กรุงเทพ--10 ส.ค.--ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น (สหรัฐอเมริกา)
ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น (สหรัฐอเมริกา) ประสบความสำเร็จในการไต่สวนมูลฟ้องในกรณีการติดตั้งซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ลงบนฮาร์ดดิสก์โดยเอเทคคอมพิวเตอร์ โดยภายหลังจากการให้การต่อหน้าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลฯ ได้ลงมติว่าไมโครซอฟท์มีหลักฐานที่ชอบด้วยกฎหมายเพียงพอที่จะยื่นฟ้องร้อง เอเทคในคดีอาญา จากนั้นจึงสั่งให้ยุติการให้การและอนุญาตให้คดีละเมิดลิขสิทธิ์คดีนี้ดำเนินการพิจารณาคดีในชั้นศาลต่อไป โดยกำหนดให้มีการพิจารณาคดีในวันที่ 16 ตุลาคม 2541
คริสโตเฟอร์ ออสติน ทนายตัวแทนของไมโครซอฟท์ประจำประเทศไทย กล่าวชื่นชมการตัดสินครั้งนี้ว่า "เรามีความพอใจเป็นอย่างยิ่งกับคำตัดสินของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และมั่นใจว่าไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น (สหรัฐอเมริกา) จะประสบกับความสำเร็จในการหาข้อยุติให้แก่คดีนี้"
การดำเนินคดีทางกฎหมายกับเอเทคในครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากโครงการทดลองสุ่มซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์จากตัวแทนจำหน่าย (Dealer Test Purchase Program--DTPP) ที่ไมโครซอฟท์ริเริ่มและกำลังดำเนินการอยู่ทั่วโลกในขณะนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ต่อต้านการใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน และในขณะเดียวกันก็เป็นการสนับสนุนตัวแทนจำหน่ายที่สุจริตแต่ไม่สามารถแข่งขันกับดีลเลอร์ที่เกี่ยวข้องกับการก็อปปี้ซอฟต์แวร์บนฮาร์ดดิสก์ได้ ทั้งนี้ ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น (สหรัฐอเมริกา) ได้พัฒนาโครงการ DTPP ขึ้นมาเป็นพิเศษโดยเจาะจงพุ่งเป้าไปที่การกระทำโดยผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการที่รีเซลเลอร์ลักลอบทำสำเนาซอฟต์แวร์ประเภทโปรแกรมประยุกต์สำเร็จรูปและระบบปฏิบัติการบรรจุลงบนฮาร์ดดิสก์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อเป็นเครื่องจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาซื้อเครื่องพีซีจากบริษัทห้างร้านของตน
มร. ออสติน กล่าวเสริมว่ารายงานการสำรวจตลาดหลายฉบับประเมินว่า 8 ใน 10 ของตัวแทนจำหน่ายในกรุงเทพฯ กำลังลักลอบติดตั้งซอฟต์แวร์ล่วงหน้าโดยผิดกฎหมาย ตัวแทนจำหน่ายเหล่านี้ติดตั้งซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายลงบนเครื่องพีซีเครื่องใหม่ โดยที่ไม่มีการมอบข้อตกลงเรื่องการใช้ลิขสิทธิ์ (License Agreement) คู่มือการใช้ต้นฉบับ และแผ่นดิสก์หรือแผ่นซีดีรอมต้นฉบับของซอฟต์แวร์ทุกชนิดที่นำมาติดตั้งไว้บนฮาร์ดดิสก์ให้แก่ผู้ซื้อ
"บทลงโทษที่เข้มงวดรุนแรงเป็นสิ่งจำเป็นในการป้องปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในลักษณะเช่นนี้ บรรดาดีลเลอร์ที่ยังคงเร่งทำสำเนาซอฟต์แวร์ที่ไม่มีลิขสิทธิ์ออกมาคือผู้ที่ทำความเสียหายต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยอย่างใหญ่หลวง พวกเขามิเพียงแต่บั่นทอนความพยายามของดีลเลอร์ที่จำหน่ายซอฟต์แวร์ถูกกฎหมาย แต่ยังทำให้ผู้ที่ต้องการเป็นแหล่งให้บริการทางด้านเทคนิคแก่ผู้ใช้ปลายทางต้องประสบกับความยากลำบากไปด้วย" มร. ออสตินกล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ไมโครซอฟท์ สิงคโปร์ เคนนี่ ชุง โทร. 65 433-5613 e-mail:
[email protected] จบ--