ประชุมเจ้าหน้าที่กทม. เพื่อปฏบัติการตามพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฯ

27 Nov 1997

กรุงเทพ--27 พ.ย.--สำนักงานเขตกทม.

วันที่ 26 พ.ย. 40 เวลา 08.30 น. ที่โรงแรมซันรูท เขตห้วยขวาง นายคำรณ ณ ลำพูน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมข้าราชการในสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 300 คน ที่ได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงสาธารณสุข เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตาม พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 โดยมี นพ.วันชาติ พิชญางกูร อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.ขจิต ชูปัญญา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครร่วมพิธี

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า "ผลิตภัณฑ์ยาสูบ" หรือ "บุหรี่" เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้สูบและบุคคลใกล้เคียง โดยบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร สาเหตุหลัก ได้แก่ โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งช่องปาก โรคหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง และบุหรี่จัดอยู่ในประเภทของยาเสพย์ติดชนิดหนึ่ง ที่องค์การอนามัยโลกจัดรูปแบบการเสพย์ติดบุหรี่เป็นประเภทเดียวกับเฮโลอีน โคเคน ปัญหาบุหรี่จึงมิได้เป็นเพียงสารเสพย์ติด แต่เป็นการเสพย์ติดทางสังคมพฤติกรรมที่ถูกกฎหมายเมื่อปี พ.ศ. 2536 สำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ประเทศไทยมีผู้สูบบุหรี่เป็นจำนวน 10.4 ล้านคน ลดลงจากปี พ.ศ. 2534 ถึง 1 ล้านคน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีเพราะผู้ติดบุหรี่ใหม่แทบทั้งหมด 75% จะเป็นเยาวชนแสดงว่าจำนวนเยาวชนที่เข้ามาเป็นผู้สูบบุหรี่ใหม่ของสินค้าบุหรี่ลดลง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2539 พบว่ามีผู้สูบบุหรี่เป็นประจำ 11.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2536 จำนวน 0.8 ล้านคน และมีแนวโน้มว่าสูงขึ้นอีก ดังนั้นจึงต้องมีการรณรงค์ ส่งเสริมการไม่สูบบุหรี่และใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบ พร้อมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับวิชาการด้านบุหรี่และสุขภาพ กฎหมายเกี่ยวกับยาสูบ และควบคุมการบังคับใช้โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ และผู้เกี่ยวข้องให้ได้ผลดียิ่งขึ้น

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการออกพระราชบัญญัติเกี่ยวกับยาสูบ 2 ฉบับ คือพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 โดยมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขรองรับว่าด้วยเรื่อง การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวทั้งนี้จุดประสงค์เพื่อการเฝ้าระวัง ควบคุม กำกับดูแลการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับยาสูบ ซึ่งเป็นมาตรการด้านกฎหมาย รวมถึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถใช้ประกอบการควบคุมการบริโภคยาสูบให้ได้ผล นอกเหนือจากให้ความรู้ ตระหนักถึงโทษพิษภัยของการสูบบุหรี่ การปลูกฝัง และเสริมสร้างค่านิยมใหม่ อันนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ

สำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้งเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 และ พระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ทั้งภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุข อาทิ ข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุขทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคและข้าราชการในสังกัดกรุงเทพมหานคร และเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรุงเทพมหานครได้มีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ ตลอดจนเป็นการประชาสัมพันธ์กฎหมายยาสูบ ในวันนี้จึงมีการจัดประชุมชี้แจงเพื่อให้การบังคับใช้เป็นไปอย่างได้ผล นอกจากนี้ยังมีการจัดทำบัตรพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับ เพื่อให้การออกปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ดำเนินไปอย่างสะดวกและถูกต้องเรียบร้อยด้วย--จบ--