โรเบิร์ต วอลเทอร์ส บริษัทด้านการจัดหางานชั้นนำที่ได้รับความไว้วางใจทั่วโลก ได้เผยแพร่ ผลสำรวจเงินเดือนประจำปี 2568 ซึ่งเจาะลึกภาพรวมแนวโน้มเงินเดือนและตลาดการจ้างงานทั่วโลก รายงานฉบับนี้ยังให้ข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์ต่อเนวโน้มการจ้างงานและเงินเดือนในตลาดประเทศไทยโดยเฉพาะ การสำรวจดังกล่าวจัดทำขึ้นในเดือนกันยายน 2567 โดยรวบรวมความคิดเห็นจากพนักงานและบริษัทในประเทศไทย เพื่อนำเสนอข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับแนวโน้มตลาดการจ้างงาน ความคาดหวังต่อเงินเดือน และกลยุทธ์การรักษาพนักงานในปีที่จะมาถึง
ภาพรวมสำคัญของตลาดแรงงานไทยในปี 2568
ตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการในปี 2568
ความต้องการพนักงานในประเทศไทยคาดว่าจะสูงในหลายภาคส่วน โดยปัจจัยสำคัญที่กำหนดความต้องการ ได้แก่ การขาดแคลนทักษะและการเติบโตของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทยโดยตำแหน่งงานที่มีความต้องการสูง ได้แก่ ผู้จัดการโรงงานและผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านคุณภาพและการวิจัยและพัฒนา (R&D) ความต้องการเหล่านี้เด่นชัดในอุตสาหกรรมที่กำลังขยายตัว เช่น การผลิตอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) และ ยานยนต์
ในส่วนของสายงานทรัพยากรบุคคล (HR) ตำแหน่งที่ต้องทำหน้าที่บริหารคนและบริหารธุรกิจควบคู่กันไปหรือ HR Business Partner (HRBP) และ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้และพัฒนา (Learning and Development) จะเป็นที่ต้องการสูง ในส่วนของอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ (healthcare) มีความต้องการเฉพาะด้านในตำแหน่งนักการตลาดและผู้เชี่ยวชาญด้านการขาย เพื่อสนับสนุนการตลาดผลิตภัณฑ์และการขยายตลาด ในขณะเดียวกัน ในภาคการเงินและธนาคาร การออกใบอนุญาตธนาคารเสมือนจริง (Virtual Banking) โดยธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2568 จะช่วยผลักดันความต้องการบุคลากรในหลากหลายตำแหน่งในภาคการเงินและธนาคาร
ในส่วนของนายจ้าง ทักษะด้านสังคมและอารมณ์ (soft Skills)ที่ถูกให้ความสำคัญมากที่สุดคือ การมีทัศนคติเชิงบวกและความยืดหยุ่น (56%) ตามมาด้วยทักษะความเป็นผู้นำและการทำงานร่วมกันเป็นทีม (51%) และทักษะการแก้ปัญหาและการคิดเชิงวิเคราะห์ (49%)
นอกจากนี้ยังมีความต้องการเพิ่มขึ้นสำหรับพนักงานที่พูดภาษาจีนได้ โดยเฉพาะในสายงาน วิศวกรรม ซัพพลายเชน และ ทรัพยากรบุคคล (HR) ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของบริษัทจีนในประเทศไทย
การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในตลาดการจ้างงานมากขึ้น
บริษัทบางแห่งเริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาในตลาดการจ้างงาน อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีมาใช้ในวงกว้างยังมีข้อจำกัดด้านทรัพยากร โครงสร้างพื้นฐาน และทักษะพนักงาน จากการที่ AI ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยในการทำงานมากขึ้น จึงมีผลกระทบต่อทักษะที่จำเป็นในตลาดแรงงาน ความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้ความต้องการพนักงานที่สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยี AI เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ภาคบัญชีและการเงิน
นางปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา ผู้จัดการโรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประจำประเทศไทย ชี้ให้เห็นถึงบทบาทที่เพิ่มขึ้นของเทคโนโลยีในกระบวนการสรรหาบุคลากร โดยกล่าวว่า "ปัจจุบัน บริษัทส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงกระบวนการสรรหาให้มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลช่วยทำงานในบางขั้นตอน เช่น การประกาศรับสมัครงาน และการจัดตารางสัมภาษณ์ นอกจากนี้ การสัมภาษณ์งานแบบเสมือนจริงและการใช้การประเมินผลออนไลน์ได้กลายเป็นเรื่องปกติทั่วไป ซึ่งช่วยให้องค์กรสามารถเข้าถึงผู้สมัครได้หลากหลายมากขึ้นโดยไม่มีข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ อย่างไรก็ตาม การใช้ AI ยังคงถูกใช้ในวงจำกัด ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเทคโนโลยีและบริษัทจัดหางาน อย่างเช่น แพลทฟอร์มการหางานหรือบริษัทจัดหางานข้ามชาติเท่านั้น"
การดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถ
ในขณะที่การแข่งขันเพื่อดึงดูดบุคลากรมีความเข้มข้นขึ้น และพนักงานจำนวนมากวางแผนที่จะเปลี่ยนงานในปี 2568 บริษัทต่าง ๆ ไม่เพียงแต่เพิ่มการจ่ายเงินเดือนที่สูงขึ้น แต่ยังลงทุนในด้านการรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กร ด้วยสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยที่อยู่ในช่วงฟื้นตัว ทั้งนายจ้างและพนักงานต่างมีความระมัดระวัง และพยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยง
การมอบสวัสดิการที่น่าสนใจให้กับพนักงานจะเป็นไฮไลท์สำคัญในปีหน้า โดยการเสนอสิทธิประโยชน์และโครงการที่ช่วยยกระดับความผูกพันของพนักงาน โดยนอกจากเงินเดือนแล้ว พบว่า 85% ของพนักงานมองว่า โบนัสเป็นสวัสดิการที่จำเป็น รองลงมาคือ 63% ต้องการชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นและการทำงานทางไกล และ 60% สนใจในประกันสุขภาพที่ครอบคลุมมากขึ้น เมื่อพูดถึงสิ่งที่พนักงานต้องการจากนายจ้าง 46% ระบุว่าค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ยอดเยี่ยม เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ตามมาด้วย เพื่อนร่วมงานที่สร้างแรงบันดาลใจและวัฒนธรรมองค์กรที่ดี (38%) และ การทำงานที่ยืดหยุ่น (34%) พนักงานยังให้ความสนใจที่จะร่วมงานกับองค์กรที่มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมและการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมทั้งมอบความมั่นคงในงานและโอกาสเติบโตในสายอาชีพ โดยเฉพาะในกลุ่มพนักงานรุ่นใหม่
ในปี 2568 พนักงานส่วนใหญ่กว่า 80% กำลังมองหางานใหม่แสดงถึงความต้องการการเติบโตและความก้าวหน้าในการทำงาน นอกจากนี้ 79% ของพนักงานยังมั่นใจในโอกาสการจ้างงานที่มีอยู่ ซึ่งสื่อถึงมุมมองเชิงบวกต่อภาพรวมตลาดการจ้างงานในอนาคต
กว่า 46% ของนายจ้างระบุว่า ความคาดหวังด้านเงินเดือนและสวัสดิการเป็นปัญหาสำคัญที่สุดในการดึงดูดบุคลากร ปัญหาอื่น ๆ ที่พบได้บ่อย ได้แก่ การขาดผู้สมัครงาน (41%) และ การขาดประสบการณ์ในอุตสาหกรรม (37%) อย่างไรก็ตาม กว่า 50% ของนายจ้างมองว่าการแข่งขันสูงในตลาดแรงงานซึ่งเกิดจากการที่พนักงานมักมองหาโอกาสในตำแหน่งใหม่อย่างต่อเนื่อง เป็นอุปสรรคสำคัญในการรักษาบุคลากร ปัญหาอื่นๆเพิ่มเติม ได้แก่ การขาดโอกาสเลื่อนตำแหน่งและการเติบโตในสายอาชีพที่จำกัด (38%) และ ความยากลำบากในการเสนอค่าตอบแทนและสวัสดิการที่สามารถแข่งขันได้ (34%)
นางปุณยนุช แนะนำว่า บริษัทควรมุ่งเน้นที่การปรับปรุงกระบวนการสรรหาให้มีความรวดเร็ว คล่องตัวเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้สมัครงาน พร้อมทั้งเน้นความสำคัญของการสร้างความผูกพันกับพนักงานผ่านแนวทาง ต่าง ๆ เช่น การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมความหลากหลายและความครอบคลุม การให้สวัสดิการที่ยืดหยุ่น รวมถึงการจัดโปรแกรมการยกย่องชมเชยและให้รางวัลที่เหมาะสม
การอัดฉีดเงินเดือนเพิ่มขึ้นสำหรับผู้สมัครที่มีประสบการณ์
ผู้สมัครที่มีทักษะที่ตรงกับงาน คาดว่าจะได้รับการปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นสูงสุด 20% ในสายงานที่ขาดแคลนบุคลากร เช่น การจัดการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ อาจมีการปรับเงินเดือนที่เพิ่มสูงขึ้นกว่านี้ สำหรับกลุ่มที่ยังต้องการการฝึกอบรมหรือการเตรียมความพร้อมเพิ่มเติม การปรับเงินเดือนเพิ่มอาจอยู่ที่ประมาณ 15% ในส่วนของพนักงานที่ยังคงทำงานในตำแหน่งเดิม คาดว่าจะได้รับการปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นประมาณ 2-4% ในปี 2568
นอกจากนี้ เป็นที่น่าสนใจว่า 70% ของพนักงานต่างคาดหวังการปรับขึ้นเงินเดือนในปี 2568 ซึ่งสอดคล้องกับแผนของนายจ้างในหลายภาคส่วนกว่า 3 ใน 4 ที่มีแผนจะปรับขึ้นเงินเดือนให้พนักงานในปีหน้า
สามารถดาวน์โหลดรายงานการสำรวจเงินเดือนของโรเบิร์ต วอลเทอร์ส ได้ที่ www.robertwalters.co.th/salarysurvey.html
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit