TFM เปิดแผนผลิตกุ้งยั่งยืน ดันไทยชิงโอกาสในตลาดโลก ชูนวัตกรรมอาหารสัตว์เศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน

23 Dec 2024

บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) (TFM) ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายอาหารอาหารสัตว์น้ำเศรษฐกิจของไทย เปิด 4 กลยุทธ์สร้างจุดแข็งอุตสาหกรรมกุ้งไทย วางแผนเชิงรุก ชิงโอกาสเติบโต เดินหน้าเปิดตลาดมุ่งตอบโจทย์ดีมานต์ ซัพพลาย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกุ้งไทย ด้วยการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนและใส่ใจสิ่งแวดล้อม

TFM เปิดแผนผลิตกุ้งยั่งยืน ดันไทยชิงโอกาสในตลาดโลก ชูนวัตกรรมอาหารสัตว์เศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน

นายพีระศักดิ์ บุญมีโชติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) (TFM) กล่าวถึงทิศทางของอุตสาหกรรมกุ้งไทยในปี 2568 ในงานสัตว์น้ำไทย (Thai Aqua Expo 2024) ว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมกุ้งของประเทศไทยมีราคาที่เหมาะสม และเรามีจุดแข็งในด้านคุณภาพและความน่าเชื่อถือที่ได้รับการยอมรับจากคู่ค้าและผู้บริโภคต่างประเทศมายาวนาน โดยไทยยังเป็น 1 ใน 6 ประเทศที่มีกำลังการผลิตกุ้งสูงสุดของโลก ซึ่งไทยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 250,000 ตันต่อปี ขณะที่ปริมาณความต้องการในตลาดโลกอยู่ที่ 5.3 ล้านตันต่อปี สะท้อนให้เห็นว่ากุ้งไทยยังมีโอกาสการเติบโตทางธุรกิจ ซึ่งภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร และนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ ทั้งห่วงโซ่อุปทานต้องร่วมมือกันหาทางขับเคลื่อนและยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมกุ้งไทยให้ตอบโจทย์ความยั่งยืน ผ่านการลงมือทำจริง เพื่อทำให้ไทยกลับมาเป็นผู้นำในตลาดโลกอีกครั้ง

สำหรับกลยุทธ์ในการผลักดันอุตสาหกรรมกุ้งไทย ประกอบด้วย 1. ส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งให้เหมาะสมกับภูมิภาค เช่น ภาคกลางเลี้ยงกุ้งขนาดกลาง ภาคใต้เลี้ยงกุ้งขนาดใหญ่ เพราะจะทำราคาได้ดีกว่า เพื่อสร้างจุดแข็งให้กุ้งไทยแตกต่างจากประเทศอื่นที่เน้นการเลี้ยงกุ้งขนาดเล็ก รวมถึงสนับสนุนให้เกษตรกรเลี้ยงแบบผสมกุ้งขาว-กุ้งก้ามกรามในเขตพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเพื่อลดความเสี่ยง 2. มีหน่วยงานกลางที่เชี่ยวชาญในตลาดกุ้ง ทำงานร่วมกันเป็นทีม เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างพื้นที่ต่างๆ และทำงานร่วมกันเพื่อผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด โดยสมาคมแต่ละจังหวัดควรนำผู้ซื้อและผู้ขายมาพูดคุยกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเป็นระยะๆ

3. วางแผนการผลิตสม่ำเสมอตลอดทั้งปี พร้อมเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าทีละมากๆ แบบ Mass production และหันมาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ หรือ Value Added มากขึ้น 4. เตรียมความพร้อมด้านสายพันธุ์กุ้งที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมและต้านโรค ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตกุ้งไทยให้กลับมายืนที่ 280,000 - 300,000 ตันต่อปีเราต้องลงมือขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกุ้งอย่างยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ใช้พลังงานสะอาด และสร้างธุรกิจสีเขียวมากขึ้น เพื่อสร้างความน่าสนใจให้กุ้งไทยในตลาดต่างประเทศและตอบสนองความต้องการผู้ซื้อทั่วโลก

"ผมมองทั้งห่วงโซ่อุปทานของประเทศไทย ตั้งแต่การบริหารโรงงาน ที่เน้นการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรอบด้าน การติดตามตลาดโลกอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงเกษตรกร ห้องเย็น สมาคมในแต่ละจังหวัด โดยเน้นการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างแม่นยำและการสื่อสารข้อมูลระหว่างพื้นที่ เพื่อช่วยเกษตรกรวางแผนการเลี้ยงและผลิตกุ้งได้อย่างเหมาะสมกับความต้องการไปจนถึงการต่อยอดนวัตกรรมและความยั่งยืนเพื่อสร้างมูลค่าให้ทั้งอุตสาหกรรม และประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมกุ้ง" นายพีระศักดิ์ กล่าว

ปัจจุบัน TFM เป็นโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำมาตรฐาน ASC (Aquaculture Stewardship Council) แห่งแรกของเอเชีย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือในตลาดโลก โดยเฉพาะผู้ซื้อในสหรัฐอเมริกาที่บริษัทต้องการสร้างภาพลักษณ์ให้กุ้งไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและผลิตอย่างยั่งยืน เพื่อแข่งขันในตลาดโลกซึ่งให้ความสำคัญกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อม

ดร. สุพิศ ทองรอด ที่ปรึกษาด้านวิจัยและพัฒนา บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ไทยยูเนี่ยนเราให้ความสำคัญกับนวัตกรรมเพื่อส่งมอบโภชนาการที่ดีให้กับผู้คนและสัตว์ ควบคู่ไปกับการดูแลท้องทะเลอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันอาหารปลาที่เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ไม่เพียงต้องมีคุณภาพสูง แต่ยังต้องมีอัตราการแลกเนื้อ (Feed Conversion Ratio, FCR) ต่ำ เพื่อให้เกษตรกรมีต้นทุนการเลี้ยงที่ต่ำลง แต่ยังต้องได้คุณภาพของเนื้อปลาแบบพรีเมียมตามที่ผู้ประกอบการอาหารและผู้บริโภคให้ความสำคัญ ทำให้ขายได้ราคาสูงขึ้น โดยปลาที่เลี้ยงด้วยอาหารไทยยูเนี่ยนจะมีคุณประโยชน์จากปริมาณกรดไขมันโอเมก้า-3 ชนิด EPA และ DHA ในเนื้อปลากะพงขาว ไม่แตกต่างจากปลาในธรรมชาติ และการพัฒนาอาหารสัตว์น้ำของบริษัทในอนาคต จะเน้นไปที่อาหารสัตว์ที่ได้รับการพัฒนาพิเศษ (Functional feed) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคและอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกร เช่น การเสริมภูมิคุ้มกัน การเสริมกรดไขมันโอเมก้า-3 เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการของผลิตภัณฑ์สุดท้าย ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพื่อสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมสัตว์น้ำไทย

นายเอกอนันต์ ยุวเบญจพล ผู้ช่วยรองประธานงานวิชาการของ บมจ.ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ กล่าวในการบรรยายเรื่อง "สารทดแทนยาปฏิชีวนะ กินฆ่าเชื้อได้ ไม่มีปัญหาสารตกค้าง" เพื่อนำเสนอนวัตกรรมสารชีวภาพสกัด "นิวทริ-ฟาร์ม กัท โกลด์" ว่า เป็นนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยลดปัญหาในการเลี้ยงกุ้ง โดยเป็นสารสกัดจากพืชสมุนไพร, กรดอินทรีย์(สกัดจากพืชหรือสัตว์) และ ยีสต์สกัดคุณสมบัติของ "นิวทริ-ฟาร์ม กัท โกลด์" ทำลายเชื้อก่อโรคกลุ่มวิบริโอ เช่น Vibrio parahaemolyticus ที่ทำให้เกิดโรคตายด่วน (EMS) และโรคขี้ขาว และกำจัดเชื้อ Photobacterium damselae ที่เป็นสาเหตุโรคกุ้งกล้ามเนื้อขาว ลดปริมาณเชื้อ EHP ในกุ้งทะเล ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กุ้งโตช้า กุ้งแตกไซส์ เร่งการเกิดขี้ขาว

"ในงานวิจัยของเราพบว่า "นิวทริ-ฟาร์ม กัท โกลด์" สามารถหาค่า MIC หรือ Minimum Inhibitory Concentration ที่เป็นค่าความเข้มข้นต่ำสุดสารทดสอบที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียได้ ผลที่ได้คือสามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรียได้ผลไม่แตกต่างจากยาต้านจุลชีพที่กรมประมงอนุญาตให้ใช้ โดยไม่ต้องมีระยะหยุดยาและไม่มีสารตกค้าง ทำให้เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน" นายเอกอนันต์ กล่าว

ปัจจุบัน บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFM ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำเศรษฐกิจ โดยเป็นผู้นำตลาดในอาหารกุ้งและอาหารปลากะพง ในกลุ่มบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 TFM มีกำไรสุทธิ 384 ล้านบาท เติบโต 430% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สำหรับแนวโน้มการดำเนินงานในไตรมาส 4/67 คาดเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 3/67 จากราคากุ้งและปลาที่ปรับตัวสูงขึ้นอีกทั้งการเติบโตของบริษัทย่อยในประเทศอินโดนีเซีย