สธ.ออกกฎเหล็กขยายการควบคุมการสูบบุหรี่ในห้องแอร์

27 Nov 1997

กรุงเทพ--27 พ.ย.--กระทรวงสาธารณสุข

กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกระทรวงฉบับใหม่ คุมเข้มพื้นที่ที่ติดแอร์ให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ตั้งแต่ 75-100% เพิ่มขึ้นอีก 8 ประเภท จะมีผลบังคับใช้ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้านี้ ขณะเดียวกันได้จัดทำโครงการพื้นที่อากาศสดใส ปลอดภัยควันบุหรี่ ลงสู่ชนบททั่วประเทศ เป็นโครงการเด่นเพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะทรงมีพระชนมายุครบ 72 พรรษา ในปี 2542

นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการในการคุ้มครองสุขภาพของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงฉบับที่ 7 พ.ศ. 2540 ในการเพิ่มพื้นที่ที่ติดเครื่องปรับอากาศ หรือที่สาธารณะบางประเภท ให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ให้มากขึ้น ตั้งแต่ 75 - 100% โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สมัยนายมนตรี พงษ์พาณิช ได้ลงนามเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2540 และลงในประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 โดยกฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 เป็นต้นไป

นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า ตามประกาศกระทรวงฉบับนี้ มีพื้นที่ที่จะต้องปฎิบัติตามก็คือ พื้นที่ที่ติดระบบปรับอากาศได้แก่ มินิมาร์ท ร้านตัดผม ร้านตัดเสื้อ สถานเสริมความงาม ร้านขายยา สถานออกกำลังกายที่มีระบบปรับอากาศ ทั้งหมดนี้ให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ 100% ส่วนตู้โดยสารรถไฟประเภทที่ไม่มีระบบปรับอากาศ ขณะใช้การให้จัดเป็นเขตสูบบุหรี่ได้ไม่เกิน 1 ใน 4 หรือ 25% ของจำนวนตู้โดยสารประเภทเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีผลถึงภัตตาคาร สถานที่จำหน่ายอาหาร และสถานที่จัดเลี้ยงที่มีระบบปรับอากาศ ขณะใช้บริการให้จัดให้มีเขตปลอดบุหรี่ไม่ต่ำกว่า 75% ของสถานที่ ทั้งนี้จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งเจ้าของร้านที่มีระบบปรับอากาศในเขต กทม.เมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่ากว่า 90% เห็นด้วยว่าควรจัดให้มีเขตปลอดควันบุหรี่ให้มากขึ้น เพื่อเป็นการคุ้มครองสุขภาพของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ กฎหมายฉบับนี้หากฝ่าฝืนในกรณีของประชาชนจะถูกลงโทษปรับ 2,000 บาท ส่วนเจ้าของประกอบการจะถูกปรับ 20,000 บาท

ทางด้านนายแพทย์หญิงวราภรณ์

ภูมิสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันควบคุมการบริโภคยาสูบ กล่าวว่าปัจจุบันทั่วประเทศมีคนไทยที่ไม่สูบบุหรี่ประมาณร้อยละ 80 โดยจากการสำรวจล่าสุดในปีที่ผ่านมา ยังมีคนไทยสูบบุหรี่ 11.2 ล้านคน เฉลี่ยสูบคนละ 12 มวนต่อวัน ในจำนวนนี้ร้อยละ 85 มีภูมิลำเนาอยู่ในชนบท ในแต่ละปีจะมีผู้ทิ่ติดบุหรี่รายใหม่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 500,000 ราย ในทางกลับกัน แต่ละปีก็จะมีผู้เลิกสูบบุหรี่เพราะป่วยปีละ

60,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ปีละ 42,000 ราย เฉลี่ย 115 รายต่อวัน หรือ ชั่วโมงละ 5 ราย

เมื่อเปรียบเทียบการสูบบุหรี่ของคนไทยกับทั่วโลกแล้ว พบว่าจำนวนผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยเท่ากับ 1% ของผู้สูบบุหรี่ทั่วโลก ซึ่งมีทั้งหมด 1,100 ล้านคน โดยอัตราการสูบบุหรี่ของชายไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีร้อยละ 49 สูงเป็นอันดับที่ 25 ของโลก อันดับ 1 คือ ประเทศเกาหลี สูบร้อยละ 68 ส่วนหญิงไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีอัตราสูบบุหรี่ต่ำเป็นอันดับที่ 80 ในจำนวน 87 ประเทศที่สำรวจ หากกล่าวโดยรวมแล้ว ใน 1 ปี ชาวไทยที่อายุ 15 ปีขึ้นไป มียอดสูบบุหรี่คนละ 1,050 มวน สูงเป็นอันดับที่ 62 ของโลก ประเทศที่มียอดสูบบุหรี่มากที่สุดคือ โปแลนด์ เฉลี่ย 3,200 มวนต่อคนต่อปี

แพทย์หญิงวราภรณ์ กล่าวต่อไปว่า จากการรณรงค์การไม่สูบบุหรี่ที่ผ่านมา ตั้งแต่ พ.ศ.2529-2539 สามารถลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ลงได้ 1.4 ล้านคน และป้องกันผู้ที่จะเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ได้ 700,000 คน โดยการรณรงค์ส่วนใหญ่ยังอยู่ในสังคมเมือง ดังนั้นตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป กระทรวงสาธารณสุขมีแผนขยายการรณรงค์นี้ ไปถึงชนบททุกแห่งทั่วประเทศ โดยได้จัดทำโครงการ "เพื่ออากาศสดใส ปลอดภัยควันบุหรี่" เพื่อถวายเป็นราชสักการะ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ที่จะทรงมีพระชนมายุครบ 72 พรรษา ใน พ.ศ. 2542 ทั้งนี้ได้ร่วมมือกับสภากาชาดไทย กรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ การรณรงค์ดังกล่าวจะอาศัยสื่อบุคคล ซึ่งล้วนเป็นอาสาสมัคร ได้แก่ อาสากาชาด และอาสาสมัครสาธารณสุข รวมทั้งนักศึกษาที่อยู่ในระบบการศึกษานอกโรงเรียน ในระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย รวมประมาณ 7 ล้านคน เป็นแกนนำในเรื่องนี้ สำหรับหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนนี้ ได้มีการบรรจุการรณรงค์การไม่สูบบุหรี่ลงในคู่มือการจัดกิจกรรมพบกลุ่มเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วย จำนวน 10,000 เล่ม มั่นใจว่า วิธีการดังกล่าวจะช่วยให้ประชาชนโดยเฉพาะในระดับครอบครัวจะมีการเลิกละการสูบบุหรี่ได้มากขึ้น--จบ--