สธ. เตรียมช่วยเหลือโรงพยาบาลเอกชนในยุควิกฤตเศรษฐกิจ

25 Dec 1997

กรุงเทพ--25 ธ.ค.--กระทรวงสาธารณสุข

สธ.ตั้งคณะกรรมการช่วยเหลือโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่

ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและการเงินอย่างรุนแรง ซึ่งทั่วประเทศมีจำนวนกว่า 90 แห่ง ที่ต้องแบกภาระหนี้สินทั้งในและต่างประเทศกว่า 31,000 ล้านบาท

นายรักเกียรติ สุขธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุขในเช้าวันนี้ว่า จากภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจและการเงินอย่างรุนแรง โรงพยาบาลเอกชนเป็นธุรกิจภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ประชาชนขาดกำลังซื้อจึงหันไปใช้บริการของรัฐเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 30 ทำให้จำนวนผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในลดลง ส่งผลถึงรายได้ก็ลดลงด้วย ปัญหาเหล่านี้พบได้ในโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ขนาด 100 เตียงขึ้นไป มีจำนวนถึง 90 แห่งทั่วประเทศ โรงพยาบาลเอกชนเหล่านี้มีภาระหนี้สินเป็นเงินกู้จากต่างประเทศจำนวนกว่า 20,000 ล้านบาท จากสถาบันการเงินในประเทศกว่า 11,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้ระยะสั้น

จากสภาพการณ์ดังกล่าวโรงพยาบาลเอกชนไม่สามารถรับภาระดังกล่าวได้ จึงขอความช่วยเหลือมายังกระทรวงสาธารณสุข โดยมีการประชุมร่วมกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2540 และในที่ประชุมมีมติให้ข้อเสนอไว้ดังนี้คือ ขอให้มีการเจรจายืดระยะเวลาการชำระหนี้และผ่อนปรนดอกเบี้ยให้โรงพยาบาลของรัฐหยุดการขยายตัวและหันมาใช้ทรัพยากรของโรงพยาบาลเอกชนแทน เช่น การเช่าอาคาร, เครื่องมือ, อุปกรณ์จากเอกชน การซื้อหรือร่วมทุนกันในการซื้อบริการบางประเภทเช่น การใช้ C.T. ห้องผ่าตัด เครื่องนึ่ง ในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนก็ลดราคาค่าบริการลง เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถไปใช้บริการได้มากขึ้น อันจะนำไปสู่การเพิ่มรายได้ของโรงพยาบาลเอกชนอีกทางหนึ่ง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงสาธารณสุขมีความเห็นชอบในการช่วยเหลือดังกล่าว ซึ่งแต่เดิมโรงพยาบาลเอกชนเคยดูแลด้านสุขภาพของชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระของกระทรวงได้ในระดับหนึ่ง การช่วยเหลือครั้งนี้จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งโดยมอบให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน อธิบดีทุกกรม เลขาคณะกรรมการอาหารและยา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เป็นกรรมการ ผู้อำนวยการกองการประกอบโรคศิลปะ เป็นเลขานุการ เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อไป

นายแพทย์ปรากรม วุฒิพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้กล่าวในตอนท้ายว่า กรรมการชุดนี้มีหน้าที่พิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือโรงพยาบาลเอกชนเช่น การเข้าร่วมทุน การซื้อบริการกับภาคเอกชน การตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจากับกระทรวงการคลังเรื่องขอผ่อนผันเงินกู้ ขอลดภาระภาษี และเจรจาการไฟฟ้าเรื่องการขอลดอัตราค่าไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งจะมีการประชุมปรึกษาหารือกันในเร็วๆ นี้ จึงจะนำมาตราการการช่วยเหลือเข้าที่ประชุมกระทรวงฯ ในคราวต่อไป คาดว่าจะสามารถแบ่งเบาภาระหนี้สินของโรงพยาบาลเอกชนได้ในระดับหนึ่ง--จบ--