ไทยเปิดเวที "IEEE ISC2 2024" ดันสู่ศูนย์กลางเมืองอัจฉริยะระดับโลก

31 Oct 2024

การประชุมเมืองอัจฉริยะนานาชาติครั้งที่ 10 หรือ 10th IEEE International Smart Cities Conference (IEEE ISC2 2024) ได้จัดขึ้นอย่างเป็นทางการวันนี้ณ โรงแรมรอยัล คลิฟ แกรนด์ พัทยา จังหวัดชลบุรี โดยเป็นงานประชุมนานาชาติ IEEE Smart Cities ครั้งแรก ที่จัดขึ้นในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ภายใต้ธีม "Smart Cities: Revolution for Mankind" โดยสมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) และมีผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกเข้าร่วม ตั้งเป้านำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในเมืองและสร้างสังคมที่ยั่งยืน

ไทยเปิดเวที "IEEE ISC2 2024" ดันสู่ศูนย์กลางเมืองอัจฉริยะระดับโลก

ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานพิธีเปิดงาน ได้กล่าวถึงนโยบายของไทยในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและความสำคัญของการประชุม IEEE ISC2 2024 ว่า "การพัฒนาเมืองอัจฉริยะถือเป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลไทยมุ่งเน้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทยในระดับสากล เทคโนโลยีเมืองอัจฉริยะสามารถช่วยให้การจัดการเมืองมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการใช้พลังงาน การลดปัญหามลพิษ และการแก้ปัญหาการจราจร ทั้งนี้ การประชุม IEEE ISC2 2024 จะเป็นเวทีสำคัญที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และนักพัฒนาจากทั่วโลก เพื่อมาร่วมแบ่งปันความรู้และสร้างสรรค์แนวทางในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับเมืองต่าง ๆ ในไทย และจะช่วยให้ไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในภูมิภาค"

ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ยังเสริมอีกว่า "นโยบายเมืองอัจฉริยะของไทยมุ่งเน้นไปที่การสร้างโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ อาทิ ระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ โครงข่ายการขนส่งที่เชื่อมโยงด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่เพียงเพิ่มความสะดวกสบาย แต่ยังช่วยยกระดับความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่เมืองอีกด้วย ทั้งนี้ การประชุม IEEE ISC2 2024 จึงเป็นโอกาสสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายนี้ให้เกิดเป็นรูปธรรมได้เร็วขึ้น ผ่านการเรียนรู้จากตัวอย่างการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในต่างประเทศ"

ดร. ปิยพรรณ หันนาคินทร์ อุปนายกสมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) ในนามผู้จัดงาน กล่าวว่า "เป้าหมายหลักของการจัดงาน IEEE ISC2 2024 คือการสร้างเวทีสำหรับผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นวิศวกร นักวิจัย นักพัฒนา และผู้กำหนดนโยบาย มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ การประชุมนี้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับการเชื่อมโยงความร่วมมือระดับนานาชาติ เพื่อนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยสามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงในยุคที่เมืองต่าง ๆ กำลังเปลี่ยนไปสู่ความอัจฉริยะ"

ดร. ปิยพรรณ ยังได้เพิ่มเติมว่า "การประชุมนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยเสริมสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีและการบริหารจัดการเมืองในแบบใหม่เท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสในการเปิดรับความร่วมมือจากองค์กรชั้นนำทั่วโลก เพื่อพัฒนาเมืองในแบบที่สอดคล้องกับบริบทและความต้องการเฉพาะของแต่ละเมืองในประเทศไทย ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้และสามารถใช้งานได้จริง"

รศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ อุปนายกด้านการจัดประชุมวิชาการ IEEE PES Thailand ได้กล่าวเสริมถึงความสำคัญของการประชุม IEEE ISC2 2024 ว่า "การประชุมครั้งนี้นับว่าเป็นเวทีการประชุมด้านเมืองอัจฉริยะที่สำคัญที่สุดงานหนึ่งของโลก เพราะเป็นโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน หรือภาคการศึกษา ได้มาแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวทางในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอหัวข้อสำคัญหลากหลายด้าน ซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่การใช้พลังงานอย่างยั่งยืน การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและการจัดการทรัพยากร ไปจนถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเมืองขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการเมืองที่ดีขึ้น"

รศ.ดร.นพพร ยังได้กล่าวถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการประชุม IEEE ISC2 2024 ว่า "การประชุมนี้จะเป็นที่รวมตัวของผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะจากทั่วโลก รวมทั้งกิจกรรมที่หลากหลายจากผู้เชี่ยวชาญ วิทยากร ผู้บริหารเมืองอัจฉริยะทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ และเป็นโอกาสอันดีสำหรับประเทศไทยที่จะสามารถเรียนรู้และนำเทคโนโลยีไปใช้จริงในบริบทของประเทศได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในเมืองไทยแล้ว ยังส่งเสริมให้ประเทศไทยมีบทบาทในเวทีโลกอีกด้วย"

รศ.ดร.มนตรี วิบูลยรัตน์ ประธานการจัดงาน IEEE ISC2 2024 ได้กล่าวถึงหัวข้อการประชุมและการนำเสนอวิจัยที่น่าสนใจภายในงาน ว่า "การประชุม IEEE ISC2 2024 ได้รวบรวมเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เช่น ระบบโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะที่ยั่งยืน การใช้พลังงานหมุนเวียน และการพัฒนาแอปพลิเคชันที่ช่วยในการบริหารจัดการเมือง โดยเน้นไปที่การสร้างเมืองที่มีประสิทธิภาพด้านพลังงาน ความปลอดภัยในชีวิต และการเดินทางที่สะดวกและยั่งยืน"

รศ.ดร.มนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า "การประชุมครั้งนี้จะเป็นโอกาสสำหรับผู้เข้าร่วมในการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและนอกประเทศ การวิจัยที่ถูกนำเสนอจะครอบคลุมหัวข้อที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับเมืองอัจฉริยะ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูล การจัดการพลังงาน และการพัฒนาระบบขนส่ง การรวมตัวกันในครั้งนี้จะช่วยสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่จะเป็นประโยชน์ในการนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้จริงกับเมืองในอนาคต รวมถึง ยังมีการจัดกิจกรรมเชิงวิชาการที่หลากหลาย อาทิ การนำเสนอผลงานกว่า 150 ฉบับจาก 28 ประเทศ การบรรยายพิเศษ (keynote) 4 หัวข้อ การบรรยายเชิงการศึกษา (tutorial) 4 หัวข้อ เวทีการเสวนา (panel session) 13 หัวข้อ การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ (workshop) 2 หัวข้อ และการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้เชิงวิชาการ (side event) รวมถึง การทัศนศึกษาเชิงวิชาการ 2 เส้นทาง"

นอกจากนี้ ยังเป็นเวทีจัดแสดงนวัตกรรม และเทคโนโลยีด้านเมืองอัจฉริยะ โดยมีไฮไลท์ที่สำคัญจากผู้สนับสนุนหลักในการจัดแสดงนำโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa), IEEE DataPort อีกทั้ง การจัดแสดงเทคโนโลยีอัจฉริยะจากบริษัทชั้นนำระดับนานาชาติ อาทิ บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) และบริษัท ชไนเดอร์ อีเล็คทริค (ประเทศไทย) ที่เป็นผู้สนับสนุนระดับไดมอนด์ จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับประเทศไทยในการแสดงศักยภาพด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ กระตุ้นการวิจัย และพัฒนานวัตกรรมสำหรับเมืองอัจฉริยะ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือของผู้นำด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะระหว่างประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต

นายภูริพันธ์ บุนนาค รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า "ทีเส็บยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนการจัดงาน IEEE ISC2 2024 ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในการนำเสนอเทคโนโลยีและแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะจากทั่วโลก ที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการพัฒนาเมืองของประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งพัทยามีบทบาทเป็นเมืองไมซ์ชั้นนำในการจัดงานระดับนานาชาติด้วย"

การประชุมครั้งนี้คาดว่าจะสร้างผลดีต่อการพัฒนาด้านความยั่งยืนแก่พื้นที่ EEC โดยจะมีการนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง พลังงาน ข้อมูลและเทคโนโลยี การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ รวมถึงความยั่งยืนและการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของทีเส็บที่เน้นการพัฒนาเมืองเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการเดินทางภายในเมือง (Urban Quality of Life and Mobility) โดยการประชุม IEEE ISC2 2024 นี้จะเป็นเวทีสำคัญในการเชื่อมโยงความร่วมมือระดับสากล และนำเสนอพัทยาในฐานะศูนย์กลางเมืองอัจฉริยะของประเทศไทย

นายภูริพันธ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าขอขอบคุณ IEEE PES Thailand สำหรับการสนับสนุนอุตสาหกรรมไมซ์ของไทยอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โดยทั้งสองหน่วยงานได้ร่วมกันผลักดันการจัดงานประชุมระดับนานาชาติในประเทศไทยมากกว่า 20 งาน ซึ่งส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยอย่างยั่งยืน ทีเส็บมีความยินดีที่จะสนับสนุน IEEE PES Thailand ต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ร่วมมือกันในการจัดงานประชุมระดับโลกในประเทศไทยอีกในอนาคต

งานประชุม IEEE ISC2 2024 จึงถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศไทยและการยกระดับบทบาทของไทยในเวทีนานาชาติ