ผู้บริหารบางจากฯ ร่วมเสวนา "ทิศทางและศักยภาพของระบบ ETS และภาษีคาร์บอน ในประเทศไทย"

05 Nov 2024

นางกลอยตา ณ ถลาง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ งานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะกรรมการสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมเสวนา "ทิศทางและศักยภาพของระบบ ETS และภาษีคาร์บอน (C-Tax) ในประเทศไทย" ในการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียครั้งที่ 1 การศึกษาระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยคาร์บอน (ETS) โดยมีผู้ร่วมเสวนาจากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรมสรรพสามิต องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกรมประชาสัมพันธ์ จัดโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ

ผู้บริหารบางจากฯ ร่วมเสวนา "ทิศทางและศักยภาพของระบบ ETS และภาษีคาร์บอน ในประเทศไทย"

นางกลอยตาได้กล่าวถึงบทบาทของ ส.อ.ท. ในการเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำผ่านสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการทำงานในหลายมิติ เช่น การให้ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นต่อหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐ เพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้อง การสร้างองค์ความรู้และเผยแพร่ข้อมูล รวมถึงให้บริการงานที่ปรึกษาและการทวนสอบแก่ภาคอุตสาหกรรม และการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์แนวโน้ม และประเมินผลกระทบจากนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมในการปรับตัวและการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สำหรับความท้าทายที่ภาคอุตสาหกรรมต้องเผชิญเพื่อให้สามารถปรับตัวต่อระบบ ETS (Emission Trading Scheme) และนโยบายทางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีตัวอย่างเช่น ข้อจำกัดทางเทคโนโลยี ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และความจำเป็นในการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งการนำกลไกต่าง ๆ มาใช้ อาทิ การลดต้นทุนด้วยพลังงานสะอาดและการเพิ่มประสิทธิภาพ สิทธิประโยชน์ทางภาษีและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากภาครัฐ การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการจัดการทรัพยากร และการซื้อขายคาร์บอนเครดิต จะมีส่วนช่วยให้อุตสาหกรรมปรับตัวสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้

ทั้งนี้ นางกลอยตาได้ยกตัวอย่างการลงทุนเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของบางจากฯ คือการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero โดยมีคุณสมบัติในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 80% เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบดั้งเดิม