ชวนมารู้จักกับ 10 อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่พบบ่อยที่สุด!

12 Dec 2024

อาการเจ็บป่วย และเหตุการณ์ฉุกเฉินทางสุขภาพสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเวลา และทุกสถานที่ การรู้จักอาการฉุกเฉินที่พบบ่อย สามารถช่วยให้เรารับมือได้อย่างถูกต้อง และทันท่วงที นี่คือ 10 อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่พบบ่อยที่สุดที่ทุกคนควรรู้จัก และรู้วิธีปฏิบัติเบื้องต้น ซึ่งบทความให้ความรู้โดย นพ.กิตติภูมิฐ์ กวินโชติไพศาล แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ศูนย์บริการผู้ป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุ (Emergency Room) โรงพยาบาลนวเวช ได้หยิบยกตัวอย่างเหตุการณ์ฉุกเฉิน ให้ทุกท่านได้เข้าใจอาการของโรคต่าง ๆ ที่จะต้องรีบนำส่งรพ.โดยเร็ว เพื่อทำการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ชวนมารู้จักกับ 10 อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่พบบ่อยที่สุด!
  1. อาการหัวใจวาย (Heart Attack)

อาการหัวใจวายมักเริ่มต้นด้วยอาการจุกแน่นลิ้นปี หรือแสบแน่นหน้าอก รู้สึกแน่นบริเวณแขนซ้าย คอ หรือกราม บางคนอาจมีเหงื่อออกมาก หายใจติดขัด หรือรู้สึกคลื่นไส้ การรักษาเบื้องต้นคือ ให้ผู้ป่วยพักในท่านั่ง หรือนอนพัก และรีบติดต่อหน่วยแพทย์ฉุกเฉินทันที เนื่องจากอาการหัวใจวายมีความคล้ายคลึงกับอาการของโรคอื่น เช่น โรคกรดไหลย้อน จึงควรให้แพทย์ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และทำการวินิจฉัยโดยเร็วเพื่อการรักษาที่เหมาะสม

  1. โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

อาการของโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ หน้าเบี้ยว พูดลำบาก แขนขาอ่อนแรง หรือไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ด้านใดด้านหนึ่ง ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที เพราะโรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่อันตราย แต่หากรู้เร็ว รักษาทันเวลา ก็สามารถช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

  1. อาการช็อก (Shock)

ภาวะช็อกเกิดขึ้นจากการที่ร่างกายไม่สามารถไหลเวียนเลือดได้เพียงพอ ส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ ขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง อาการที่พบบ่อยคือหน้าซีด เหงื่อออกมาก ชีพจรเบา เร็ว และอาจถึงขั้นหมดสติ

การรักษาเบื้องต้น คือให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกขาขึ้น และติดต่อแพทย์ทันที เพื่อคัดกรองและให้สารน้ำทดแทนแร่ธาตุที่สูญเสียไป อาจจำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาภาวะแทรกซ้อน หรือการติดเชื้อร่วมด้วย

  1. อาการสำลัก (Choking)

อาการสำลักเกิดขึ้นเมื่อทางเดินหายใจถูกปิดกั้นโดยอาหารหรือวัตถุ ทำให้หายใจไม่ออก โดยมีสัญญาณ เช่น การไอแรง หน้าตาแดง และบางครั้งอาจมีอาการเสียงหอบเหนื่อยได้

อาการสำลักมี 2 ประเภท

  • อุดตันทั้งหมด - ผู้ป่วยจะไม่สามารถออกเสียงได้ เพราะทางเดินหายใจถูกปิดสนิท
  • อุดตันบางส่วน - ผู้ป่วยอาจมีเสียงหอบเหนื่อย และยังพอออกเสียงได้บ้าง

หากผู้ป่วยอยู่ในภาวะวัตถุอุดตันหลอดลม ควรช่วยเหลือ หรือใช้วิธี Heimlich maneuver โดยการกดแรง ๆ ที่ลิ้นปี่ (ส่วนบนของกระบังลม) เพื่อดันสิ่งที่ติดออกจากทางเดินหายใจ และหากอาการยังไม่ดีขึ้นหรืออยู่ในภาวะอันตราย ควรรีบโทรแจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉินทันที

  1. บาดเจ็บจากการหกล้ม (Falls and Injuries)

การหกล้มอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้หลากหลาย ตั้งแต่ฟกช้ำ กระดูกหัก จนถึงอาการบาดเจ็บที่ศีรษะ หากผู้ป่วยไม่สามารถเคลื่อนไหว หรือมีอาการปวดรุนแรง ควรหลีกเลี่ยงการขยับตัว และรีบติดต่อแพทย์เพื่อประเมินอาการ ในกรณีที่การหกล้มมีความรุนแรง อาจส่งผลให้เกิดเลือดคั่งในสมอง หากผู้ป่วยมีอาการอาเจียน หรือมีเลือดออกที่หู, จมูก ภายหลังการหกล้ม ควรรีบพบแพทย์ทันที

  1. ภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง (Severe Dehydration)

ภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรงมักเกิดจากการที่ร่างกายสูญเสียน้ำมาก เช่น จากการออกกำลังกายหนัก อากาศร้อนจัด หรือการเจ็บป่วยที่ทำให้สูญเสียน้ำ เช่น อาเจียนหรือท้องเสีย อาการของภาวะนี้ที่พบบ่อย ได้แก่ ปากแห้ง เวียนศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว ปัสสาวะน้อยและเป็นสีเข้ม หรือไม่ปัสสาวะเลย

การรักษาภาวะนี้อาจเริ่มจากการดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อทดแทนแร่ธาตุที่สูญเสียไปแต่ในกรณีที่ร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรงจนไม่สามารถดื่มน้ำเองได้ หรือมีอาการรุนแรง จำเป็นต้องให้สารน้ำทดแทนแร่ธาตุต่าง ๆ ทางหลอดเลือดดำ เพื่อช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกาย

  1. แพ้อาหารหรือยารุนแรง (Anaphylaxis)

อาการแพ้รุนแรง หรือแอนาฟิแล็กซิส (Anaphylaxis) อาจเกิดขึ้นได้จากการรับประทานอาหาร ยา หรือสารที่แพ้ อาการที่พบบ่อยคือ หายใจติดขัด ผื่นขึ้น ตาบวม ปากบวม หรืออาจจะมีอาการท้องเสีย อาเจียน, ได้ยินเสียงวี้ดที่ปอดขณะหายใจ, วูบหมดสติ หากพบอาการดังกล่าวควรใช้ยา Epinephrine หรือยาแก้แพ้ฉุกเฉิน และรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที

  1. บาดแผลฉกรรจ์ (Severe Cuts or Lacerations)

บาดแผลลึกที่มีเลือดออกไม่หยุดหรือบาดแผลขนาดใหญ่ ควรได้รับการรักษาโดยแพทย์โดยเร็ว การปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่สำคัญ คือการกดแผลด้วยผ้าสะอาดหรือผ้าก๊อซเพื่อช่วยหยุดเลือด และรีบนำตัวผู้บาดเจ็บไปโรงพยาบาล ในกรณีที่เลือดไหลออกมาก การปฐมพยาบาลด้วยวิธี ขันชะเนาะ (Tourniquet) อาจช่วยลดการไหลของเลือดได้โดยห้ามปลดขันเฉนาะจนกว่าผู้บาดเจ็บจะถึงโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์เป็นผู้ดำเนินการรักษาต่อ

  1. ไฟไหม้หรือสารเคมีโดนผิวหนัง (Burns or Chemical Burns)

การถูกไฟไหม้หรือสารเคมีสัมผัสผิวหนัง สามารถทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงได้ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับแผลไฟไหม้ คือการล้างบริเวณที่ถูกไฟไหม้ด้วยน้ำอุณหภูมิห้อง ควรปิดแผลด้วยผ้าสะอาด และรีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็ว หากเป็นกรณีของสารเคมีโดนผิวหนัง ให้ล้างบริเวณที่สัมผัสสารเคมีด้วยน้ำสะอาดในปริมาณมากทันที หากสารเคมีเข้าสู่ปากหรือกลืนกิน ไม่ควรกระตุ้นให้อาเจียน เนื่องจากอาจทำให้สารเคมีกลับมาทำอันตรายได้อีก ควรรีบติดต่อหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อการรักษาที่เหมาะสม

  1. อาการชัก (Seizures)

อาการชักคือการที่ร่างกายมีการเกร็งและสั่นอย่างรุนแรง ซึ่งสามารถเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น โรคลมชัก การบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือการขาดน้ำ เมื่อผู้ป่วยมีอาการชัก ควรจัดท่าให้นอนตะแคง เพื่อป้องกันการสำลัก

** หลีกเลี่ยงการใส่วัตถุใด ๆ เข้าปาก เนื่องจากอาจทำให้เกิดบาดเจ็บเพิ่มเติม และไม่ช่วยป้องกันการกัดลิ้นตามที่หลายคนเข้าใจผิด ควรติดต่อหน่วยแพทย์ฉุกเฉินเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลจากผู้ที่มีความชำนาญเฉพาะทางโดยเร็วที่สุด

อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินเหล่านี้สามารถพบได้บ่อย และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน การรู้จักวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น และรีบขอความช่วยเหลือทางการแพทย์อย่างทันท่วงที จะช่วยลดความรุนแรงของอาการ และเพิ่มโอกาสในการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรณีต้องการความช่วยเหลือหรือเรียกรถพยาบาลฉุกเฉิกโทร. 02 483 9944 หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์บริการผู้ป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุ (Emergency Room) โรงพยาบาลนวเวช โทร. 1507 I Line: @navavej

HTML::image(
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit