กรุงเทพ--17 ก.ย.--บ.เอ็มเอ็มซี สิทธิผล
รถยนต์มิตซูบิชิ รุกตลาดส่งออกอย่างต่อเนื่อง ภายหลังปรับโครงสร้างการดำเนินงานทำให้การทำตลาดส่งออกคล่องตัวมากขึ้น พร้อมขยายตลาดการส่งออกเพื่อระบายสต๊อกรถยนต์นั่ง และรถบรรทุกที่เกินความต้องการภายในประเทศ
ดร.วัชระ พรรณเชษฐ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็มเอ็มซี สิทธิผล จำกัด (DR.VACHARA PHANCHET, EXECUTIVE VICE PRESIDENT OF MMC SITTIPOL CO.,) ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์มิตซูบิชิ ประเทศไทย เปิดเผยถึงตัวเลขการส่งออกของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย ว่า ปัจจุบันบริษัทฯ รถยนต์หลายแห่งต่างเน้นตลาดการส่งออกอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อทดแทนตลาดในประเทศที่หดตัวอย่างต่อเนื่องตามสภาพเศรษฐกิจ สำหรับบริษัท เอ็มเอ็มซี สิทธิผล จำกัด ภายหลังได้ปรับโครงสร้างการดำเนินงาน โดยแบ่งสายงานและให้ความสำคัญกับฝ่ายต่างประเทศที่ดูแลด้านการส่งออก ซึ่งเป็นส่วนหลักที่ทำรายได้ให้บริษัทฯ ในปัจจุบัน ทำให้การดำเนินงาน และการขยายตลาดการส่งออกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น จึงมั่นใจว่าจะสามารถเพิ่มยอดการส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง และครองความเป็นผู้นำด้านการส่งออก แม้ว่าบริษัทอื่น ๆ จะปรับนโยบายมาเน้นการส่งออกรถยนต์แต่ยังคงมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อย เนื่องจากว่าการทำตลาดส่งออกต้องมีความพร้อมและการเตรียมงานเป็นระยะเวลานานพอสมควร
สำหรับการส่งออกของอุตสาหกรรมยานยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2541 มีการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปทั้งสิ้น 5,198 คัน รวมมูลค่า 2,184 ล้านบาท มิตซูบิชิ มียอดการส่งออกเป็นอันดับ 1 คือ 5,039 คัน คิดเป็น 96.94% รวมมูลค่า 2.137 ล้านบาท อันดับ 2 คือฮอนด้า ส่งออกทั้งสิ้น 108 คัน รวมมูลค่า 33 ล้านบาท และอันดับ 3 คือ โตโยต้า ส่งออก 51 คัน รวมมูลค่า 13 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการส่งออกเครื่องยนต์ และชิ้นส่วนประกอบ อีกรวมมูลค่ากว่า 449 ล้านบาท และเมื่อรวมการส่งออกทุกประเภทของอุตสาหกรรมยานยนต์ในเดือนกรกฎาคม มีมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 2,633 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา นับว่ามีอัตราการเติบโต 36.1%
"ในปีนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2541 ประเทศไทยได้ส่งออกรถยนต์ไปแล้วทั้งสิ้น 30,659 คัน รวมมูลค่า 13,538 ล้านบาท มิตซูบิชิ ยังครองความเป็นผู้นำที่มียอดการส่งออกสูงสุด ถึง 29,675 คัน รวมมูลค่า 13,232 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมานับว่ามีอัตราการเติบโตสูงสุดถึง 62.4% อันดับ 2 ได้แก่ โตโยต้า ส่งออกแล้วทั้งสิ้น 542 คัน คิดเป็นมูลค่า 170 ล้านบาท อันดับ 3 ได้แก่ ฮอนด้าส่งออก 422 คัน มูลค่า 119 ล้านบาท และอันดับ 4 ได้แก่ อีซูซุ ส่งออก 20 คัน รวมมูลค่า 16 ล้านบาท สำหรับเครื่องยนต์และส่วนประกอบในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา มีการส่งออกรวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 2,802 ล้านบาท มีการขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 23.93% และเมื่อรวมมูลค่าการส่งออกทุกประเภทของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ตั้งแต่มกราคม-กรกฎาคม 2541 รวมมูลค่า 16,340 ล้านบาท เพิ่มจากปีที่ผ่านมา 93.05% สำหรับรถยนต์มิตซูบิชิ นอกจากจะทำการส่งออกรถกระบะ แอล 200 สตราดา แล้ว ยังได้ขยายตลาดการส่งรถยนต์นั่ง มิตซูบิชิ แลนเซอร์ และรถบรรทุก ฟูโซ่ และแคนเตอร์ ไปยังประเทศต่าง ๆ เพื่อลดปริมาณรถยนต์ที่เกินความต้องการของตลาดในประเทศ อีกด้วย "ดร.วัชระ พรรณเชษฐ์ กล่าว
สำหรับตลาดในประเทศยังคงมีการแข่งขันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในกลุ่มรถกระบะ 1 ตัน ซึ่งหลายบริษัทฯ ได้เปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และจัดรายการส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งก็ได้รับความสนใจอย่างมาก ทำให้ยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศ ในเดือนกรกฎาคม มีทั้งสิ้น 14,669 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน ที่มียอดการผลิต 13,638 คัน และสัดส่วนการผลิตส่วนใหญ่ เป็นรถกระบะ 1 ตัน สำหรับ รถยนต์มิตซูบิชิยังคงมียอดการผลิตสูงสุด คือ 5,935 คัน หรือคิดเป็น 40.5% ของยอดการผลิตรวม ทั้งนี้เพื่อรองรับปริมาณการส่งออกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันดับ 2 คือ อีซูซุ มียอดการผลิต 3,199 คัน คิดเป็น 21.8% และอันดับ 3 คือ โตโยต้า มียอดการผลิต 2,370 คัน คิดเป็น 16.2% เมื่อรวมยอดการผลิตรถยนต์ของประเทศไทย ตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม มีทั้งสิ้น 78,105 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2540 ที่มียอดการผลิต 289,247 คัน ถึง 73% ดร.วัชระ กล่าวเพิ่มเติมในตอนท้าย
ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ: แผนกประชาสัมพันธ์ โทรศัพท์ 908-8000 ต่อ 2048-2053--จบ--