กรุงเทพ--21 ต.ค.--บมจ.ธนาคารไทยทนุ
ไทยทนุประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 ขาดทุน 491 ล้านบาท ผลมาจากการเพิ่มขึ้นของ NPLs และส่วนต่างดอกเบี้ยรับ-จ่ายไม่สมดุลกัน เผยสภาพคล่อง-เงินกองทุนยังหนา คาดไตรมาส 4 ขาดทุนน้อยกว่าไตรมาส 3 สถานการณ์ NPLs เริ่มแผ่ว หลังจากประกาศโครงการ "ไทยทนุเพื่อคุณ" และตั้ง "Hospital Bank" เพื่อช่วยเหลือลูกค้าของธนาคาร
นายพรสนอง ตู้จินดา กรรมการผู้จัดการธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลประกอบการในไตรมาส 3/2541 ว่า จากงบกำไรขาดทุนที่ยังไม่ได้สอบทานและยังไม่ได้ตรวจสอบ ณ 30 ก.ย.41 ว่าธนาคารมีผลขาดทุน จำนวน 491 ล้านบาท เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLs และรายได้จากดอกเบี้ยรับน้อยกว่า ดอกเบี้ยจ่าย หรือ ส่วนต่างของดอกเบี้ยรับและจ่ายไม่มีความสมดุลกัน แต่ธนาคารก็ยังมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่งอยู่ โดย ณ 30 ก.ย.41 ธนาคารสามารถดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามมาตรฐาน BIS ได้ ในอัตราร้อยละ 12.35 ซึ่งสูงกว่าที่ทางการกำหนดในอัตราร้อยละ 8.5
"สำหรับในงวดไตรมาส 3/2541 จากรายงานย่อแสดงหนี้สิน และสินทรัพย์ (ธ.พ.1.1) ณ 30 กันยายน 2541 ธนาคารมีการขยายตัวในด้านต่างๆ พิ่มขึ้นหรือลดลง โดยมียอดสินทรัพย์ จำนวน 142,279 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2540 ในอัตราร้อยละ 11.91 มียอดเงินฝากลูกค้าจำนวน 114,861 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมากจากช่วงเดียวกันในอัตราร้อยละ 5.90
นายพรสนอง กล่าวถึงแนวโน้มของการเพิ่มขึ้นของ NPLs ในธุรกิจธนาคารว่า ยังอยู่ในระดับที่สูงอยู่ อย่างไรก็ตามธนาคารได้ให้ความสำคัญอยู่ตลอดเวลา โดยที่ผ่านมาธนาคารได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วยการตั้ง Hospital Bank และรวมถึงการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลหรือทบทวนขั้นตอนและวิธีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในด้านต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งจะต้องใช้เวลาพอสมควร และธนาคารคาดว่า การเพิ่มขึ้นของ NPLs ในอนาคต จะเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และลดลงภายในปี 2542 และนอกจากนี้ธนาคารได้มีโครงการ "ไทยทนุเพื่อคุณ" ซึ่งเป็นโครงการที่จูงใจ และให้รางวัลแก่ลูกค้าสินเชื่อที่ดีของธนาคารซึ่งมีประวัติในการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง โดยการลดอัตราดอกเบี้ยกู้ให้ในอัตราร้อยละ 0.5-2 ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีมากจากลูกค้าและเชื่อว่าจะสามารถจูงใจลูกค้าจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารต่อไป
"จากแนวโน้มของภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันได้ส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่ายไม่มีความสมดุลกัน ทั้งนี้เพราะธนาคารยังคงมีต้นทุนผลิตเงินฝากโดยเฉลี่ยที่สูงอยู่แต่จะเป็นผลกระทบเพียงชั่วคราวเท่านั้นและคาดว่ารายได้ดอกเบี้ยสุทธิน่าจะดีขั้นภายในสิ้นปีนี้เช่นกัน"
นายพรสนอง กล่าวสรุปในตอนท้ายว่าถ้ามองในแง่ดีแล้วธนาคารจะสามารถแก้ไขปัญหา NPLs ได้อย่างมีประสิทธิภาพและดีขึ้นตามลำดับ เพราะเชื่อว่าทั้งธนาคาร ลูกค้า และธนาคารแห่งประเทศไทยมีความตั้งใจและมุ่งมั่นอย่างแท้จริง ในการร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาและที่สำคัญแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยในประเทศได้เริ่มทยอยลดลงแล้ว ซึ่งเป็นการช่วยสนับสนุนให้การแก้ไขปัญหาง่ายขึ้น และช่วยฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต--จบ--
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit