PSP กางแผนธุรกิจปี 68 ปักหมุดตลาดโลก เล็งขยายตลาดยุโรป ตะวันออกกลางและเอเชียอาคเนย์ เตรียมพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยไบโอเบส มุ่งสู่การเติบโตมั่นคงและยั่งยืน

17 Mar 2025

บมจ. พี.เอส.พี. สเปเชียลตี้ส์ (PSP) เปิดแผนธุรกิจปี 2568 สู่การเติบโตระดับนานาชาติ ตั้งเป้ายอดขายรวมโต 10-15% ปีนี้ และเพิ่มสัดส่วนการส่งออกเป็น 30% ของรายได้รวมภายในปี 2571 มุ่งขยายตลาดในยุโรป ตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง เฉพาะตลาดอาเซียนมีปริมาณความต้องการสูงกว่า 3,300 ล้านลิตร และคาดเติบโตต่อเนื่อง 1.9% เพิ่มกำไรด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์เมกะเทรนด์ เช่น ผลิตภัณฑ์หล่อลื่นและน้ำยาหล่อเย็นสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ Bio-based ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนาธุรกิจใหม่เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยการเข้าซื้อกิจการ ร่วมทุน และสร้างธุรกิจใหม่ที่ต่อยอดความเชี่ยวชาญของ PSP รวมทั้งสร้างรายได้จากบริษัทในเครือ พร้อมเดินหน้ายกระดับการบริหารจัดการองค์กรและกระบวนการผลิตด้วยดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน และการดำเนินธุรกิจที่มีแนวทางการพัฒนาความยั่งยืนต่อเนื่อง เตรียมเข้าสู่การเป็นหุ้นยั่งยืน SET ESG Rating ในอนาคต

PSP กางแผนธุรกิจปี 68 ปักหมุดตลาดโลก เล็งขยายตลาดยุโรป ตะวันออกกลางและเอเชียอาคเนย์ เตรียมพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยไบโอเบส มุ่งสู่การเติบโตมั่นคงและยั่งยืน

นายเสกสรร ครองพาณิชย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พี.เอส.พี. สเปเชียลตี้ส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PSP เปิดเผยว่า เป้าหมายธุรกิจของ PSP ในปี 2568 คือสร้างยอดขายรวมเติบโต 10-15% จากลูกค้าปัจจุบัน และเพิ่มยอดขายจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ ตลอดจนการเจาะตลาดใหม่ในต่างประเทศ เช่น ตลาดในเมียนมาร์ ถือเป็นหนึ่งกลยุทธ์สำคัญของ PSP ที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนยอดขายต่างประเทศ จากการส่งออก 19.2% ในปี 2567 เป็น 30% ภายในปี 2571 เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยการบริหารสัดส่วนยอดขายจากหลากหลายตลาด โดยเฉพาะตลาดในยุโรป ตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น

"เรามองเห็นโอกาสที่เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางธุรกิจของ PSP ด้วยการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการส่งออก โดยข้อมูลจาก Kline Research ได้ศึกษาเกี่ยวกับตลาดน้ำมันหล่อลื่นในช่วงปี 2567-2571 ระบุว่าตลาดอาเซียนมีปริมาณการใช้สูงถึงกว่า 3,300 ล้านลิตร และคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 1.9% ต่อปี ขณะที่ประเทศไทยมีความต้องการใช้น้ำมันหล่อลื่นประมาณ 700 ล้านลิตร เป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย ทำให้หลายแบรนด์จากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย และเริ่มมองหาฐานการผลิตในประเทศเพื่อลดต้นทุนค่าขนส่ง และ PSP เองก็มีจุดแข็งด้านคุณภาพ มาตรฐาน และประสิทธิภาพการผลิต พร้อมลงทุนนำเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยมาใช้ โดยมีความน่าเชื่อถือในฐานะผู้ผลิตหล่อลื่นชั้นนำที่มีมาตรฐานคุณภาพระดับสากลที่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าระดับโลก มีศักยภาพในการขยายฐานลูกค้าเพื่อขายในประเทศ ส่งออกและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ อีกทั้งยังมีความพร้อมรองรับความต้องการผลิตภัณฑ์หล่อลื่นที่เพิ่มขึ้น คาดว่าตลาดในประเทศและการส่งออกจะยังคงเติบโตต่อเนื่องในอนาคต" นายเสกสรรกล่าว

นอกจากนี้ PSP ยังวางแผนเพิ่มผลกำไรจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์และมองหาตลาดใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโตสูงในอนาคต อาทิ กลุ่มผลิตภัณฑ์ Food Grade Lubricants หรือผลิตภัณฑ์หล่อลื่นสำหรับการใช้งานกับเครื่องจักรและอุปกรณ์ในอุตสาหกรรมผลิตอาหาร น้ำยาหล่อเย็นสำหรับรถ EV (EV Coolant) น้ำยาบำบัดไอเสียในเครื่องยนต์ดีเซล (AdBlue) รวมถึงการร่วมพัฒนาน้ำมันหล่อลื่นชีวภาพ (Bio-based Lubricants) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกับพันธมิตรต่าง ๆ เป็นต้น ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังมุ่งพัฒนาธุรกิจใหม่ที่สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าซื้อกิจการ หรือการร่วมทุน เช่น การเข้าร่วมทุนกับ บริษัท รีไซเคิล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำด้านการรีไซเคิลสารเคมีและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือการสร้างธุรกิจใหม่ที่ต่อยอดความเชี่ยวชาญของ PSP อย่างการเปิดบริการ 'พีเอสพี แล็บฯ' (PSP Laboratory Service) ที่ให้บริการวิจัย พัฒนา และตรวจสอบควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์หล่อลื่นมาตรฐานระดับสากล และบริการอื่น ๆ ในอนาคต

ในด้านการบริหารและแนวทางการดำเนินงานในปี 2568 นี้ PSP ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันในองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งสร้างความคล่องตัวในการดำเนินงานทั้งภายในและภายนอกองค์กร นอกจากนี้ PSP ให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์กรให้ยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายสู่การเป็นหุ้นยั่งยืน SET ESG Rating A หรือ AA ภายในปี 2568 ภายใต้แนวทาง ESG เพื่อตอบสนองต่อแนวโน้มการเติบโตในอนาคตที่มุ่งเน้นเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ดึงดูดนักลงทุน เสริมสร้างความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ยั่งยืนในอนาคต