กรุงเทพ--20 พ.ย.--ธ.กสิกรไทย
กสิกรไทยเพิ่มศักยภาพเครื่องเอทีเอ็มให้ใช้ประโยชน์สูงสุด โดยเพิ่มความสามารถให้เป็น Payment Machine เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือบัตรเครดิตและเอทีเอ็มของธนาคารชำระค่าสินค้าและบริการผ่านเครื่องเอทีเอ็มเกือบ 700 เครื่องทั่วประเทศ พร้อมสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมให้ธนาคาร
นายปราโมทย์ ไชยอำพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารฯ ได้เพิ่มศักยภาพการให้บริการของเครื่องเอทีเอ็มของธนาคารมากขึ้น โดยให้เป็นเครื่องรับชำระค่าสินค้าและบริการต่าง ๆ (Payment Machine) ซึ่งจะเพิ่มประโยชน์ในการให้บริการผ่านเครื่องเอทีเอ็มแก่ลูกค้าเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่เน้นให้บริการด้านการถอนเงินเป็นหลัก
โดยเครื่องเอทีเอ็มของธนาคารฯ จะสามารถรับชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ มากถึง 19 บริษัท จำนวน 6 บริการ อาทิ ค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเอกชนทุกระบบ ค่าวิทยุติดตามตัวของแพคลิงค์ โฟนลิงค์ อีซี่คอลล์และฮัทชิสัน ค่าสมาชิกอินเตอร์เน็ตของเคเอฟซีและเอเชีย แอคเซส ค่าสินค้าของธุรกิจขายตรงบริษัท แอมเวย์ ค่าเบี้ยประกันของบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต และการชำระค่างวดมอเตอร์ไซค์ 5 ราย คือ บริษัท เอกนครหลวงลิสซิ่ง, สยามวอลล์ลิสซิ่ง, ไฮเวย์, ธนบรรณ และบริษัท กรุ๊ปลิสซิ่ง และขณะนี้ กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาให้บริการกับบริษัท ภัทรประกันภัย
บริการชำระค่าสินค้าและบริการผ่านเครื่องเอทีเอ็มนี้ จะให้บริการได้เฉพาะเครื่องเอทีเอ็มของธนาคารกสิกรไทยเท่านั้น ตั้งแต่เวลา 6.00-22.00 น.ทุกวัน โดยเครื่องจะตัดเงินจากบัญชีทันที ทั้งนี้ลูกค้าผู้ชำระเงินผ่านเครื่องไม่ต้องเสียค่าบริการใด ๆ และในการชำระทุกครั้ง เครื่องจะพิมพ์ใบสลิป ซึ่งผู้ชำระสามารถใช้เป็นหลักฐานการรับเงินชั่วคราวได้
สำหรับการให้บริการชำระเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็มในขณะนี้ มีผู้ใช้บริการมากกว่า 6,000 รายการต่อเดือน คิดเป็นวงเงินมากกว่า 10 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งธนาคารฯ คาดว่าบริการนี้จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือบัตร และบริการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มรายได้จากค่าธรรมเนียมแก่ธนาคารมากขึ้น โดยธนาคารฯ จะคิดค่าบริการจากบริษัทผู้รับเงิน
ทั้งนี้ในปีหน้าธนาคารฯ มีแผนการเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องเอทีเอ็มมากขึ้น โดยจะติดตั้งเครื่องเอทีเอ็มเพิ่มอีกประมาณ 70-100 เครื่อง จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 700 เครื่อง โดยจะเน้นการติดตั้งในห้างสรรพสินค้าและชุมชนสำคัญมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคปัจจุบันจะไปห้างสรรพสินค้ามากกว่าเดินทางมาธนาคารฯ--จบ--