Integrity Hotline สายด่วนแจ้งเรื่องทุจริต ที่มุ่งสร้างวัฒนธรรม 'Speak Up' 1 ใน 7 นโยบายและกลไกทำจริง เพื่อปราบคอร์รัปชันที่ทรู คอร์ปอเรชั่น

09 Dec 2024

ทรู คอร์ปอเรชั่น หลังการควบรวม ได้รับการรับรองการเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนไทยในการต่อต้านคอร์รัปชัน ประจำปี 2567 จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai IOD) และแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (Thai Private Sector Collective Action against Corruption - CAC) ที่มีหลักการประเมินที่เข้มข้นถึง 71 ข้อภายใต้ 7 หมวดสำคัญ ได้แก่ 1.การประเมินความเสี่ยง 2.มาตรการป้องกันความเสี่ยง 3.นโยบายและข้อปฏิบัติต่อต้านการคอรัปชัน อาทิ การสปอนเซอร์ การบริจาค 4.การบริหารบุคลากร 5.การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ 6.การแจ้งเบาะแสและขอคำแนะนำ และ 7.การทบทวน ตรวจสอบ และปรับปรุง ซึ่งในการประเมินครั้งนี้ ทรู เป็นที่ยอมรับในเรื่องการผลักดันนำแนวนโยบายที่ชัดเจนลงไปสู่การปฏิบัติจริง สื่อสารและให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วมสอดส่องดูแลองค์กรอย่างจริงจัง และที่สำคัญ คือการบริหาร ประเมิน และจัดการความเสี่ยงด้านคอร์รัปชัน ซึ่งทรู ได้ดำเนินการครอบคลุมทุกหน่วยงานเพื่อป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นได้

Integrity Hotline สายด่วนแจ้งเรื่องทุจริต ที่มุ่งสร้างวัฒนธรรม 'Speak Up' 1 ใน 7 นโยบายและกลไกทำจริง เพื่อปราบคอร์รัปชันที่ทรู คอร์ปอเรชั่น

ชู "7 นโยบาย" เน้นๆ ทรู ต่อต้านคอร์รัปชัน เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล

นอกเหนือจากข้อกำหนดหลักธรรมาภิบาลของบริษัท (Code of Conduct) รวมถึงข้อกำหนดตามกฎหมาย และกฎระเบียบข้อบังคับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการห้ามกระทำการทุจริตในทุกรูปแบบ ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังได้จัดทำนโยบายต่อต้านการทุจริต (Anti-Corruption Policy) โดยเฉพาะ เพื่อระบุข้อกำหนดที่จำเป็นที่ผู้บริหารและพนักงานควรและปฏิบัติตามเพิ่มเติม ซึ่งประกอบไปด้วย 7 ประเด็นหลัก ได้แก่

  1. การไม่ยอมอ่อนข้อต่อการทุจริต - ประกาศนโยบายที่ชัดเจนในการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบทั้งภายในและภายนอกองค์กร ส่งเสริมและสร้างค่านิยมอันดีให้กับบุคลากรที่ต้องดำเนินงานด้วยความซื่อสัตย์และความโปร่งใส
  2. ไมตรีทางธุรกิจ - กำหนดระเบียบปฏิบัติที่สอดคล้องกับข้อกำหนดของกฎหมาย อาทิ การให้/รับของขวัญ หรือการเลี้ยงรับรองใดๆ ห้ามไม่ให้มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท/คน/ครั้ง แก่เจ้าหน้าที่รัฐ/รัฐวิสาหกิจ และต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติตามสายบังคับบัญชาที่มีการกำหนดไว้ในระเบียบปฏิบัติของบริษัทอย่างถูกต้อง เหมาะสมกับโอกาสและวาระทางธุรกิจ
  3. การจ่ายเงินเพื่ออำนวยความสะดวก แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นสิ่งไม่ควรกระทำ ด้วยถือเป็นการให้สินบนรูปแบบหนึ่ง เป็นการกระทำที่ทุจริตและผิดกฎหมาย
  4. คนกลาง - ประเมินความเสี่ยง บริหารจัดการ พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เพื่อให้มั่นใจว่าคนกลางที่ดำเนินการแทน หรือเป็นตัวแทนบริษัท คู่ค้าทางธุรกิจของบริษัท จะปฏิบัติตามกฎหมาย สอดคล้องกับค่านิยม และหลักธรรมาภิบาลของบริษัท
  5. เจ้าหน้าที่รัฐ - ส่งเสริมการทำงานหรือมีปฏิสัมพันธ์ โดยยึดมั่นหลักความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่ให้และไม่รับสินบน ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบอย่างเคร่งครัด พร้อมรายงานการกระทำที่ไม่ถูกต้องผ่านหน่วยงานกำกับดูแลจริยธรรมองค์กรให้เร็วที่สุด
  6. การเป็นสปอนเซอร์ การบริจาค และการช่วยเหลือสังคมอื่นๆ - ดำเนินการด้วยความโปร่งใส มีการประเมินความเสี่ยงด้านจริยธรรม และต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ Sponsorship and Donation Committee ทุกกรณี แบบไม่มีข้อยกเว้น เพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น
  7. ผลประโยชน์ทับซ้อน - กำหนดนโนบาย การจัดการที่ชัดเจนและเป็นระบบ รวมถึงรายงานเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นรายปี บันทึกผล วางแผนการรับมืออย่างเหมาะสม พร้อมเก็บหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรและเป็นความลับ

จากแนวคิด - สู่การปฏิบัติ - สร้างผลลัพธ์จริง

ทรู คอร์ปอเรชั่น เดินหน้ายกระดับการดำเนินงานด้านบรรษัทภิบาลด้วยนโยบายและกฎเกณฑ์ที่เข้มข้น มุ่งเน้นการนำนโยบายมาปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ มีการจัดตั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลธรรมาภิบาลภายในบริษัทฯ โดยเฉพาะ เพื่อกำกับดูแลการบังคับใช้และตรวจสอบให้มั่นใจว่าพนักงานทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานสูงสุดทางจริยธรรม อีกทั้งยังสร้างวัฒนธรรม 'Speak Up' ที่ให้พนักงาน รวมถึงบุคคลภายนอก มีส่วนร่วมเป็นหูเป็นตา แจ้งเบาะแสที่อาจละเมิดต่อหลักธรรมาภิบาลของบริษัท ผ่านสายด่วนธรรมาภิบาล (Integrity Hotline) ซึ่งสะดวก ง่าย ปลอดภัย โดยคำถามและการรายงานใดๆ จะถูกเก็บเป็นความลับ ไม่สามารถระบุตัวตนผู้ร้องเรียน นับเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือการดำเนินงานสำคัญที่ช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงและยกระดับมาตรฐานด้านธรรมาภิบาลขององค์กร

นอกจากนี้ ตัวอย่างในส่วนงานอื่นๆ เช่น การเร่งขยายโครงข่ายที่ต้องขออนุญาตหน่วยงานราชการในการตั้งเสาสัญญาณมือถือเพื่อรองรับความต้องการใช้งานที่เติบโต โดยจะมีการป้องกันความเสี่ยงด้วยการวางแผนล่วงหน้า กำหนดข้อตกลงระดับการให้บริการ (Service Level Agreement - SLA) ในแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจน เพื่อเผื่อระยะเวลาให้ทันกับการดำเนินการ ลดโอกาสการทุจริต รวมถึงมีมาตรการควบคุมทางการเงินที่ป้องกันไม่ให้มีการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐอีกด้วย ขณะที่ในส่วนงาน Business Sales-Government Segment ที่ต้องมีการเสนอขายหรือเข้าร่วมประมูลโครงการเพื่อขายสินค้า/บริการให้กับหน่วยงานรัฐ จัดให้มีการควบคุมเพิ่มเติมด้วยการกำหนดให้มีการเช็คสอบราคาขายและการออกเอกสารทางการเงินที่เกี่ยวข้อง รวมถึงให้หัวหน้างานมีการประเมินเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของพนักงานขาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการคอรัปชัน ลดช่องสบโอกาสเพิ่มรายการอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขาย เพื่อเอื้อต่อการทำทุจริตเงินทอนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น