วันที่ 9 พฤศจิกายน ณ ห้างสรรพสินค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม บูรณาการความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่นและการตลาด ลงพื้นที่ให้ความรู้ผู้ประกอบการผ้าไทยภาคใต้ ส่งเสริมเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย จัดแสดงแฟชั่นโชว์ 32 ผลงานผ้าติก พร้อมจำหน่ายสินค้าและนิทรรศการถ่ายทอดองค์ความรู้ ที่ได้รับจากการพัฒนาการสร้างสรรค์ผลงานเครื่องแต่งกายและผลิตภัณฑ์
นางเกษร กำเหนิดเพ็ชร รองผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กล่าวว่า "ภายในงานเป็นการรวมผลงานทั้ง 32 ชิ้นงานจากการที่ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย บูรณาการความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่นและการตลาด ลงพื้นที่ไปให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในภาคใต้ จำนวน 5 ผู้ประกอบการ ได้แก่ บาติก เดอ นารา จังหวัดปัตตานี , ME-D นาทับ จังหวัดสงขลา , รายาบาติก จังหวัดปัตตานี , กลุ่มสีมายา จังหวัดยะลา และ เก๋ บาติก จังหวัดยะลา เพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการ 3 ด้าน การออกแบบ การสร้างสไตล์ และการสร้างแบรนด์สินค้าให้มีความแข็งแกร่ง ตอบโจทย์ตลาดแฟชั่นในปัจจุบัน ดึงดูดให้คนรุ่นใหม่หันมาใช้ผ้าไทยในสไตล์ที่หลากหลายอันจะนำไปสู่การสร้างรายได้ สร้างจิตสำนึกรักและภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น"
"ซึ่งความสำเร็จของผลงานทั้ง 32 ชิ้นงาน จะก่อให้เกิดการสร้างศักยภาพผู้ประกอบการ สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างดีไซเนอร์ สไตล์ลิส และผู้ประกอบการผ้าไทย ให้เข้มแข็งมากขึ้น ต่อยอดผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นสู่สินค้าที่มีมูลค่าในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ส่งเสริมทุนทางวัฒนธรรมไทยให้ก้าวเข้าสู่ความต้องการระดับนานาชาติต่อไป ทั้งนี้ ขอขอบคุณนายหิรัญกฤษฎิ์ ภัทรบริบูรณ์กุล ดีไซเนอร์ , นายวิชรปาณี มากดี แฟชั่นสไตล์ลิส และนายศิวัจน์ เลิศศศิศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจแฟชั่น ที่มาช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการ พัฒนาผ้าไทยให้มีความหลากหลาย รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมผ้าไทยร่วมสมัยไปสู่ระดับนานาชาติต่อไป"
นายหิรัญกฤษฎิ์ ภัทรบริบูรณ์กุล ดีไซเนอร์โครงการกล่าวเพิ่มเติมว่า "เราเข้ามาช่วยเสริมศักภาพและพัฒนาผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งไม่เพียงแต่จะได้รับทักษะในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพสูงขึ้น แต่ยังมีความพร้อมในการนำเสนอสินค้าของตนในตลาดที่กว้างขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการไทยในตลาดแฟชั่นระดับโลก ขณะที่ยังคงรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น"