"เมดีซ กรุ๊ป" ลงนามสัญญากับ "ชิบุยะ คอร์ปอเรชั่น" หนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยี ในการซื้อระบบเพาะเลี้ยงเซลล์อัตโนมัติ ระบบอัจฉริยะเสริมศักยภาพธนาคารเซลล์ แห่งโลกอนาคต คาดส่งมอบมิ.ย. 69 ตอกย้ำหนึ่งในผู้นำการพัฒนา และนำเสนอโซลูชั่นด้านสเต็มเซลล์ที่โดดเด่นทั้งในไทย และภูมิภาค
นายแพทย์วีรพล เขมะรังสรรค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมดีซ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MEDEZE เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามในสัญญาการจัดซื้อระบบเพาะเลี้ยงเซลล์อัตโนมัติร่วมกับ บริษัท ชิบุยะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ โดยระบบดังกล่าวเป็นระบบอัจฉริยะที่จะถูกติดตั้ง ณ สถานประกอบการธนาคารเซลล์อาคารแห่งใหม่ของ MEDEZE ซึ่งขยายการให้บริการจัดเก็บเซลล์ต้นกำเนิดจากเนื้อเยื่อสายสะดือ และเนื้อเยื่อไขมัน ตลอดจนการจัดเก็บเลือดจากสายสะดือ และเซลล์รากเส้นผม โดยคาดว่าจะสามารถส่งมอบระบบดังกล่าวได้ภายในเดือนมิถุนายน 2569 ซึ่งระบบอัจฉริยะดังกล่าว จะสามารถเสริมศักยภาพธนาคารเซลล์ และจะเป็นการตอกย้ำหนึ่งในการเป็นผู้นำในการพัฒนา และนำเสนอโซลูชั่นด้านสเต็มเซลล์ที่โดดเด่นทั้งในประเทศไทย และในภูมิภาค
ขณะที่ MR.HIDETOSHI SHIBUYA บริษัท ชิบุยะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า บริษัท เมดีซ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MEDEZE เป็นธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์ที่มีประสบการณ์ และใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งระบบเพาะเลี้ยงเซลล์อัตโนมัติที่ชิบุยะนำเสนอให้กับ MEDEZE จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการจัดเก็บเซลล์ และช่วยลดข้อจำกัดด้านต้นทุนในการจัดเก็บ และไม่จำเป็นต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ในการปฏิบัติงาน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงเซลล์ได้อีกด้วย
โดยระบบดังกล่าวถือว่าเป็นระบบเพาะเลี้ยงเซลล์อัตโนมัติสำหรับเซลล์ต้นกำเนิดระบบแรกของโลก ซึ่งสามารถบูรณาการเทคโนโลยีการควบคุมสภาวะปลอดเชื้อ เทคโนโลยีการผลิตเซลล์ และเทคโนโลยีการขนส่งอัตโนมัติ ซึ่งระบบการทำงานประกอบด้วย หน่วยประมวลผลเซลล์ (Cell Processing Unit) ซึ่งดำเนินกระบวนการเพาะเลี้ยงเซลล์ทั้งมวลโดยอัตโนมัติ ตั้งแต่การจัดส่งจนถึงการเปลี่ยนอาหารเลี้ยงเซลล์ และการเพาะเลี้ยงภายใต้สภาวะปลอดเชื้อ, หน่วยเพาะเลี้ยง (Incubation Unit) ทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิ และความชื้นสำหรับเซลล์ของผู้รับบริการแต่ละรายในหน่วยเพาะเลี้ยงเซลล์ขนาดเล็กที่แยกอิสระจำนวนประมาณ 100 ยูนิต เพื่อลดความเสี่ยงในการปนเปื้อน และดำรงไว้ซึ่งสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมที่สุด และหน่วย AiV (AiV Unit) ที่ทำการขนส่งเซลล์แต่ละชุดโดยใช้หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ AMR (Autonomous Mobile Robot) ซึ่งใช้กระบวนการที่ได้รับการปรับให้เหมาะสมด้วยระบบ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งหน่วยหลักทั้งสามสามารถทำงานเชื่อมต่อกัน และบันทึกข้อมูลการผลิตโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ในการปฏิบัติงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บเซลล์ และลดปัญหาการปนเปื้อนได้
"เรามีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนา และใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยในการทำให้ประสิทธิภาพของการจัดเก็บเซลล์สูงขึ้น และเป็นไปตามมาตรฐานสากล และด้วยการยกระดับความปลอดภัยของกระบวนการจัดเก็บเซลล์ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในธนาคารเซลล์ จะช่วยลดความเสี่ยงอันเกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ รวมถึงระบบนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพให้สามารถผลิต และจัดเก็บเซลล์ที่มีคุณภาพสูงได้อย่างมั่นคง และจัดหาบริการที่ปลอดภัย และมีราคาที่สมเหตุสมผลยิ่งขึ้น" นายแพทย์วีรพลกล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit