รู้ทันสัญญาณอันตราย "โนโรไวรัส (Norovirus)"

27 Dec 2024

หน้าหนาวแบบนี้ มีโรคใหม่กำลังระบาดอีกแล้ว!! นั่นก็คือ "โนโรไวรัส" มักเกิดขึ้นในเด็ก ซึ่งตอนนี้มีเด็ก ๆ ติดเชื้อมากกว่า 1,000 คนแล้ว โนโรไวรัสคือโรคระบบทางเดินอาหารในคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ ไวรัสชนิดนี้มักทำให้เกิดอาการท้องเสีย อาเจียน และปวดท้องอย่างเฉียบพลัน และแพร่ระบาดได้ง่ายในชุมชนหรือสถานที่ที่คนอยู่ร่วมกันจำนวนมาก เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล และบ้านพักคนชรา

รู้ทันสัญญาณอันตราย "โนโรไวรัส (Norovirus)"

สาเหตุของการติดเชื้อโนโรไวรัส

  • การรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสนี้
  • การสัมผัสพื้นผิวหรือสิ่งของที่ปนเปื้อนของเชื้อไวรัสนี้
  • การสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย เช่น การดูแลผู้ป่วย

ไวรัสชนิดนี้สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี แม้จะอยู่ในอุณหภูมิต่ำหรือสูง ทำให้สามารถแพร่เชื้อได้ง่าย

อาการของการติดเชื้อโนโรไวรัส มักปรากฏภายใน 12-48 ชั่วโมงหลังได้รับเชื้อ และอาจคงอยู่ประมาณ 1-3 วัน

  • ท้องเสีย (ถ่ายเหลวหรือถ่ายน้ำ) อาเจียน (พบบ่อยในเด็ก)
  • ปวดท้อง หรือท้องอืด
  • มีไข้ต่ำ ๆ
  • ปวดศีรษะ

** ในผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุ อาจเสี่ยงต่อการขาดน้ำ หากมีอาการดังนี้ควรพบแพทย์ทันที

  • กระหายน้ำมาก
  • ริมฝีปากแห้ง
  • ปัสสาวะน้อยหรือสีเข้ม
  • อ่อนเพลียรุนแรง

การรักษา ปัจจุบันไม่มีการรักษาเฉพาะสำหรับการติดเชื้อโนโรไวรัส การรักษาเน้นการประคับประคองอาการ เช่น:

  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ป้องกันภาวะขาดน้ำ
  • ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ (ORS) หรือเครื่องดื่มที่ช่วยคืนสมดุลน้ำ
  • หลีกเลี่ยงน้ำผลไม้หรือน้ำอัดลมที่มีน้ำตาลสูง
  • ยารักษาตามอาการยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล
  • หลีกเลี่ยงยาแก้ท้องเสียในเด็กเล็ก เว้นแต่แพทย์สั่ง

การป้องกันการติดเชื้อโนโรไวรัส

  • ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาด โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสอาหารหรือสิ่งของร่วมกับผู้ป่วย
  • ทำความสะอาดพื้นผิว ที่อาจปนเปื้อนเชื้อไวรัสด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
  • ปรุงอาหารให้สุก โดยเฉพาะอาหารทะเล
  • หากมีอาการ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่นอย่างน้อย 48 ชั่วโมงหลังจากอาการหาย

การติดเชื้อโนโรไวรัส มักเกิดขึ้นในเด็ก หากผู้ปกครองท่านใดกังวลว่าลูกบุตรหลาน จะได้รับเชื้อไวรัสตัวนี้ ควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด รับประทานอาหารที่ปรุงสุกและมีประโยชน์ ป้องกันตัวเองในเรื่องของความสะอาดและดูแลหมั่นสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากเกิดอาการตามข้อมูลข้างต้น ควรรีบพาบุตรหลานเข้าพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันการเกิดโรค

บทความโดย แพทย์หญิง ศิริพร แจ่มจำรัส แพทย์ผู้ชำนาญการด้านการพัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC)

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit