กรุงเทพ--20 ส.ค.--สจร.
สจร.ออกโรงชี้แจงการจ้างบริษัทที่ปรึกษาโครงการศูนย์ข้อมูลและแบบจำลองฯ เป็นไปตามหลักเกณฑ์การพิจารณาทุกอย่าง ทั้งยังสามารถต่อรองราคาจาก 80.9 ล้านบาทเหลือเท่างบประมาณ 47.46 ล้านบาท แต่คุณภาพงานได้ตามวัตถุประสงค์
พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ เลขาธิการคณะกรรมการจัดระบบการจรารทางบก (คจร.) เปิดเผยถึงการจัดจ้างที่ปรึกษาโครงการศูนย์ข้อมูลและแบบจำลองด้านการจราจรและการขนส่ง โดยสำนักคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (สจร.) ว่า ในการประมูลจัดจ้างมีคณะกรรมการกำกับการศึกษาโครงการพัฒนารูปแบบจำลองและระบบฐานข้อมูลจราจร (UTDM) เป็นผู้ดูแล โดยมีผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก เป็นประธานกรรมการผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงบประมาณ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานสถิติแห่งชาติ ภาควิชาคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สจร. และผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ทำการคัดเลือกกลุ่มบริษัท JMP ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มบริษัท JMP จำกัด บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด Institute for Transport Studies (ITS) และ The Transport Research Laboratory (TRL) ประเทศไทย เป็นที่ปรึกษาโครงการฯ ในวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยได้ทำการพิจารณาทางด้านเทคนิคและด้านราคา
สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการนั้น เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลให้เป็นระบบสารสนเทศด้านการจราจรและขนส่ง รวมถึงการพัฒนาแบบจำลองด้านการจราจรและขนส่งให้สมบูรณ์เป็นปัจจุบันและต่อเนื่องเหมาะสมแก่การนำไปใช้งานอยู่เสมอ โดยมีรายละเอียดในการดำเนินงาน 3 กลุ่ม คือ
1. การพัฒนาระบบสารสนเทศ ซึ่งต้องดำเนินงานด้านพัฒนาระบบฐานข้อมูลและสารสนเทศ งานพัฒนาระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และงานพัฒนาทักษะของบุคลากร
2. การบำรุงรักษา ซึ่งต้องดำเนินงานด้านงานบำรุงรักษาระบบฐานข้อมูล ข้อสนเทศ งานบำรุงรักษาและพัฒนาแบบจำลอง และงานพัฒนาทักษะของบุคลากร
3. การนำแบบจำลองมาประยุกต์ใช้ ต้องดำเนินงานด้านงานวิเคราะห์และประเมินผลโครงการโดยแบบจำลอง และงานใหคำปรึกษาด้านเทคนิคและวิชาการ
โดยทั้งหมดมีระยะเวลาในการดำเนินงาน 30 เดือน และมีงบประมาณในการดำเนินการ 47.46 ล้านบาท
"เมื่อวันที่ 16 กรกฏาคม 2540 ทางสจร.ได้มีหนังสือเชิญชวนให้บริษัทที่ปรึกษายื่นข้อเสนอเข้ารับงานโครงการฯ จำนวน 10 บริษัท และในวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา มีกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาได้ยื่นข้อเสนอต่อสจร.รวม 3 กลุ่มประกอบด้วยบริษัทที่ปรึกษา 5 รายจากจำนวน 10 รายที่ได้รับเชิญ" เลขาธิการฯ กล่าว
การพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคได้จัดลำดับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาตามลำดับข้อเสนอที่ดีที่สุดดังนี้
อันดับที่ 1. กลุ่มบริษัท JMP ประกอบด้วย บริษัท JMP จำกัด บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด Institute for Transtport Studies (ITS) และ The Transport Research Laboratory (TRL) ประเทศอังกฤษ
อันดับที่ 2. กลุ่มบริษัท GENIE ประกอบด้วย บริษัท GENIE จำกัด บริษัท ซิมซิสเต็ม จำกัด บริษัท MVA จำกัด ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องแห่งจุฬามหาวิทยาลัย และหน่วยวิจัยการจราจรและขนส่ง และ
อันดับที่ 3. กลุ่มบริษัท AEC ประกอบด้วย บริษัท AEC จำกัด บริษัท ทรานส์ คอนซัลท์ จำกัด และ บริษัท PADECO จำกัด
พ.ต.ต.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า ในการพิจารณาด้านราคานั้น คณะกรรมการฯ ดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษาได้พิจารณา แล้วปรากฏว่า กลุ่มบริษัท JMP ได้เสนอราคา 80.9 ล้านบาท แต่งบประมาณมีเพียง 47.46 ล้านบาท ดังนั้นทางคณะกรรมการฯ ได้เจราจาต่อรอง และกลุ่มบริษัท JMP ได้ปรับลดราคาค่าใช้จ่ายลงประมาณ 41.35% โดยยึดถือหลักการดังนี้ ปรับลดอัตราค่าจ้าง และเงินเดือนบุคลากรโครงการ ปรับลดตำแหน่งบุคคลากรโครงการ โดยเนื้องานในตำแหน่งที่ถูกปรับลดไปเพิ่มให้กับตำแหน่งที่จำเป็นต้องคงไว้ในโครงการ ปรับลดบุคคลากรหลักจาก 150.5 คน/เดือน เป็น 126.75 คน/เดือน หรือลดลงประมาณ 15.78% และปรับลดราคาซึ่งรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% แล้วรวมเป็นเงินที่มีอยู่ในงบประมาณดังกล่าว
อนึ่ง บริษัทที่ปรึกษาที่ได้รับเชิญให้ยื่นข้อเสนอเข้ารับงานโครงการ 10 บริษัท ได้แก่
1. บริษัท เอพซิลอน จำกัด (EPSILON)
2. บริษัท เอสพีบี คอนซัลแตนท์ส จำกัด (SPB)
3. บริษัท เอเซี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอมซัลแต้นท์ จำกัด (AEC)
4. บริษัท ทีมคอนซัลติ้ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (TEAM)
5. บริษัท ไทยดีซีไอ จำกัด (THAI DCI)
6. บริษัท เชนี่เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นท์ จำกัด (GENIE)
7. บริษัท เทสโก้ จำกัด (TESCO)
8. บริษัท พาดีโก้ (ไทยแลนด์) จำกัด (PADECO)
9. บริษัท MVA ASIA LIMITED (MVA) และ
10. บริษัท เจ เอ็ม พี (ประเทศไทย) จำกัด (JMP)
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อสอบถามได้ที่คุณ สุมนัส มณีโชติ โทร. 925-2661 และ 925-1840 --จบ--