มูลนิธิสัมมาชีพคัดเลือก 3 บุคคลรับรางวัล "ปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ" ปี 2567 เพื่อเชิดชูเกียรติและเผยแพร่ผลงานเด่นให้เป็นต้นแบบ เผยคุณสมบัติเป็นผู้เชี่ยวชาญในแขนงต่างๆ และถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างประโยชน์ต่อชุมชน สังคม เตรียมเข้ารับรางวัล 17 ธ.ค. นี้
นายมงคล ลีลาธรรม ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิสัมมาชีพ กล่าวว่า คณะกรรมการมูลนิธิฯ ได้มีมติคัดเลือกปราชญ์ชาวบ้านที่มีผลงานโดดเด่นเข้ารับรางวัล "ปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ" ประจำปี 2567 จำนวน 3 ท่าน คือ นายวีรวัฒน์ จีรวงส์ ซึ่งมีผลงานพัฒนานวัตกรรมการผลิตทุเรียนคุณภาพแบบครบวงจร นางฑิฆัมพร กองสอน ผู้นำอนุรักษ์ป่าต้นน้ำโดยการทำเกษตรอินทรีย์ และนายประสิทธิ์ รูปต่ำ ผู้ผลิตไผ่ตงนอกฤดูกาลและการจัดการไผ่ตงครบวงจร โดยรางวัลดังกล่าวนี้มีขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติบุคคลที่ริเริ่ม สร้างสรรค์งาน ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม รวมทั้งเป็นผู้ที่ถ่ายทอดความรู้และมีการนำไปใช้ในการพัฒนาอาชีพ การประกอบการในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน สังคมในวงกว้าง
"รางวัลปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพเป็นรางวัลที่มีขึ้นยกย่องผู้ที่มีผลงานดีเด่น มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และยังถ่ายทอดความรู้เพื่อสร้างประโยชน์แก่ชุมชน สังคม รางวัลนี้จึงไม่เพียงแต่เป็นการยกย่องในฐานะต้นแบบที่มีความรู้ความสามารถ แต่ยังเป็นแบบอย่างที่ดีในการสร้างประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นแนวทางให้ผู้สนใจ ท้องถิ่นนำไปพัฒนาสร้างอาชีพ รายได้ ที่ยั่งยืนให้แก่ตนเองและชุมชน" นายมงคลกล่าว
สำหรับนายวีรวัฒน์ จีรวงส์ มีผลงานการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการผลิตทุเรียนคุณภาพแบบครบวงจร (Premium Durian Cycle) เป็นผู้ที่นำความรู้ทางวิชาการ เทคโนโลยีการเกษตรมาประยุกต์ใช้ จนทำให้มีองค์ความรู้ในการผลิตทุเรียนคุณภาพแบบครบวงจรได้มาตรฐาน GAP ทำให้ได้ผลผลิตทุเรียนที่มีคุณภาพและราคาสูง ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทั้งยังปรับสู่การแปรรูปผลิตผลการเกษตร เพื่อลดปัญหาด้านตลาดและราคา เช่น ทุเรียนแช่เยือกแข็ง ทุเรียนฟรีซดราย รวมถึงผลไม้ฟรีซดรายอื่น ๆ
นอกจากนี้ยังมีการวิจัยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ส่งผลให้มีนวัตกรรมใหม่ในการทำการเกษตร และตามแนวทาง BCG Model ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มมูลค่า เช่น นวัตกรรมห่อผลทุเรียนช่วยป้องกันแมลง การแปรรูปดอก ผลทุเรียนอ่อน เป็นน้ำหอม เจล รวมถึงอาหารสัตว์และปุ๋ยจากเปลือกทุเรียน
นางฑิฆัมพร กองสอน ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลบัวใหญ่ เป็นผู้นำอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ เพื่อแก้ปัญหาเขาหัวโล้น และปัญหาการใช้สารเคมีในการทำเกษตร โดยการทำเกษตรอินทรีย์และต่อยอดด้วยการพัฒนาฟักทองพืชพื้นถิ่นให้มีมูลค่าสูง แปรรูปครบวงจร ซึ่งถือเป็นแบบอย่างการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐาน BCG นอกจากนี้ยังเชื่อมต่อกับองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชนเพื่อทำการตลาด จึงสามารถสร้างรายได้แก่เกษตรให้สูงกว่าการทำเกษตรเคมี และการเชื่อมร้อยภาคส่วนต่างๆ ทั้งจังหวัด เพื่อทำงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ฟื้นฟูป่า ส่งผลให้การทำเกษตรอินทรีย์ทั้งจังหวัดมีพลัง ลดการใช้สารเคมีในการทำเกษตร และรักษาป่าต้นน้ำได้
นายประสิทธิ์ รูปต่ำ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกไผ่อำเภอท่าตะเกียบ จ. ฉะเชิงเทรา มีผลงานผลิตไผ่ตงนอกฤดูกาล การจัดการไผ่ตงครบวงจร โดยนายประสิทธิ์เป็นผู้ริเริ่มนำไผ่ตงเขียวสายพันธุ์ศรีปราจีนมาปลูกในพื้นที่ และพัฒนาเทคนิคการผลิตไผ่ตงนอกฤดูกาล พัฒนาคุณภาพ ทำให้สามารถจำหน่ายหน่อไม้สดได้ในราคาที่สูงกว่าตลาด ทั้งมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากหน่อไม้หลากหลาย เช่น ตะเกียบ ถ่านชาโคล แชมพู สบู่ ชาใบไผ่ คิดค้นเครื่องมือ "กังหันล้างหน่อไม้" ที่สามารถล้างผลผลิตได้สูง ลดค่าใช้จ่ายแรงงาน จึงทำให้ลดต้นทุนการผลิตได้
การผลิตไผ่ของนายประสิทธิ์ถือเป็นแบบอย่างการต่อยอดผลผลิตได้หลากหลาย ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าตั้งแต่หน่อ ลำต้น ไปจนถึงขุยไผ่ การจัดการวัสดุเหลือใช้ทางเกษตร และการพัฒนานวัตกรรมที่มีต้นทุนไม่สูงใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้อย่างเหมาะสม ถือเป็นแบบอย่างของการเพิ่มมูลค่าผลิตผลการเกษตรตามแนวทาง BCG
ทั้งนี้ ในปี 2567 นี้ มูลนิธิสัมมาชีพได้คัดเลือกปราชญ์ชาวบ้านผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมแก่การเป็นต้นแบบสัมมาชีพที่สุด 3 คน จากการเสนอรายชื่อเข้าร่วมทั้งสิ้น 128 คน และจะมีพิธีมอบรางวัลปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ ในวันที่ 17 ธันวาคม 2567 ณ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ ซึ่งปราชญ์ชาวบ้านทั้ง 3 คนจะได้รับถ้วยรางวัลเกียรติยศและเงินสดคนละ 50,000 บาท พร้อมการพัฒนาร่วมกับเครือข่ายภาคีของมูลนิธิต่อไป
สำหรับรางวัลปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ เริ่มดำเนินการมาตั้งปี 2565 โดยขณะนี้มีผู้ที่ได้รับรางวัลปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพทั้งสิ้น 12 คน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit