นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวถึงมาตรการเร่งด่วนของ กทม. เพื่อรองรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีแนวโน้มสูงขึ้นว่า กทม. ได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 68 อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 สูง โดยให้ทุกหน่วยงานเพิ่มความเข้มงวดกวดขัน เพื่อควบคุมแหล่งกำเนิด บรรเทาสถานการณ์ฝุ่นและลดผลกระทบต่อสุขภาพ อาทิ แจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นผ่านแอปพลิเคชัน AirBKK เพจเฟซบุ๊กกรุงเทพมหานคร สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. และกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร แอปพลิเคชัน LINE โดยการเพิ่มเพื่อน @LINEALERT จะแจ้งเตือนเมื่อฝุ่นมีค่ามากกว่า 37.5 มคก./ลบ.ม. 50 เขต ควบคุมสถานประกอบกิจการ โรงงาน แพลนท์ปูน และสถานที่ก่อสร้างในพื้นที่ไม่ให้ปล่อยมลพิษอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เข้มงวดตรวจวัดตรวจจับรถยนต์ควันดำทุกประเภทร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนที่กำหนด ลงพื้นที่ตรวจรถโดยสารสาธารณะที่อู่ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ทั้ง 27 แห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนบำรุงรักษาเครื่องยนต์ จอดรถให้ดับเครื่อง และลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ขอความร่วมมือศาลเจ้า มูลนิธิ และวัดงดจุดธูปและเผากระดาษ เข้มงวดกวดขันห้ามเผาในที่โล่งทุกประเภท โดยประสานความร่วมมือสำนักงานเขตที่มีพื้นที่ทำการเกษตรเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบพื้นที่ รณรงค์เน้นย้ำสร้างความเข้าใจและความร่วมมือของประชาชนงดเผาเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูก รณรงค์สร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและลดการทำกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 ติดตามจุดความร้อนเมื่อพบประสานแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพิ่มความถี่ล้างและดูดฝุ่นถนน ฉีดล้างต้นไม้และใบไม้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ หากสถานการณ์ฝุ่นมีค่ามากกว่า 37.5 มคก./ลบ.ม. ไม่น้อยกว่า 35 เขต มีอัตราการระบายต่ำกว่า 2,000 ตารางเมตร/วินาที ต่อเนื่อง 2 วัน และพบจุดความร้อนมากกว่า 80 จุด ติดต่อกัน 3 วัน กทม. จะประกาศขอความร่วมมือภาครัฐและเอกชนให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในที่พัก (Work from Home) และหากสถานการณ์ฝุ่นมีค่ามากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. ไม่น้อยกว่า 5 เขต ประกอบกับมีอัตราการระบายต่ำกว่า 3,000 ตร.ม./วินาที และการพยากรณ์คาดว่าจะเกิดต่อเนื่องอีก 2 วัน จะประกาศห้ามรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไป เข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งสามารถติดตามข่าวสารการประกาศและสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และหากค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน กทม. จะประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนป้องกันดูและสุขภาพ โดย สนอ. ออกหน่วยบริการสาธารณสุขและหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ทั้ง 69 ศูนย์ฯ ในพื้นที่รับผิดชอบ แจกหน้ากากอนามัยให้กลุ่มเปราะบาง เพื่อให้บริการประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบจากค่าฝุ่น PM2.5 อย่างสะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง สนพ. เปิดให้บริการคลินิกมลพิษทางอากาศในโรงพยาบาลในสังกัด 8 แห่ง เพื่อให้บริการรักษาและคำแนะนำวิธีการป้องกันดูแลตนเอง รวมทั้งจัดทำห้องเรียนปลอดฝุ่นของโรงเรียนในสังกัด กทม. 429 แห่ง และศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน 271 แห่ง เพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กนักเรียน ตลอดจนมาตรการจัดการเรียนการสอนตามความเหมาะสมในช่วงที่พบค่าฝุ่น PM2.5 สูง งดกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากากอนามัย จัดการเรียนการสอนเสริม หรือชดเชย หากจำเป็น ต้องหยุดเรียน รวมทั้งจัดกิจกรรมธงคุณภาพอากาศในโรงเรียนและชุมชน เพื่อแจ้งเตือนนักเรียนและประชาชนรับทราบสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เตรียมพร้อมป้องกันและดูแลสุขภาพอนามัยหากค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน หากประชาชนพบแหล่งก่อมลพิษ หรือรถปล่อยควันดำสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่แอปพลิเคชัน Traffy Fondue ตลอด 24 ชั่วโมง
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า สนอ. ได้ตรวจประเมินเพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษในกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานเขต สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการโยธา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมตรวจสอบสุขลักษณะและมาตรการควบคุมฝุ่นละอองในสถานประกอบกิจการ โรงงานที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 สูง เช่น กิจการที่มีการใช้หม้อไอน้ำ มีการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล กิจการคอนกรีตผสมเสร็จ สถานที่ก่อสร้าง ถมดิน ท่าทราย โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ดำเนินการตรวจประเมินกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวไปแล้ว 2,291 แห่ง (จากทั้งหมด 3,365 แห่ง) คิดเป็นร้อยละ 68 และในช่วงที่มีฝุ่นสูง ตั้งแต่เดือน ต.ค. 67 - มี.ค. 68 สนอ. ร่วมกับสำนักงานเขตดำเนินการตรวจกำกับดูแลสถานประกอบกิจการคอนกรีตผสมเสร็จที่พบการร้องเรียนบ่อยครั้ง 25 แห่ง และได้ให้สำนักงานเขตตรวจสอบกิจการคอนกรีตผสมเสร็จทั้งหมด 114 แห่ง เป็นประจำอย่างน้อย 1ครั้ง/เดือน เพื่อกวดขันให้ปฏิบัติตามมาตรการลดฝุ่นละอองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในรายที่พบข้อบกพร่องได้แนะนำให้ปรับปรุงแก้ไข และตรวจติดตามกวดขันให้ปฏิบัติตามมาตรการในช่วงที่มีค่าฝุ่นสูงอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้ง 69 แห่ง จะจัดทีมออกหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ หรือพื้นที่ศูนย์สุขภาพชุมชน กรณีฝุ่น PM2.5 มีค่าระหว่าง 37.6 - 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ติดต่อกัน 3 วัน ให้ออกหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่ และจัดทีมปฏิบัติการลงพื้นที่ชุมชนและเยี่ยมติดตามผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง โรคเยื่อบุตาอักเสบ และโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งนี้ จากข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ที่มารับบริการตรวจรักษาจากศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย. 66 - 21 มี.ค. 68 มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 77,529 ราย โดย สนอ. ได้ส่งมอบหน้ากากอนามัยสำหรับผู้ใหญ่ให้แก่สำนักงานเขต 50 เขต รวม 1,160,000 ชิ้น เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ กลุ่มที่มีโรคระบบทางเดินหายใจและโรคหัวใจ และประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้าง ผู้ค้าริมถนน และประชาชนทั่วไปที่ใช้ชีวิตนอกอาคาร เพื่อป้องกันและดูแลสุขภาพจากปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยได้แจกหน้ากากอนามัยไปแล้ว 436,157 ชิ้น และแจกให้กับนักเรียนโรงเรียนในสังกัด กทม. (อายุ 6 - 12 ปี) 500,000 ชิ้น (ข้อมูล ณ วันที่ 22 มี.ค.68) ตลอดจนแจกให้กับผู้ป่วยที่ใช้บริการศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง และผู้ป่วยตอนเยี่ยมบ้านและการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ด้วย
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวว่า สนพ. ได้เตรียมแผนปฏิบัติการป้องกันรองรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการต่าง ๆ ประกอบด้วย เปิดศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีฝุ่น PM 2.5 เกิน 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศในโรงพยาบาลสังกัด กทม. เพื่อให้คำปรึกษาแก่ประชาชน ให้บริการตรวจรักษาลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 ขณะเดียวกัน ยังได้บูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ สำนักงานเขต สถานีตำรวจนครบาล โรงเรียน ให้ความรู้และข้อแนะนำแก่ประชาชนในพื้นที่ โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจะเน้นการเข้าถึงกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพ การสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง แจกหน้ากากอนามัยให้กลุ่มเปราะบางในช่วงที่ค่าฝุ่นสูง พร้อมรายงานสถิติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เพื่อปฏิบัติการออกช่วยเหลือผู้ป่วยยามจำเป็น หากมีรายงานค่าฝุ่นในพื้นที่ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ รวมทั้งเน้นย้ำประชาชนเรื่องการป้องกันดูแลสุขภาพในช่วงฝุ่นหนาแน่น สำหรับกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด และผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานานควรเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นสูง หรือออกนอกอาคารให้น้อยที่สุด หากจำเป็นให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และงดการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท หรืออยู่ในห้องปลอดฝุ่นและสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ควรรีบพบแพทย์ทันที หรือพบแพทย์ผ่าน Telemedicine แอปพลิเคชัน "หมอ กทม." เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอาการอย่างรวดเร็ว สามารถปรึกษาเรื่องสุขภาพ โทร HOTLINE 1646 สายด่วนสุขภาพ สนพ. ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit