กทม. เร่งสำรวจ-แก้ไขลักษณะทางกายภาพหน้า รร.อัสสัมชัญธนบุรี-ลดอุบัติเหตุจากการข้ามทางม้าลาย

06 Dec 2024

นายชาติชาย กุละนำพล ผู้อำนวยการเขตบางแค กทม. กล่าวกรณีเกิดอุบัติเหตุผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ชนเด็กนักเรียนขณะข้ามทางม้าลายว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นเกิดจากความคึกคะนองของเยาวชนผู้ก่อเหตุที่ขับขี่รถจักรยานยนต์มาด้วยความเร็วและไม่หยุดให้นักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีข้ามถนนในทางม้าลาย ขณะที่รถคันอื่น ๆ หยุดให้นักเรียนข้าม ซึ่งผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ดังกล่าวยังเป็นเยาวชน อายุ 15 ปี สถานีตำรวจนครบาล (สน.) หลักสอง ได้ดำเนินการทางคดีกับผู้ก่อเหตุแล้ว ส่วนนักเรียนที่ได้รับบาดเจ็บ แพทย์ได้ตรวจร่างกาย สแกนสมอง เพื่อความปลอดภัย ซึ่งร่างกายมีรอยบาดเจ็บเล็กน้อย แพทย์ได้อนุญาตให้กลับบ้านแล้ว

กทม. เร่งสำรวจ-แก้ไขลักษณะทางกายภาพหน้า รร.อัสสัมชัญธนบุรี-ลดอุบัติเหตุจากการข้ามทางม้าลาย

ทั้งนี้ โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีมีมาตรการเข้มงวดด้านการจราจรบริเวณหน้าโรงเรียน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.หลักสอง ประจำหน้าโรงเรียนทั้งช่วงเช้าและเย็น นอกจากนี้ ยังมีครูเวรและอาสาจราจรยืนเฝ้าตรงทางม้าลายหน้าโรงเรียน เพื่อกั้นรถให้คนข้ามถนน อย่างไรก็ตาม ยังพบรถจักรยานยนต์ไม่ค่อยจอดให้นักเรียนข้ามถนนบ่อยครั้ง จนเกิดอบัติเหตุดังกล่าว ซึ่งสำนักงานเขตฯ ได้เตรียมแนวทางและมาตรการช่วยเหลือเพื่อลดอุบัติเหตุ อาทิ จัดทำทางข้ามยกระดับ (Raised Crosswalk) เพื่อให้ผู้ขับขี่ระมัดระวังและชะลอความเร็วก่อนถึงบริเวณทางม้าลาย ติดตั้งป้ายเตือนทางข้าม จัดทำเครื่องหมายจราจรพื้นทางให้ชัดเจน ติดตั้งไฟจราจรหน้าโรงเรียน โดยจะสำรวจพื้นที่เกิดเหตุและบริเวณจุดเสี่ยงในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางและมาตรการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจร่วมคุมเข้มการจราจรหน้าโรงเรียน และประสานสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. เพื่อดำเนินการแก้ปัญหา ลดอุบัติเหตุต่อไป

นายสิทธิพร สมคิดสรรพ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวว่า จากการตรวจสอบรูปแบบทางกายภาพและสภาพการจราจรบริเวณหน้าโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี เขตบางแค มีความกว้างของผิวจราจรประมาณ 6.50 เมตร 2 ช่องจราจร มีการสัญจรของคนเดินเท้า คนใช้จักรยาน รถจักรยานยนต์ มีรถโดยสารประจำทางสัญจร และมีจุดจอดห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 200 เมตร รวมถึงมีการจอดรับส่งนักเรียนด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล โดยพบว่า การจราจรบริเวณหน้าโรงเรียนมีความหลากหลายของยานพาหนะ ประกอบกับถนนมีเพียง 2 ช่องจราจร เมื่อมีปริมาณจราจรหนาแน่นและมีการจอดรถใกล้ทางม้าลาย ส่งผลให้ผู้ใช้จักรยานยนต์และผู้ใช้ทางม้าลายไม่สามารถมองเห็นรถที่สัญจรได้อย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ สจส. ได้รณรงค์สร้างความเข้าใจต่อนักเรียนและผู้ใช้ถนน ผู้ขับขี่ เพื่อให้สามารถข้ามถนนและใช้เส้นทางร่วมกันอย่างปลอดภัย โดยแนวทางพัฒนาเพิ่มเติมในอนาคตเพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบริเวณทางม้าลาย ได้แก่ การพิจารณาติดตั้งสัญญาณไฟจราจรทางข้ามแบบกดปุ่ม การจัดทำเส้นชะลอความเร็ว การบำรุงรักษาทางม้าลาย รวมถึงการใช้เทคโนโลยีมาช่วยโดยการติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) พร้อม AI เพื่อป้องปรามผู้กระทำผิดและลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุต่อไป นอกจากนี้ สจส. ได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเขตในพื้นที่ สถานีตำรวจ สถานศึกษา และประชาชน เพื่อมีส่วนร่วมไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำอีก

กทม. เร่งสำรวจ-แก้ไขลักษณะทางกายภาพหน้า รร.อัสสัมชัญธนบุรี-ลดอุบัติเหตุจากการข้ามทางม้าลาย