หลายคนอาจไม่คาดคิดว่า การใช้ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ ซึ่งเป็นอีกชื่อเรียกของยาต้านจุลชีพนี้ จะมีส่วนทำให้เกิดผลเสียต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราได้ง่าย โดยหากยาเหล่านี้ถูกใช้อย่างไม่เหมาะสมหรือเกิดปนเปื้อนลงไปในแหล่งน้ำและดิน หรือกำจัดไม่ถูกวิธีก็จะกลายเป็นจุดที่สร้างปัญหาใหญ่ให้กับสิ่งแวดล้อมตามมา ซึ่งการดื้อยาต้านจุลชีพ เป็นความสามารถของจุลินทรีย์ (เช่น แบคทีเรีย ไวรัส และรา) ในการเจริญเติบโตหรืออยู่รอดได้แม้สัมผัสกับยาฆ่าเชื้อ (ยาต้านจุลชีพ) ที่มีความเข้มข้นเพียงพอในการฆ่าหรือยับยั้งเชื้อในสายพันธุ์เดียวกัน หรือสูงกว่าความเข้มข้นที่ใช้ในการป้องกันและรักษาโรค ฉะนั้น เมื่อเชื้อจุลชีพเกิดการดื้อยาขึ้นมา จึงส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในสิ่งแวดล้อม
ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial Resistance : AMR) ถูกจัดให้เป็นภัยคุกคามสุขภาพระดับโลกที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อคน สัตว์ ชุมชน อาหาร สิ่งแวดล้อมและระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแล้วยังรวมไปถึงยีนดื้อยาที่สามารถถ่ายทอดและแพร่กระจายไปมาระหว่างคน สัตว์ อาหารและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการแพร่กระจายข้ามไปมาระหว่างประเทศได้อีกด้วย โดยที่ผ่านมายังพบว่าทั่วโลกมีผู้คนเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาสูงถึงปีละ 1.27 ล้านคน สำหรับประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 38,000 ราย ด้านข้อมูลจากธนาคารโลก ยังคาดการณ์ไว้ว่าหากไม่เร่งแก้ไขปัญหานี้ในปี 2593 ผู้คนจะยากจนขั้นรุนแรงกว่า 28.3 ล้านคน รวมถึงการถดถอยของตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลก ดังนั้นปัญหาการติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ จึงเป็นวิกฤตที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ไข รวมถึงติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
สถานการณ์การดื้อยาต้านจุลชีพเชื่อมโยงกับคน สัตว์ อาหาร พืช สิ่งแวดล้อม แหล่งน้ำและสุขาภิบาล โดยในภาคการเกษตรพบว่าเกษตรกรสามารถเข้าถึงการใช้ยาต้านจุลชีพได้หลายช่องทาง เช่น ร้านขายสินค้าเกษตร หรือ สั่งซื้อทางออนไลน์ ซึ่งหากเกิดการใช้ยาต้านจุลชีพที่ไม่เหมาะสมหรือใช้มากเกินความจำเป็น อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการปล่อยของเสียปนเปื้อนเชื้อดื้อยาหรือมียาต้านจุลชีพตกค้างอยู่ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ไปสู่การใช้น้ำในทางเกษตรกรรม การเลี้ยงสัตว์ หรือการใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อของคนในชุมชน หรือแม้แต่การใช้ยาต้านจุลชีพเพื่อการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ก็อาจทำให้มีการปนเปื้อนออกสู่สิ่งแวดล้อมทั้งทางแหล่งน้ำและในดิน เช่น การล้างคอกหรือนำมูลสัตว์ไปทำปุ๋ย ทำให้เกิดการชะล้างยาต้านจุลชีพและเชื้อดื้อยาไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะได้ ส่วนการบริโภคเนื้อสัตว์หรือพืชที่เกษตรกรใช้ยาต้านจุลชีพ ก็มีโอกาสได้รับยาที่ตกค้าง รวมถึงยีนที่ดื้อยาอาจตกค้างในอาหารหรือผลไม้ที่เรากินได้ ทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียในร่างกายเกิดการดื้อยาได้เช่นกัน สิ่งเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนที่เห็นได้ชัดว่า การดื้อยาต้านจุลชีพ ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพให้ลดลง ซึ่งในเรื่องนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้ติดตามและเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยมีการวิจัยและสำรวจเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสาขา พบว่า อัตราดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียไม่ได้ขึ้นกับช่วงของลำน้ำ(ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ) แต่ขึ้นอยู่กับการไหลผ่านของน้ำไปยังพื้นที่ต่างๆ ที่มีการสะสมของมลพิษจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะบริเวณชุมชนเมือง ที่มีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่นและพื้นที่เกษตรกรรมจะมีเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแพร่กระจายอยู่
ที่ผ่านมาสำหรับประเทศไทยได้มีการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ พ.ศ. 2560-2565 ซึ่งเป็นผลสำเร็จในหลายประเด็น เช่น มีการลดลงของปริมาณการบริโภคยาต้านจุลชีพในคนและสัตว์ เป็นต้น และปัจจุบันได้ดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือ ลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในมนุษย์ ลดความเสี่ยงจากเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในอาหารและสิ่งแวดล้อม ลดการบริโภคยาต้านจุลชีพสำหรับมนุษย์และสัตว์ รวมถึงเพิ่มความรอบรู้ด้านการดื้อยาต้านจุลชีพของประชาชนและเพิ่มสมรรถนะของระบบจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทยให้เป็นไปตามเกณฑ์สากล อีกทั้งยังมีหน่วยงานภาครัฐทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันพัฒนาแนวทางการเฝ้าระวังการติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ ในคน สัตว์ อาหาร และสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในแนวทางสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพได้ นั่นคือ ประชาชนจะต้องมีความตระหนักรู้เรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างรู้เท่าทัน ขณะเดียวก็ต้องมีการบริโภคและการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุสมผล ไม่ใช้เกินความจำเป็น ทั้งการใช้ในคน สัตว์ และภาคการเกษตร รวมทั้งระมัดระวังไม่ให้เกิดการปนเปื้อนลงไปในสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากทำได้เช่นนี้จะเท่ากับว่า "เรา" ได้ช่วยลดมลพิษและลดผลกระทบจากปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพไม่ให้ไปทำร้ายและคุกคามต่อสุขภาพของผู้คน รวมไปถึงสัตว์ ความปลอดภัยทางอาหาร และสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit