กรุงเทพ--19 ส.ค.--กทม.
ที่ศาลาว่าการกทม.เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 18 ส.ค. 40 นายบำเพ็ญ จตุรพฤกษ์ รองปลัดกทม. กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการรถรางเลียบคลองว่า ในวันนี้ที่ประชุมได้รับฟังรายงานความคืบหน้าของโครงการจากที่ปรึกษาฯ โดยได้มีการกำหนดรูปแบบตัวรถและระบบรางให้คล้ายกับรถไฟฟ้าสายหลัก แต่ขีดความสามารถในการขนคนอาจจะน้อยกว่า ทั้งนี้เนื่องจากรถไฟฟ้ามหานครและรถไฟฟ้าธนายงนั้น สามาถขนคนได้ชั่วโมงละ 50,000 คนต่อทิศทาง แต่สำหรับรถรางเลียบคลองสามารถขนคนได้เพียง 15,000-20,000 ต่อชั่วโมงต่อทิศทาง
รองปลัดกทม.กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการลงตอม่อนั้น ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า หากสร้างตอม่อลงคลองจะเป็นการเสี่ยง และอาจส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำ เนื่องจากคลองดังกล่าวมีการทำระบบบำบัดน้ำเสีย ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ การสร้างตอม่อริมฟุตบาทของคลองด้านใดด้านหนึ่ง ทั้งนี้การสร้างจะต้องคำนึงถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม เสียง กายภาพ ความสะดวกของผู้โดยสาร รวมถึงการเชื่อมต่อระบบอื่น ๆ ด้วย ส่วนเส้นทางของรถรางนั้น คณะกรรมการที่ปรึกษาได้มีมติเปลี่ยนเส้นทางจากถนนเจริญกรุง มาใช้ถนนแนวเหนือใต้แทน เนื่องจากถนนเจริญกรุงมีเขตทางจำกัด สำหรับรูปแบบการลงทุน ทางกทม.ได้ประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (สจร.)อย่างใกล้ชิด เพื่อดูว่าจำนวนผู้โดยสารที่มาใช้บริการในเส้นทางพระราม 3 จะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ ทั้งนี้จากการประมาณการค่าใช้จ่ายในการลงทุนจะตกประมาณ 500-800 ล้านบาทต่อกม.และเชื่อว่าสามารถคืนทุนได้ภายใน 25-30 ปี ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะเป็นสิ่งดึงดูดให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนกับภาคเอกชนมากขึ้น โดยในวันที่ 27 ส.ค.นี้กทม. จะนำข้อมูลทั้งหมดเสนอต่อ คจร.เพื่อนำเสนอสู่ครม.พิจารณาอนุมัติต่อไป
อย่างไรก็ตามภายในเดือน ต.ค นี้ ทางกทม.จะมีการคัดเลือกผู้มีสิทธิร่วมลงทุนกับโครงการนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีไม่เกิน 10 กลุ่มที่เหมาะสม ทั้งนี้ทางคณะอนุกรรมการจัดระบบโครงการขนาดใหญ่ ได้กำหนดความสูงของเสาตอม่อไว้ 11 เมตร เสาตอม่อแต่ละต้นห่างกันประมาณ 30 เมตร ส่วนสถานีขนส่งผู้โดยสารจะห่างกันไม่เกิน 1 กม. โดยมีความยาวของเส้นทางทั้งหมด 17.3 กม. สำหรับความสูงของเสาตอม่อตนเชื่อว่าจะไม่เป็นอุปสรรคต่อโครงการอื่นที่จะก่อสร้างใหม่ในแนวที่ตัดกันยิ่งสูงยิ่งมีพื้นที่ว่างมาก จะทำให้การรวมตัวของอากาศเสียเบาบางลง--จบ--