เนื่องด้วยสถานการณ์อุทกภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ช่วงปลาย เดือนพฤศจิกายน ปี 2567 มีผลกระทบกับพื้นที่ส่งเสริมด้านอาชีพ ของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ ในพื้นที่ปลูกผักผสมผสานแปลง 66 ไร่ พื้นที่โครงการทุเรียนคุณภาพชายแดนใต้ พื้นที่ปลูกอ้อยคั้นน้ำ และข้าวพันธุ์พื้นเมือง ทางสถาบันปิดทองหลังพระฯ จึงได้มีการประชุมวางแผนร่วมกับคณะทำงานด้านส่งเสริมอาชีพ ภายใต้คณะอนุกรรมการประสานงานโครงการพัฒนาของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริประจำจังหวัดยะลา จัดทำแผนการฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้พืชเศรษฐกิจในพื้นที่สามารถฟื้นตัวและกลับมาให้ผลผลิตได้ตามปกติโดยเร็ว
ผลการหารือได้มีการจัดทำแผนฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรในพื้นที่ของสถาบันปิดทองหลังพระฯ ดังนี้ (1) โครงการทุเรียนคุณภาพชายแดนใต้ โดยใช้ยุทธศาสตร์ฟื้นฟูสวนทุเรียนหลังน้ำลด ใช้ขั้นตอนการกู้ชีพทุเรียน ด้วยการระบายน้ำออกจากสวน แล้วเข้าไปฉีดล้างโคนรากขจัดโคลน เพื่อให้รากมีอากาศหายใจ และฉีดพ่นอาหารเสริมทางใบเพื่อเร่งการฟื้นฟู ด้วยกรดอะมิโน น้ำตาลทางด่วน ฮิวมิคแบบน้ำ ปุ๋ยเกล็ดที่มีค่าปุ๋ยตัวกลางสูง และสารป้องกันเชื้อรา ฉีดพ่นทั่วตั้งต้นและรากเพื่อกระตุ้นการแตกรากใหม่ อีกทั้งมีการลงสำรวจพื้นที่เสียหายเพื่อประเมินผลกระทบและเตรียมปรับแผนรับมือฉุกเฉินในอนาคต (2) การฟื้นฟูไร่อ้อยคั้นน้ำ หลังวิกฤติน้ำท่วมด้วยกลยุทธ์ 3 ขั้นตอน คือ การงดเหยียบย้ำในแปลงเพื่อฟื้นฟูรากอ้อย เวลาเวลา 7 - 10 วัน เพื่อป้องกันความเสียหายไม่ให้รากอ้อยช้ำ รากขาด, การใช้ไม้ยันพยุงต้นที่ล้มเพื่อฟื้นฟูให้ต้นกลับมาสังเคราะห์แสงเช่นเดิม และการกำจัดศัตรูอ้อย (หนูกัดกินลำต้น) ด้วยการวางยาเบื่อผสมข้าวเปลือก การใช้น้ำหมักชีวภาพ และการฉีดพ่นไตรโคเดอร์มากันรากเน่าโคนเน่า และจัดการถางแปลงให้สะอาดหลังจากการฟื้นฟูเสร็จสิ้น (3) การฟื้นฟูข้าวพันธุ์พื้นเมือง ที่ได้รับความเสียหาย ด้วยแผนฟื้นฟู 3 มาตรการ โดยขั้นตอนแรกให้ตรวจสอบสภาพความเสียหาย หากมีน้ำขังให้ระบายน้ำออกและห้ามใส่ปุ๋ยทันทีจะทำให้ต้นข้าวจะน็อคน้ำ ขั้นตอนที่สองให้รอการฟื้นตัวของต้นข้าวประมาณ5 - 7 วัน หากต้นข้าวไม่เน่าจะแตกกอใหม่ ให้ใส่ปุ๋ย 5 กิโลกรัมต่อไร่ ,ใช้น้ำหมักชีวภาพ เว้นการใช้ปุ๋ยแบบยูเรียจะทำให้ข้าวอ่อนแอและแมลงชอบ และเมื่อต้นข้าวอยู่ในสภาพปกติถึงใส่ปุ๋ยตามช่วงการเติบโต 20 กิโลกรัมต่อไร่ หากอยู่ในกรณีต้องซ่อมข้าว ให้ใช้ต้นกล้าเดิมที่มีอายุรุ่นเดียวกันกับที่ปลูกไว้เดิมอยู่แล้ว
ในการดำเนินงานแผนฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรมของเกษตรกร ในพื้นที่ของสถาบันปิดทองหลังพระฯ ได้มีการบูรณาการร่วมมือกันกับคณะทำงานด้านส่งเสริมอาชีพ ภายใต้คณะอนุกรรมการประสานงานโครงการพัฒนาของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริประจำจังหวัดยะลา และหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินการสำรวจพื้นที่เพื่อให้การฟื้นฟูหลังสภาวะน้ำท่วมเกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกร
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit