อพท. เดินหน้ายกระดับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจากท้องถิ่นสู่สากล

06 Dec 2024

อพท. เดินหน้ายกระดับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจากท้องถิ่นสู่สากล จัดกิจกรรมมอบประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (STMS) 10 อปท. ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน STMS ประจำปี 2567

อพท. เดินหน้ายกระดับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจากท้องถิ่นสู่สากล

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. มอบประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (STMS) ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 10 แห่ง หลังผ่านการปฏิบัติและขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามมาตรฐาน STMS ในปี 2567

นาวาอากาศเอก ดร.อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. เป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรการส่งเสริมมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Management Standard : STMS) ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในฐานะองค์กรจัดการด้านการท่องเที่ยว (Destination Management Organization: DMO) ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (STMS) ประจำปีงบประมาณ 2567 จำนวน 10 แห่ง และกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "การพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษอย่างมีมาตรฐานระดับสากล" ภายใต้กิจกรรมเผยแพร่ผลการดำเนินงานตามมาตรฐานการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้เป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567 เพื่อหวังขยายการส่งเสริมการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามเกณฑ์มาตรฐาน STMS ไปยังองค์กรจัดการด้านการท่องเที่ยวอื่นๆ ในประเทศไทย ณ ห้องชลาทัศน์แกรนด์ โรงแรม เดอะ เบด เวเคชั่น จ.สงขลา เมื่อเร็ว ๆ นี้

นาวาอากาศเอก ดร.อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวว่า จากความมุ่งมั่นของผู้บริหารและบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการปฏิบัติตามข้อกำหนดของมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Management Standard : STMS) อย่างจริงจัง เพื่อให้แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พัฒนาอย่างยั่งยืน โดยในปี 2567 มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 10 แห่ง ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (STMS) ประกอบด้วย เทศบาลตำบลจันจว้า อ.แม่จัน จ.เชียงราย เทศบาลตำบลเวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เทศบาลเมืองปากช่อง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา องค์การบริหารส่วนตำบลคลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา องค์การบริหารส่วนตำบลไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา องค์การบริหารส่วนตำบลวังอ่าง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช องค์การบริหารส่วนตำบลเขาชัยสน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง เทศบาลเมืองเขารูปช้าง อ.เมือง จ.สงขลา องค์การบริหารส่วนตำบลชุมพล อ.สทิงพระ จ.สงขลา และองค์การบริหารส่วนตำบลท่าหิน อ.สทิงพระ จ.สงขลา ซึ่งปัจจุบันมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 96 องค์กร ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าวของ อพท. แล้ว

อพท. ตระหนักดีว่าการพัฒนาการท่องเที่ยวบนพื้นฐานความยั่งยืนนั้น ต้องอาศัยหน่วยงานหรือองค์กรที่เป็นเจ้าของพื้นที่เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินงาน ซึ่งก็คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อพท. จึงได้ผลักดันเครื่องมือสำหรับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมมาตรฐานให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษให้ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ภายใต้การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและชุมชนท้องถิ่น และนำไปสู่การต่อยอดเพื่อเข้ารับการประเมินรางวัลในระดับนานาชาติ เช่น รางวัลแหล่งท่องเที่ยวที่มีความยั่งยืน 100 แห่งของโลก หรือ Green Destinations Top100 ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของแหล่งท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานความยั่งยืนในเวทีโลก

ในปี 2568 อพท. มีแนวทางการส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไปยังองค์กรที่มีบทบาทในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวให้มากขึ้น โดยเฉพาะองค์กรในระดับท้องถิ่นที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างมากที่เปรียบเสมือนด่านแรก ในการกำกับดูแลการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งจะจัดทำเป็นหลักสูตรการฝึกอบรมให้กับผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานขององค์กรที่รับผิดชอบเรื่องการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เพราะปัจจัยที่สำคัญในความสำเร็จของการดำเนินงานตามมาตรฐาน คือ ความมุ่งมั่นของบุคลากรขององค์กรในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารที่มีการกำหนดนโยบายอย่างชัดเจน รวมทั้งการสนับสนุนการดำเนินงานอย่างจริงจัง เพื่อขับเคลื่อนให้แหล่งท่องเที่ยวมีการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนต่อไป

อพท. เดินหน้ายกระดับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจากท้องถิ่นสู่สากล
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit