กรุงเทพ--13 พ.ย.--กปภ.
การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) อนุมัติงบประมาณ 490 ล้านบาท รับซื้อน้ำจากบริษัทเอกชนกว่าหมื่นคิวต่อวัน เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำประปาในจังหวัดภูเก็ต
นายวิเชียร อุดมรัตนะศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการ กปภ.เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลและกระทรวงหมาดไทยได้มีนโยบายที่จะพัฒนาจังหวัดภูเก็ตให้เป็นเมืองนานาชาติ จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในหลาย ๆ ด้าน น้ำประปาก็เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานอีกประการหนึ่งที่จำเป็นต้องเร่งรัดแก้ไขโดยรีบด่วน เพราะภูเก็ตต้องประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำประปามานานแล้ว ปัจจุบันสำนักงานประปาภูเก็ตผลิตน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของประชาชนบนเกาะภูเก็ตและบริการน้ำประปาได้เฉพาะบริเวณตอนกลางและตอนใต้ของเกาะนั้น สำหรับบริเวณหาดป่าตอง กปภ.ยังไม่สามารถให้บริการน้ำประปาได้อย่างเพียงพอ ทั้งๆ ที่บริเวณดังกล่าวเป็นบริเวณที่มีธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก มีความต้องการใช้น้ำสูง และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญสามารถนำเงินตราเข้าสู่ประเทศได้อย่างมหาศาล ดังนั้น สาธารณูปโภคพื้นฐานในพื้นที่ดังกล่าวจึงต้องพร้อมและดีที่สุด ตามสถิติข้อมูลจากสำนักงานประปาภูเก็ต แจ้งว่า ขณะนี้มีผู้ต้องการใช้น้ำบริเวณหาดป่าตองแจ้งความจำนงขอใช้น้ำประปามาแล้วกว่า 150 ราย แต่ กปภ. ไม่มีน้ำประปาเหลือพอที่จะบริการเพิ่มให้ได้ เนื่องจากไม่มีงบประมาณเพียงพอที่ปรับปรุงขยายระบบผลิตให้เพิ่มขึ้นได้
คณะกรรมการ กปภ.จึงได้ประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร่งด่วนและมีมติอนุมัติในหลักการให้ กปภ. รับซื้อน้ำประปาจากบริษัท รีไควร์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ในปริมาณ 10,000 ลบ.ม./วัน ราคา 9.25 บาท/ลบ.ม. (ราคาในปี 2542) และปรับราคาน้ำมันตามดัชนีค่าครองชีพในแต่ละปี มีระยะเวลาซื้อขาย 10 ปี คิดเป็นเงินซื้อน้ำประปารวมทั้งสิ้นประมาณ 490 ล้านบาท โดยจะเป็นการลงทุนในรูปแบบ BOO ซึ่งขณะนี้ กปภ. ก็ได้จัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายน้ำเพื่อเตรียมเสนอให้คณะกรรมการ กปภ.พิจารณาต่อไปแล้ว
นอกจากนี้คณะกรรมการ กปภ.ยังได้กำชับให้ กปภ.ดำเนินการควบคุมการจ่ายน้ำประปาของสำนักงานประปาภูเก็ต บริเวณหาดป่าตองให้มีความสะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน สามารถดื่มได้จากก๊อกทันที
นายวิเชียร อุดมรัตนะศิลป์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อกปภ. รับซื้อน้ำจากบริษัทฯ ในปริมาณ 10,000 ลบ.ม./วัน เพื่อส่งให้สถานี้จ่ายน้ำป่าตองแล้ว กปภ. ก็จะปรับแผนการจ่ยน้ำ โดยนำน้ำส่วนที่เคยผลิตสงให้สถานี้จ่ายน้ำป่าตอง ในปริมาณ 7,000 ลบ.ม./วัน ไปให้บริการในพื้นที่อื่น ๆ เช่น ตำบลฉลอง และหาดาไวย์ ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน--จบ--