมควร แต่อย่างไรก็ตามถึงขณะนี้กบส.ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและประเมินศักยภาพในโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อเสร็จเรียบร้อยแล้วครบ 1,297 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 154.29 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ กบส.พิจารณาต่อไป ส่วนโครงการส่งเสริมการเลี้ยงไหม จำนวน 1,665 ราย เป็นเงิน 227.17 ล้านบาท โครงการไผ่ตงออกดอกจำนวน 4,774 ราย เป็นเงิน 140.45 ล้านบาท และโครงการส่งเสริมการปลูกมะม่วงหิมพานต์ จำนวน 11,409 ราย เงิน 177.05 ล้านบาท นั้น ขณะนี้กำลังเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน เพื่อทยอยเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการของ กบส. พิจารณาให้เสร็จสิ้นทุกโครงการภายในเดือนเมษายนนี้--จบ--
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit