สัตวแพทย์ ม.มหิดล ระบุประเทศไทยมีการเลี้ยงและการผลิตสุกรที่ดีตามมาตรฐานสากล พร้อมแนะเลือกซื้อเนื้อหมูให้ปลอดภัยจากฟาร์มผู้ผลิตและผู้จำหน่ายที่ได้รับรองมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ สังเกตได้จาก ตราสัญลักษณ์ "ปศุสัตว์ OK" หรือ เลือกเนื้อหมูที่มีสีชมพู ไม่แดงจัด ฉ่ำน้ำ มีมันแทรก เนื้อนุ่มไม่แข็งกระด้าง หลีกเลี่ยงเนื้อหมูที่มีลักษณะแห้งแดง มันน้อย เนื้อมาก เพราะมีความเสี่ยงที่จะใช้สารเร่งเนื้อแดง ย้ำผู้บริโภคควรรับประทานเนื้อหมูปรุงสุกเพื่อความปลอดภัย
ผศ.ดร.น.สพ.ดุสิต เลาหสินณรงค์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงและการผลิตสุกรได้มาตรฐานสากล มีการพัฒนาคุณภาพของเนื้อหมูและประสิทธิภาพการผลิตตามมาตรฐานตลอดห่วงโซ่มาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการบริหารจัดการป้องกันโรคและการเลี้ยงสุกรที่เหมาะสม (Good Agricultural Practices; GAP) การจัดการให้มีความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ตลอดจนการปฏิบัติตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ รวมถึงการนำเทคโนโลยีทั้งปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) และหุ่นยนต์ มาใช้ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์และขบวนการแปรรูป เพื่อให้เนื้อหมูมีคุณภาพดีและปลอดภัยต่อผู้บริโภค
ล่าสุดจากกรณีที่กรมปศุสัตว์ บุกทลายสถานที่ผลิตสารเร่งเนื้อแดงและยาสัตว์เถื่อนรายใหญ่ที่จังหวัดนครปฐม พร้อมตรวจยึดของกลางทั้งยาสัตว์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและอาหารสัตว์ที่ต้องสงสัยว่ามีการผสมสารเร่งเนื้อแดงนั้น อาจทำให้ผู้บริโภคมีความกังวลถึงความไม่ปลอดภัยในการบริโภคเนื้อหมู ขอแนะนำว่าการเลือกซื้อเนื้อหมูเพื่อป้องกันสารเร่งเนื้อแดง ให้พิจารณาจากตัวผลิตภัณฑ์และเลือกแหล่งจำหน่ายเป็นสำคัญ
สำหรับวิธีการสังเกตและเลือกซื้อเนื้อหมู กรณีไม่ทราบแหล่งที่มา ให้สังเกตจากลักษณะของเนื้อหมู เนื้อเป็นสีชมพู ไม่แดงจัด ฉ่ำน้ำ มีน้ำแทรกซึมอยู่ในเนื้อหมู มีมันแทรก มีความสด จิ้มลงไปแล้วมีความนุ่ม ไม่แข็งกระด้าง ไม่มีสีคล้ำเขียวและไม่มีกลิ่นเหม็น หากเนื้อหมูมีลักษณะแห้งแดง มันน้อย เนื้อมาก ควรเลี่ยงเพราะมีความสุ่มเสี่ยงที่จะใช้สารเร่งเนื้อแดง
ที่สำคัญควรซื้อเนื้อหมูที่อยู่ในตู้แช่เย็น ไม่วางบนเขียงที่อุณหภูมิปกติเพราะเนื้อหมูเป็นของสด เน่าเสียได้ การเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เย็น เป็นการคงสภาพความสดของเนื้อสัตว์ไว้ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าต้องเลือกซื้อเพียงเฉพาะร้านที่มีตู้แช่เย็นเท่านั้น แต่การเก็บของสดในตู้เย็นเป็นระบบการเก็บรักษาอาหารขั้นพื้นฐาน
นอกจากนี้ ควรเลือกซื้อจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน ได้การรับรองจากหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางอาหาร มีตราสัญลักษณ์ ตราสินค้า หรือมีเครื่องหมาย "ปศุสัตว์ OK" รับรองความปลอดภัย สามารถตรวจสอบแหล่งผลิตต้นทางได้ว่าหมูมาจากฟาร์มไหน ซึ่งกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ มีมาตรการกำกับดูแลทุกขั้นตอนในการผลิต และการป้องกันการใช้ยา ทำให้เชื่อมั่นได้ในความปลอดภัย
ผศ.ดร.น.สพ.ดุสิต ย้ำว่า การรับประทานเนื้อหมูให้ปลอดภัย ต้องปรุงสุกใหม่ ด้วยความร้อนที่อุณหภูมิสูงมากกว่า 70 องศาเซลเซียส เพื่อทำลายเชื้อโรคที่อาจติดมาและทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคไข้หูดับ โรคพยาธิ หรือ โรคที่ทำให้เกิดท้องเสีย ทั้งนี้ ยังคงยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เพื่อสุขอนามัยที่ดี
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit