จุฬาฯ จับมือกรม Climate Change และเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชน เปิดตัวหลักสูตร "TOP Green" หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้าน Sustainability

01 Nov 2024

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หอการค้าไทย และสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ UN Global Compact Network Thailand จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวหลักสูตร "TOP Green Executive Program" โดยมี ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณนารีรัตน์ พันธ์มณี ผู้แทนอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม คุณอมรเทพ ทวีพานิชย์ ผู้แทนประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย คุณอดุล ขาวละออ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ ดร.ธนัยพร กฤชิติธำรง Executive Director, UN Global Compact Network Thailand ร่วมแถลงข่าว เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 ณ ชั้นล่าง อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาฯ

จุฬาฯ จับมือกรม Climate Change และเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชน เปิดตัวหลักสูตร "TOP Green" หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้าน Sustainability

ปัจจุบันโลกของเราอยู่ในสภาวะ "โลกเดือด" หรือ Global Boiling การที่ประเทศไทยจะเติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้ Green Transition เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ประเทศไทยยังต้องการผู้นำที่มีความเข้าใจในด้านความยั่งยืนและสามารถสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อแก้ปัญหาอย่างตอบโจทย์ทุกภาคส่วน การมีหลักสูตรสำหรับผู้บริหารระดับสูงเพื่อสร้างเครือข่ายผู้นำด้านความยั่งยืนให้กับประเทศจึงเป็นโจทย์ที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี CU Envi Enterprise และ Degree Plus ร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ UN Global Compact Network Thailand พัฒนาหลักสูตรอบรม "TOP Green" หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงสำหรับผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มองไกลกว่าความยั่งยืน

ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า "สำหรับจุฬาฯ เรื่อง Sustainability ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายเรื่องเริ่มจากในมหาวิทยาลัย เช่น ปัจจุบันการสร้างหรือปรับปรุงอาคาร จุฬาฯ ให้ความสำคัญกับ Green Building Design Standards หรือโครงการ Chula Zero Waste สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกในจุฬาฯ ลงได้ถึงกว่าร้อยละ 90 เมื่อมองในภาพใหญ่ของประเทศ จุฬาฯ ตระหนักดีว่ามีความท้าทายอีกมากในการสร้าง Sustainable Growth มีโจทย์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติจากทั้ง 5 องค์กรพันธมิตรชั้นนำที่มาเป็นเจ้าภาพร่วมในหลักสูตร TOP Green เพื่อสร้างเครือข่ายผู้นำอย่างยั่งยืนให้กับประเทศต่อไป"

ศ.ดร.วิเลิศ กล่าวเสริมว่า "ความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกองค์กร ผู้นำแต่ละองค์กรต้องร่วมกันสร้างพลังและเรียนรู้ไปด้วยกัน หลักสูตรนี้จึงเป็นศูนย์รวมของผู้บริหารระดับสูงที่มาเรียนรู้จากวิทยากรชั้นนำ โดยไม่ได้มุ่งที่ความยั่งยืนในระยะสั้น แต่เป็นการวางแผนกลยุทธ์ในระยะยาว สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจุฬาฯ ในการพัฒนาสังคมระยะยาวอย่างยั่งยืน เมื่อมีปัญหาทางด้านสภาพแวดล้อม จุฬาฯ มีบทบาทในการให้คำตอบ จึงขอเชิญชวนผู้นำองค์กรเข้าร่วมโครงการอบรมหลักสูตรนี้ซึ่งมีความพิเศษคือเป็นหลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวที่รวมพลังผู้นำที่สร้างผลกระทบทางด้านความยั่งยืนให้ประเทศไทยในวงกว้าง โดยได้รับความร่วมมือจาก 5 พันธมิตรที่ร่วมกันสร้างหลักสูตรนี้ขึ้นเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กรและสังคมสู่ความยั่งยืน"

ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล ประธานอำนวยการหลักสูตร กล่าวว่า "การออกแบบหลักสูตรร่วมกับพันธมิตรจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทำให้สามารถออกแบบหลักสูตรได้ตอบโจทย์ทุกภาคส่วน ทำให้หลักสูตร TOP Green เป็นหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงสำหรับผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มองไกลกว่าความยั่งยืนอย่างแท้จริง เหมาะสำหรับเจ้าของกิจการ กรรมการและผู้บริหารระดับ C-Level ของธุรกิจ และผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐที่ขับเคลื่อนนโยบายของประเทศหรือกำกับดูแลด้านที่เกี่ยวข้อง"

คุณนารีรัตน์ พันธุ์มณี ผู้แทนจากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งในผู้นำสำคัญด้านการเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืน ทางกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมให้ความสำคัญกับการวางแผนควบคุมและประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อวางแนวทางการจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบ และเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณชนให้เข้าใจถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเผชิญอยู่ หลักสูตรนี้จะช่วยถ่ายทอดความรู้สู่มิติต่างๆ ของสังคมให้มีความเข้าใจและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน"

คุณอมรเทพ ทวีพาณิชย์ ผู้แทนจากหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า "ในภาคการค้า การบริการ และการท่องเที่ยว พร้อมที่จะปรับตัว โดยมีคีย์เวิร์ด 3 คำที่ให้ความสำคัญ คือ การเชื่อมโยง (Connect) ความสามารถในการแข่งขัน (Competitive) และความยั่งยืน (Sustainable) หากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน และสถาบันการศึกษาร่วมมือกันเป็น Ecosystem ที่แข็งแกร่ง จะสามารถทำให้ประสบความสำเร็จในระยะยาว"

คุณอดุล ขาวละออ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "ภาคอุตสาหกรรมไทยยังเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัว ดังนั้นสภาอุตสาหกรรมจึงได้จัดตั้งสถาบันการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศขึ้นเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศ โดยการขับเคลื่อนด้วยแนวคิด 4 Go ซึ่งประกอบไปด้วย การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Go Digital) นวัตกรรม (Go Innovation) ความเป็นสากล (Go Global) และการพัฒนาที่ยั่งยืน (Go Green) เพื่อให้เราก้าวไปในทิศทางที่มั่นคงและมีความก้าวหน้า"

ดร.ธันยพร กริชติทายาวุธ Executive Director ของ UN Global Compact Network Thailand กล่าวว่า "เราคาดหวังให้วงการวิชาการและภาคธุรกิจทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ผสมผสานแนวคิดจากหลากหลายศาสตร์มาร่วมเป็นหลักสูตรเดียวที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เพื่อให้สามารถมองภาพรวมในระยะยาวได้ ธุรกิจแบบใดที่จะสามารถตอบโจทย์และอยู่รอดได้ในอนาคตนั้นเป็นคำถามสำคัญที่จะได้รับคำตอบจากหลักสูตรนี้"

จุฬาฯ จับมือกรม Climate Change และเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชน เปิดตัวหลักสูตร "TOP Green" หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้าน Sustainability