BMHH พร้อมเปิดนวัตกรรมทางเลือกใหม่ dTMS รักษาโรคซึมเศร้า

30 Oct 2024

โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวช BMHH หรือ Bangkok Mental Health Hospital เปิดนวัตกรรมการรักษาโรคซึมเศร้าล่าสุดด้วย dTMS (Deep Transcranial Magnetic Stimulation ที่ศูนย์โรคซึมเศร้าแบบครบวงจร (Comprehensive Depression Center) ให้บริการที่ครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่การประเมินอาการ การวินิจฉัย และการรักษาที่หลากหลาย โดยมีทีมสหสาขาวิชาชีพที่คอยดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

BMHH พร้อมเปิดนวัตกรรมทางเลือกใหม่ dTMS รักษาโรคซึมเศร้า

ในปัจจุบันโรคซึมเศร้าได้กลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคมไทย ตามข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตพบว่า ในปี 2566 มีคนไทยกว่า 1.5 ล้านคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า และมีจำนวนผู้ที่เข้ารับการรักษาโรคนี้เพิ่มขึ้นทุกปี อย่างไรก็ตาม คาดว่ามีผู้ที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือรักษาอีกหลายล้านคน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงและการกระจายตัวของโรคนี้ทั่วประเทศ สถิติที่น่ากังวลนี้ชี้ให้เห็นว่าการเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพยังคงเป็นปัญหาสำคัญ ผู้ป่วยหลายคนไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบดั้งเดิม ส่งผลให้การนำเทคโนโลยีใหม่ นวัตกรรมการรักษาแนวใหม่ ๆ dTMS (Deep Transcranial Magnetic Stimulation) เข้ามามีบทบาทสำคัญในการมอบทางเลือกใหม่ให้กับผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรง

แพทย์หญิง ณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์ BMHH หรือ Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า " ปัจจุบันการรักษาโรคซึมเศร้ามีการรักษาหลายวิธี เช่น การรักษาด้วยยา, การทำจิตบำบัด และล่าสุดได้นำการรักษาด้วย dTMS หรือ Deep Transcranial Magnetic Stimulation คือการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปกระตุ้นสมองในจุดที่มีผลต่อโรค เพื่อกระตุ้นทำให้เกิดกระแสประสาท ทำให้เกิดการหลั่งสารเคมีในสมอง ที่จะช่วยปรับสมดุลการทำงานของสมองให้เข้าสู่ภาวะปกติและลดการเกิดอาการซึมเศร้าลงได้ โดยการรักษาด้วย dTMS นี้ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ว่ามีความปลอดภัยและมีประโยชน์ช่วยในการรักษาโรคซึมเศร้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีผลข้างเคียงจากยา ไม่ตอบสนองต่อยา หรือรับประทานยาเกินหนึ่งปีแล้วแต่อาการไม่ดีขึ้น แต่ในปัจจุบันมีการนำ dTMS มาใช้ร่วมกับการรักษาด้วยการทำจิตบำบัดและการกินยาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพรักษาให้ดีขึ้น" การทำงานของ dTMS (Deep Transcranial Magnetic Stimulation) เป็นการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากระตุ้นบริเวณสมองส่วนหน้า ในแต่ละครั้งจะกระตุ้นผ่านหมวกอุปกรณ์ที่ผู้ป่วยสวมใส่ที่ศีรษะโดยจะกระตุ้น 2 วินาที และเว้นพักเป็นระยะเวลา 20 วินาที จึงกระตุ้นซ้ำต่อเนื่องไป 20-30 นาที ผลการตอบสนองต่อการรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าขึ้นกับจำนวนครั้งสะสมของการกระตุ้น แต่มีข้อจำกัดในการกระตุ้นแต่ละวัน จึงจำเป็นต้องกระตุ้นต่อเนื่องอย่างน้อย 10-15 วัน หรือเว้นไม่เกิน 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ก่อนรับการรักษาด้วย dTMS จิตแพทย์จะเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วยทุกราย

โรคซึมเศร้ายังคงเป็นสิ่งที่น่าห่วงโดยเฉพาะสถานการณ์ต่าง ๆ ในปัจจุบันของสังคมไทย BMHH เห็นความสำคัญของการรักษาโรคซึมเศร้าซึ่งยังคงเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด การเปิดตัวเทคโนโลยี dTMS จึงเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ช่วยเปิดโอกาสใหม่ ๆ ในการรักษาให้กับผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยได้เข้าใจผู้ป่วยที่ต้องดูแลได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใส่ใจและตระหนักถึงสุขภาพจิตของตนเองมากขึ้น

เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าศูนย์รักษาโรคซึมเศร้า BMHH แห่งนี้จะเป็นที่พึ่งพิงให้กับผู้ป่วยและส่งเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าในสังคม หากมีปัญหาสุขภาพจิต สามารถติดต่อเข้ามาสอบถามและรับการตรวจ ได้ที่ รพ. BMHH ติดต่อสอบถาม 02 589 1889 [email protected] "