กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เดินหน้าสนับสนุนและส่งเสริมสตาร์ทอัพ/เอสเอ็มอีไทยด้านนวัตกรรมการแพทย์-สุขภาพที่มีศักยภาพสูงให้มีโอกาสก้าวสู่ตลาดเยอรมนี ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาด MedTech ที่สำคัญและใหญ่ที่สุดในยุโรป ผ่านการดำเนิน "โครงการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมดิจิทัลสำหรับเชื่อมต่อตลาด/แหล่งทุนต่างประเทศในภาคพื้นยุโรป" โดยคัดเลือก 8 สตาร์ทอัพ/เอสเอ็มอีไทยด้านนวัตกรรมการแพทย์-สุขภาพที่ผ่านการสนับสนุนจาก NIA เข้าร่วมนำเสนอผลงานนวัตกรรมในงาน Medica 2024 ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อผลักดันและสร้างโอกาสเชื่อมโยงตลาดธุรกิจนวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพของไทยให้สามารถขยายออกสู่ตลาดสากลในภาคพื้นยุโรปได้
ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า NIA ภายใต้บทบาท "ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม (Focal Conductor)" มุ่งสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการนวัตกรรมไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนด้วยแนวคิด "Groom" ที่เน้นบ่มเพาะและเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการนวัตกรรมไทย "Grant" กลไกสนับสนุนเงินทุนที่เน้นการพัฒนาและขยายผลธุรกิจนวัตกรรมไปสู่ตลาด "Growth" การเร่งสร้างการเติบโตให้ธุรกิจนวัตกรรมทั้งในสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีไทย และ "Global" การส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมไทยสู่ตลาดสากล โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแพทย์ที่ประเทศไทยมีความโดดเด่นและยังมีระบบการแพทย์ที่ดีติดอันดับโลก โดยคาดว่าภายในสิ้นปี พ.ศ. 2572 ตลาด MedTech ทั่วโลกจะมีแนวโน้มเติบสูงถึง 775.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีตลาดที่น่าสนใจอย่างเยอรมนี นอกจากนี้ เยอรมนียังมีการจัดงานแสดงสินค้าด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพระดับโลกอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 40 ปี และได้รับการยอมรับจากผู้เชี่ยวชาญว่าเป็นงานแสดงสินค้าทางการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีผู้เข้าร่วมแสดงสินค้ากว่า 6,100 ราย จาก 69 ประเทศทั่วโลก
ดร. กริชผกา กล่าวเพิ่มเติมว่า NIA มีโอกาสเข้าร่วมงาน Medica 2024 ภายใต้แนวคิด "Meet Health. Future. People ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี พร้อมนำสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีไทยด้านนวัตกรรมการแพทย์-สุขภาพที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก จำนวน 8 ราย เข้าร่วมงานด้วย ได้แก่ Eidy โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ทางด้านการแพทย์ มีจุดเด่นด้านศัพท์เฉพาะทาง และระบบความคิดที่เหมือนกับแพทย์ สามารถนำมาต่อยอดเป็นแชทบอทสำหรับตอบคำถามด้านการแพทย์เฉพาะทาง Ravis Technology แพลตฟอร์มบริหารการวิจัยทางคลินิก การจัดการข้อมูลสำหรับผลิตภัณฑ์วิทยาศาสตร์ชีวภาพ เครื่องมือทางการแพทย์และยารักษาโรค โดยใช้เทคโนโลยีในการจัดการข้อมูล เพื่อประหยัดเวลาและงบประมาณ Pose Intelligence แพลตฟอร์มบริหารจัดการเครื่องมือแพทย์ ที่ใช้ในงานบริการของโรงพยาบาล เช่น การจัดการคลังสินค้า การบริหารงานจ่ายกลางที่ควบคุมจัดการได้อย่างแม่นยำ ลดความซ้ำซ้อน ป้องกันความผิดพลาดได้อย่างดี SOS Care แผ่นปิดแผลที่นำเอาโปรตีนกาวไหม มาผสมกับคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส (CMC) และกลีเซอรีน เกิดเป็นแผ่นปิดแผลที่มีความยืดหยุ่น และมีคุณสมบัติกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนที่จะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น POPOLO อุปกรณ์ยางรัดเส้นเลือดขอดในหลอดอาหาร ที่เกิดจากความผิดปกติของเลือดที่ไปเลี้ยงตับ ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้คนไทยเข้าถึงได้มากขึ้น และลดอัตราการเสียชีวิต
Orthopeasia แพลตฟอร์มออกแบบวัสดุทดแทนหมอนรองกระดูกสันหลัง ออกแบบและผลิตโดยโปรแกรมเฉพาะทาง ที่ช่วยให้การผ่าตัดทำได้ง่าย แผลเล็ก รวดเร็ว สะดวกขึ้น BRE ผลิตภัณฑ์แผ่นอาบน้ำ แบบ 2 ขั้นตอน ที่ไม่ต้องใช้น้ำและสบู่ ช่วยให้คนไข้ที่อาบน้ำไม่ได้ใช้ชีวิตสะดวกขึ้น และ Aquatrek Solution นวัตกรรมลู่วิ่งสายพานในน้ำ อุปกรณ์สำหรับวารีบำบัด ช่วยลดความเสี่ยงจากการออกกำลังกายโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เนื่องจากไม่ส่งผลกระทบกับข้อต่อ ขณะเดียวกันก็ช่วยพยุงน้ำหนักตัวในการรักษาหรือบำบัดได้ โดยทั้ง 8 นวัตกรรมมีคู่ค้าและผู้ที่สนใจ ทั้งอเมริกา ยุโรป และแคนาดา เข้ามาพูดคุยจำนวนมาก เนื่องจากมีความต้องการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและฐานลูกค้า ทั้งนี้ หากมีโอกาสได้ทำวิจัยร่วม ไม่ว่าจะเป็นตีพิมพ์วารสารร่วมกันกับอาจารย์ที่เยอรมนี การส่งนักวิจัยไปร่วมแลกเปลี่ยนฝึกงาน หรือการอนุญาตให้ใช้สิทธิเทคโนโลยีเพื่อผลิตที่เยอรมนีบางชิ้นส่วนหรือทั้งหมดจะสามารถยกระดับความน่าเชื่อถือของเครื่องมือแพทย์ไทยได้อีกทางหนึ่ง เพราะความร่วมมือด้านการวิจัยจะช่วยสร้างการยอมรับในตลาดยุโรป อีกทั้งการได้ศึกษาข้อมูลผู้เข้าร่วมงานและผู้แสดงผลงาน Medica 2024 จะช่วยให้สามารถนำฐานข้อมูลจากการที่ได้เรียนรู้ตลาดมาพัฒนานวัตกรรมของไทยและวางแนวทางการตลาด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน การจับคู่ธุรกิจ รวมถึงความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมระหว่างประเทศต่อไปได้ในอนาคต
ด้าน นางสาวมาลีพรรณ ผาสุพงษ์ บริษัท ราวิส เทคโนโลยี จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มบริหารการวิจัยทางคลินิก มองว่า การได้รับคัดเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งในงานแสดงนวัตกรรมการแพทย์-สุขภาพระดับโลก Medica 2024 ครั้งนี้ ช่วยทำให้มีความรู้ความเข้าใจถึงความต้องการของตลาดองค์รวมในยุโรปที่มุ่งให้ความสนใจด้านดิจิทัล อุปกรณ์เกี่ยวกับสุขภาพและกายภาพ และการวินิจฉัย ซึ่งนอกจากจะช่วยให้สตาร์ทอัพไทยสามารถนำเสนอนวัตกรรมได้ตรงกับความต้องการของตลาดแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เป้าหมายการจับคู่ธุรกิจเกิดขึ้นได้จริง จากการที่นานาประเทศได้รับรู้ถึงจุดเด่นด้านการวิจัยของประเทศไทย โดยเฉพาะประเทศแถบตะวันตกที่มีแนวโน้มหันมาสนใจสร้างความร่วมมือการวิจัยในไทยมากขึ้น การเข้าร่วมงานครั้งนี้ บริษัทได้พาร์ทเนอร์และลูกค้าที่มีศักยภาพจำนวน 5 ราย ที่มีการหารือและคุยต่อหลังจากจบงาน เนื่องจากนักวิจัยที่ทำงานในสาย STEM ของเยอรมนีต้องการมาแลกเปลี่ยนในไทย เพราะต้องการลดต้นทุนทางการบริการ การผลิตในประเทศยุโรป เช่น ต้นทุนการวิจัยทางคลินิก หรือต้นทุนการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น
ขณะที่ นายธนัชพันธ์ มโนสิทธิศักดิ์ บริษัท เอสโอเอส แคร์ จำกัด ผู้พัฒนาแผ่นปิดแผลโปรตีนกาวไหม ระบุว่า สตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีด้านการแพทย์-สุขภาพของไทยมีศักยภาพที่จะเติบโตในตลาดโลกได้ หากได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอ ทั้งด้านเงินทุน ทรัพยากร การพัฒนาเทคโนโลยี เพราะประเทศไทยมีต้นทุนทางการผลิตต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว การสนับสนุนจากภาครัฐจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะผลักดันให้สตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีเกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติ และช่วยเพิ่มโอกาสการขยายเครือข่ายธุรกิจและพันธมิตรทางการตลาด ด้วยภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือ ทำให้เพิ่มความเชื่อมั่นทางด้านคุณภาพและนวัตกรรมของสินค้าออกไปสู่เวทีระดับสากล ซึ่งบริษัทคาดหวังว่าหลังจากที่เข้าร่วมงาน Medica 2024 จะสามารถหาตัวแทนจำหน่ายสินค้าได้ทั้งภายในยุโรป เอเชีย และตะวันออกกลางเพื่อขยายตลาดสู่สากลมากขึ้น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit